คอลัมน์... คนทุกข์ลุกสร้างสุข : สมัชชาประชาชนภาคใต้ / โดย... วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
ไม่รู้ใครมองแบบนี้หรือไม่ สำหรับในทัศนะส่วนตัวผมมองประเด็นนี้อย่างพิจารณามาพักใหญ่ๆ ถ้าจะพูดให้ชัดก็ต้องยกประโยชน์ให้ “ชาวชุมชนปากบารา” อ.ละงู จ.สตูล ในความหมายที่รวมถึงผู้คนหลายหมู่บ้าน หลายสาขาอาชีพ หลายบริบท ที่ได้ร่วมกันสร้างพลังแบบใหม่ขึ้นในสังคมไทย แม้อาจอยู่ในวงเล็กๆ วงหนึ่งเมื่อเทียบกับสังคมไทยทั้งประเทศ แต่ถ้าถูกขยายผลดีๆ น่าจะเกิดผลกระทบด้านดีต่อชุมชนคนชายขอบได้มากทีเดียว
เรื่องราวอาจเริ่มต้นจากความทุกข์ใจต่อกระแสการพัฒนา “โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา” เมื่อสิบปีก่อน ที่ต้องการถมทะเลสร้างท่าเทียบเรือรองรับการเดินเรือแบบพาณิชย์ขนาดใหญ่ พื้นที่ทะเลหน้าอ่าวปากบาราเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราจะต้องถูกเพิกถอนสภาพจำนวน 4,547 ไร่ เพื่อถมทะเลให้ได้ขนาดเท่ากับ 250 สนามฟุตบอลมาตรฐานต่อ ๆ กัน สร้างเขื่อนกั้นทะเลยาวเกือบสองกิโลเมตร ปิดทางเดินกระแสน้ำปากอ่าว และสำหรับขุดร่องน้ำเดินเรือ หรือพูดให้เห็นภาพคือการขุดคลองในทะเล เพื่อให้เรือสำหรับเดินทางข้ามมหาสมุทรเข้าเทียบท่าได้
.
สรุปความง่ายๆ “อ่าวปากบารา” จะไม่เหลือสภาพปัจจุบันให้เห็นกันอีกต่อไปแล้วกัน
.
แน่นอนว่าการทักท้วงของชุมชนและคนสตูลเกิดขึ้นในหลายสภาพการณ์ ทั้งชุมนุม ทั้งยื่นหนังสือ ทั้งติดตามทวงถาม จนโดนคดีความเหมือนหลายจุดของการต่อสู้ของชุมชนเช่นกัน ขอละไว้ไม่พูดถึงในที่นี้
กลับมาพูดสำหรับประเด็นหลักที่ต้องการเสนอให้ได้ลองพิจารณา คือ กระบวนการที่เกิดขึ้นของการท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวปากบารา ที่ผมเห็นว่านี่คือ “ดุลยภาพทางอำนาจใหม่” ที่เกิดขึ้นในภาพสังคมเล็กๆ สังคมหนึ่ง โดยเดิมทีเดียวนั้นในกระแสชุมชนยังไม่เห็นว่าอ่าวปากบาราด้านในจะสามารถเปิดบริการท่องเที่ยวได้จริงจังมากนัก ส่วนใหญ่คิดว่ามันก็แค่ทำเสริมได้เล็กๆ น้อยๆ จริงจังไม่ได้ ใครจะมาเที่ยว โดยมีบทเรียนที่ก่อนหน้านี้ก็มีความพยายามของคนรุ่นใหม่ในอดีตมาก่อน
บังไกร-ไกรวุฒิ ชูสกุล เล่าว่า ก่อนที่เกาะหลีเป๊ะจะโด่งดัง ประมาณยี่สิบกว่าปีก่อนพวกตนเคยสำรวจ อยากจะเปิดการท่องเที่ยวทางทะเลบริเวณริมฝั่งและเกาะเขาใหญ่ ตอนนั้นยังไม่ได้มีความคิดเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน คิดแต่เรื่องหารายได้ หรือถ้ามีทุนก็จะลงทุนทำการท่องเที่ยวแบบกระแสหลักเหมือนกัน ต่อมาเมื่อเกาะหลีเป๊ะเป็นที่นิยมมากกว่า เลยเลิกแนวคิดเรื่องเปิดการท่องเที่ยวชายฝั่งบริเวณเกาะเขาใหญ่ หันไปทำงานเกี่ยวข้องกับการขนส่งคนไปหลีเป๊ะดีกว่า
ในช่วงก่อนหน้านี้ก็เริ่มมีความพยายามเกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนอยู่บ้างแล้ว มีการศึกษาแนวทางจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีการลงหุ้นสร้างรีสอร์ทชุมชนที่บ่อเจ็ดลูก แต่กระแสสังคมยังไม่ตอบรับเท่าที่ควร และมิติหลักในช่วงนั้นยังเน้นแค่การท่องเที่ยวโดยชุมชน ทำยังไงให้ชุมชนได้ประโยชน์ แต่ยังไม่มีช่องทางว่าจะใช้พื้นที่เกาะเขาใหญ่ ซึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างไร หรือจะทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ยอมรับดำเนินการตามแนวคิดท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างไร
อีกด้านหนึ่งตรงอ่าวนุ่น ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา คนในชุมชนก็มีอาชีพเสริมใช้เรือประมงรับจ้างรับส่งนักท่องเที่ยวไปเกาะลิดี และมีบริการรับนักท่องเที่ยวแบบทัวร์เบ็ด เช่นเดียวกับในชุมชนบ้านปากบาราก็มีกลุ่มเรือทัวร์เบ็ดเริ่มเติบโตสร้างรายได้ดีเช่นกัน
.
แต่ที่เหมือนกันคือยังไม่ใช่ “การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน”
. ฃ
การท่องเที่ยวโดยชุมชนในที่นี้ผมหมายถึง การที่ชุมชนสามารถร่วมบริหาร ควบคุม มีข้อตกลงร่วมที่มีสภาพบังคับทางใดทางหนึ่ง ทั้งในการให้บริการนักท่องเที่ยว และการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม ไม่ใช่ใช้แล้วเละตุ้มเป๊ะ ดังนั้นการให้บริการท่องเที่ยวในยุคก่อนเกิดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวปากบารา จึงมีฐานะแค่เป็นผู้ขอรับอนุญาตจาก “รัฐ” และต้องทำตามกฎข้อบังคับที่รัฐกำหนดไว้เท่านั้น ไม่ใช่ระบบที่ชุมชนร่วมกำหนดข้อบังคับ, บริหารข้อบังคับได้เอง
.
“การท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวปากบารา”
.
เกิดขึ้นในช่วงปลายของการต่อสู้เกี่ยวกับท่าเทียบเรือน้ำลึก ด้วยความบังเอิญอย่างลงตัวที่กระแสการอนุรักษ์ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ไม่มีท่าเทียบเรือน้ำลึกแล้วจะพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนในทางเศรษฐกิจอย่างไร ช่วงปี 2557-2559 กลุ่มรีฟการ์เดี้ยนในชุมชน และอาสาสมัครกลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด ได้ชักชวนเพื่อนๆ มาร่วมการสำรวจนิเวศทะเลอ่าวปากบาราและบริเวณเกาะเขาใหญ่ และปล่อยคลิปลงทางโซเชียลมีเดีย ปรากฏว่าได้รับความสนใจสูงมากเกินคาด คนเข้าชมคลิปและติดต่อขอมาเที่ยวต่อเนื่อง
ด้วยผลดีที่ผู้คนในชุมชนแถบนี้คุ้นชินกับการท่องเที่ยวกระแสหลักเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากการที่มีท่าเทียบเรือท่องเที่ยวข้ามฟากไปแหล่งท่องเที่ยวกระแสหลักอย่างเกาะหลีเป๊ะ เกาะตะรุเตา คนในชุมชนจำนวนมากไปเป็นแรงงานบ้าง ลูกจ้างบ้าง เป็นผู้ประกอบการรายย่อยบ้าง เป็นไกด์บ้าง หรือแม้กระทั่งหลายรายก็เป็นเจ้าของกิจการก็มี ต่างเห็นว่าหากไม่มีการจัดการอย่างเหมาะสม แล้วเปิดรับคนเข้ามาเที่ยวแบบไม่มีข้อตกลงกติกา สุดท้ายนอกจากจะตกเป็นของทุนธุรกิจเข้ามาจัดการแล้ว ผลกระทบจะตกอยู่กับชุมชนเอง
การประชุมหารือกันจึงเริ่มขึ้นหลังจากนั้น โดยมีกำนันตำบลปากน้ำท้องที่เป็นโต้โผเจ้าภาพ ชักชวนกลุ่มสนใจทำทัวร์ชุมชน, กลุ่มรับส่งลูกค้าไปเกาะลิดี, กลุ่มไกด์ในชุมชนที่ทำงานหลีเป๊ะ, คนทำงานอนุรักษ์ และอื่นๆ จนเกิดข้อตกลงที่ต่อมาสามารถพัฒนาเกิดเป็น “ดุลยภาพทางอำนาจ” ใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง
ในข้อตกลงร่วมให้มีแผนแม่บทฉบับหนึ่ง ว่าด้วย “การบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวปากบารา”กำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยการ, คณะกรรมการบริหารจัดการการท่องเที่ยว, คณะกรรมการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม และกำหนดพื้นที่ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเป็นเขตบริการท่องเที่ยวโดยชุมชน
แต่เนื่องจากลักษณะนี้ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจชุมชนกระทำได้ จึงนำเสนอให้ “นายอำเภอละงู” เป็นผู้ออกคำสั่งอำเภอละงูที่ 43/2560 เรื่อง “แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวปากบารา ให้มีหน้าที่ออกระเบียบข้อบังคับของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอ่าวปากบารา และบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามความเหมาะสม” โดยใช้อำนาจตามกฎหมายระเบียบการบริหารราชการ และการปกครองท้องที่ เพื่อความสงบเรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม อำนาจทางปกครองลักษณะนี้ก็ยังไม่สามารถก้าวล่วงอำนาจการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติได้ คณะกรรมการฯ ดังกล่าว โดยมีกำนันตำบลปากน้ำเป็นประธานคณะกรรมการบริหารจัดการฯ ได้นำเสนอคำสั่งและแผนแม่บทต่อที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เห็นชอบโดยเอกฉันท์ ต่อมาอุทยานฯ ได้เสนอต่อกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตามขั้นตอนของหน่วยงาน
ประเด็นคือ เมื่อคำสั่ง แผนแม่บท และระเบียบของคณะกรรมการต่างๆ ถูกประกาศใช้นั้น ในทางปฏิบัติคือ การที่รัฐให้การยอมรับในอำนาจทางสังคมที่ถูกระบุไว้ในแผนแม่บทไปพร้อมกันด้วย
ข้อบังคับสำคัญๆ เช่น กำหนดให้ “วิสาหกิจชุมชน” ในเขตท้องที่ อ.ละงู เท่านั้นที่สามารถเป็นผู้ให้บริการนำเที่ยวในเขตนี้ได้ แรกเริ่มนั้นไม่มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสักกลุ่มเดียว แต่หลังการประกาศใช้มีกลุ่มในชุมชนจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว 4 กลุ่ม ทดลองให้บริการ ปรากฏว่าได้ผลประกอบการดีมาก ต่อมาปีที่สองมีกลุ่มอื่นๆ สนใจไปจดทะเบียนเพิ่ม จนปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวรวม 14 กลุ่ม ปี พ.ศ.2561 มีนักท่องเที่ยวมาบริการรวม 10,107 คน
มีข้อบังคับให้ต้องมีไกด์นำเที่ยว โดยต้องเป็นคนในภูมิลำเนาจังหวัดสตูลเท่านั้น และอนุญาติให้ใช้เรือหางยาวเท่านั้น การนำนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่มีข้อบังคับให้วิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นผู้ประกอบการนำเที่ยว จะต้องจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว อย่างน้อยต้องมีการประกันชีวิตสำหรับนักท่องเที่ยวที่มารับบริการ ต้องมีเสื้อชูชีพสำหรับนักท่องเที่ยวทุกคน ต้องมีไกด์ท้องถิ่นที่ผ่านการฝึกอบรมที่กรรมการรับรองและมีบัตรอนุญาตเป็นไกด์นำเที่ยว คอยดูแลความปลอดภัยและให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ และต้องมีทีมสนับสนุนรวมอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป
รวมถึงข้อบังคับเกี่ยวกับการเข้ามาใช้พื้นที่ที่ใช้บังคับกับนักท่องเที่ยวที่มาด้วย เช่น เช่นเรื่องห้ามนำขยะ ห้ามของมึนเมาเข้าพื้นที่ และกำหนดปริมาณนักท่องเที่ยวต่อวันด้วย เป็นต้น
ถือเป็นมาตรการตัดวงจรระบบทุนขนาดใหญ่ เปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นได้รับประโยชน์ รับผิดชอบต่อธรรมชาติและนักท่องเที่ยวไปพร้อมกัน
กติกาที่แม้ไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย แต่ทุกวิสาหกิจชุมชนต้องร่วมปฏิบัติตามอย่างเต็มใจ คือ การสมทบรายได้ส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนกลางของคณะกรรมการชุมชนฯ เพื่อใช้ในด้านธุรการ ข้อมูล ค่าจ้างพนักงานของคณะกรรมการฯ ที่คอยตรวจตราในพื้นที่ท่องเที่ยว เฉกเช่นที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแก่อุทยานแห่งชาติ
และประการสำคัญ แผนแม่บทหลักกำหนดให้มีคณะกรรมการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม 5 ฝ่าย ที่จะมีบทบาทอิสระในการใช้เสียงข้างมากเสนอความเห็นให้พักกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ทันที หากมีความเสียหายทางนิเวศเกิดขึ้น
แม้ว่ามีเสียงบ่นจากบางท่านเข้าหูมาว่า ราคานำเที่ยวแพงเกิน ถ้าไม่แพงเกินจะได้มาปีละหลายๆ ครั้ง ซึ่งตัวผมเองกลับมองว่า หลายครั้งที่เรายอมจ่ายสินค้าราคาแพงในห้างเจ้าของเดียว โดยไม่ต่อรองสักคำ จึงควรแล้วที่จะจ่ายให้ชุมชนในแบบที่เขาอยู่ได้อย่างมีเกียรติ เพราะชุมชนไม่ใช่ผู้รับใช้เรา ที่สำคัญคุณจะมาเที่ยว พื้นที่พิเศษที่ได้รับการรับรองจาก “ยูเนสโก้” ทำไมทุกอาทิตย์ ในเมื่อมันทรงคุณค่าขนาดนั้น มาปีละครั้งสองครั้งก็เหลือแหล่
.
โชคดีที่นี่เขาประกาศว่า “ไม่อาจขายเพชร ในราคาเศษเหล็ก”
.
เอาเถอะ! หาไม่ได้ง่ายนักในประเทศนี้ที่อำนาจและบทบาทของส่วนต่างๆ ที่มักขัดแย้งกันจนไม่สามารถบูรณาการให้เกิดประโยชน์ยั่งยืนได้ สำหรับที่นี่ผมมองว่า “อำนาจ” ถูกบริหารจัดวางได้ “สมดุล” ไม่แย้งกัน แต่ละล้อหนุนซึ่งกันและกัน
.
จนอาจเรียกได้ว่า “ดุลยภาพทางอำนาจรัฐและประชาชน” เกิดขึ้นได้จริงในบริบท “คนทุกข์ สร้างสุข” ได้ที่ปักษ์ใต้นี้...มาเถอะปีละครั้งก็พอครับ!