xs
xsm
sm
md
lg

‘สตูล’ อีกเมืองเล็กๆ ใต้สุดอันดามัน แค่ 2 เขตเลือกตั้ง ส.ส.กลับต้องทำศึกกันอย่างยิ่งใหญ่ของ 3 พรรค “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ประชาชาติ” แถมการชนะ-แพ้อยู่ที่ “เงาทะมึน” ของคนตัวโตทั้งระดับชาติและท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
รายงาน… เกาะติดสนามเลือกตั้ง’62
โดย… เมือง  ไม้ขม
 

 
จากการติดตามสนามเลือกตั้ง ส.ส.ในภาคใต้มาตั้งแต่ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.เลือกตั้งและมีการประกาศวันเลือกตั้งของ กกต.ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ มีปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ประเด็นแรก พรรคการเมืองทุกพรรคไม่เว้นแม้แต่ พรรคพลังประชารัฐ ที่มี อุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค และเสนอชื่อ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดดนายกรัฐมนตรี ต่างชูประเด็นในการหาเสียงแบบหากินกับ “ความยากเข็น” ของประชาชน ซึ่งเวลานี้ถูกระบุว่า “จนทั้งแผ่นดิน”
 
นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า หลังจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ายึดอำนาจการเมืองจาก รัฐบายิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วได้สถาปนา รัฐบาล คสช. ขึ้นมาบริหารบ้านเมืองแทน นับจากนั้นนั่นห้วงเวลาแห่ง “ความยากจนของคนส่วนใหญ่” และ “คนส่วนใหญ่ทุกข์ทนอย่างแสนเสดสา” ในทางกลับกันมีเพียง “คนส่วนน้อยที่ร่ำรวยล้านฟ้า” เพราะถ้า 5 ปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารบ้านเมืองของ รัฐบาลทอปบู๊ต ผู้คนทั่วประเทศต่างมีความสุข ไฉนการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ทุกพรรคการเมืองจึงต้องชูธงว่า ต่างต้องจะเข้าไป “แก้ปัญหาความยากจน” กันเล่า
 
ส่วนประเด็ดที่ 2 การชูธงเรื่อง “สวัสดิการ” ที่ทุกพรรคต่างมีนโยบายที่เหมือนกัน เพียงแต่วิธีการเขียนนโยบายและตัวเลขต่างกัน เช่น บางพรรค “เกิดปุ๊บรับแสน” บางพรรค “เกี่ยวปั๊บรับหมื่น” ในขณะที่บางพรรครอให้พรรคอื่นเสนอนโยบายก่อน ถ้านโยบายไหนมีประชาชนตอบรับก็จะหยิบไป “ดัดแปลงนิดหน่อย” แล้วประกาศเป็นนโยบายพรรคของตนเอง โดยที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงในการทำ “ยุทธศาสตร์” ให้ต้องเสียเงินทอง
 
ดังนั้น สนามการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคการเมืองจึงหาเสียงกันไม่ยากเย็นอะไรเลย เพราะปัญหามากมายที่ รัฐบาลลุงตู่ทำเอาไว้ในตลอด 5 ปี ล้วนแล้วแต่กลายเป็นประเด็นให้พรรคการเมืองนำไปเขียนเป็นนโยนบาย และให้ผู้สมัคร ส.ส.เรียกคะแนนเสียงกันได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่องราวอันเป็น ความทุกข์ร้อนของคนบนแผ่นดิน นี่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตระเวนไปฟังปราศรัยของทุกพรรคและทุกเวที จากที่ชาวบ้านเรียกขานว่า “ลุงตู่” อาจจะกลายเป็น “จิวยี่” ในเรื่องสามก๊กก็เป็นได้
 
กลับมา เกาะติดสนามเลือกตั้ง’62 วันนี้ได้ย่องไปดูสนามเล็กๆ ที่ถ้านับจากปลายด้ามขวานขึ้นมาต้องจัดว่า เป็นต้นทางของฝั่งอันดามัน นั่นก็คือ “สนามเลือกตั้ง จ.สตูล” หรือเมืองสะโตย อันเป็นอีกเมืองชายแดนหนึ่งที่สำคัญของแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดเป็นเมืองค่อนข้างสงบ หรืออย่างน้อย 15 ปีของไฟใต้ระลอกใหม่จังหวัดนี้ยังไม่เคยมีเสียงระเบิดเกิดขึ้นเลย ที่มีเสียงโจษขานบ้างก็เพียงมีโจรใต้ไปหลบซ่อนอยู่ หรือถูกใช้เป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธจาก จ.อาเจะ ของประเทศอินโดนีเซียมาให้กองกำลังอาร์เคเคของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ใช้ในการก่อการร้ายเท่านั้น
 
สำหรับ จ.สตูล ความที่เป็นเมืองเล็กๆ จึงมีเพียง 2 เขตเลือกตั้งเท่านั้นเอง ในส่วนของ เขตเลือกตั้งที่ 1 จ.สตูล ถือเป็นเขตเลือกตั้งที่ผู้คนเหนี่ยวแน่นอยู่กับ พรรคประชาธิปัตย์ มานาน แถมประเมินกันว่าชาวสตูลในเขตนี้ยังบูชา ชวน หลีกภัย ประธานสาขาพรรคเหมือน “กวนอู” เทพเจ้าแห่งความซื้อสัตย์ แต่เขตนี้ก็เคยสร้างความผิดหวังให้กับพรรคแม่ธรณีบีบมวยผมมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ ธานินทร์ ใจสมุทร อดีต ส.ส.ของพรรคเปลี่ยนใจไปสวมเสื้อพรรคอื่นลงสมัคร แถมยังได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.เสียด้วย ดังนั้นความเป็น “ตัวบุคคล” ก็ยังมีความสำคัญสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ในเขต 1 จ.สตูลหนนี้
 
ล่าสุดพื้นที่เขต 1 จ.สตูล พรรคประชาธิปัตย์ กลับตัดสินใจส่งผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่อย่าง อิบรอเหม อาดำ อดีตประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูลลงสู้ศึก โดยมีคู่แข่งสำคัญจาก พรรคภูมิใจไทย ที่ส่งผู้สมัครบิ๊กเนมคือ พิบูลย์ รัชกิจประการ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองสตูล นักธุรกิจใหญ่ในวงการค้าน้ำมันแห่ง “ภาคใต้เชื้อเพลิง” หรือเจ้าของ “ปั๊มพีที” ผู้เป็นลูกชายของ “โกเล็ก” คนดังในอดีตของ จ.สตูล รวมถึงน่านน้ำอันดามัน ผู้เป็นถึงเพื่อนรักของ วัฒนา อัศวเหม เจ้าพ่อปากน้ำ เป็นน้องชายของ ฉัตรแก้ว คชเสนีย์ คนดังของจังหวัดสงขลา และเป็นพี่สามีของ นาที รัชกิจประการ หรือหากจะเรียกว่า “เจ้าแม่แห่งพรรคภูมิใจไทย” ที่การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ถูกยกให้เป็นถึง “แม่ทัพภาคใต้” นั่นเอง
 
ด้าน พรรคเพื่อไทย ก็หมายมั่นปั้นมือในเขต 1 จ.สตูลนี้เช่นกัน โดยได้ประกาศความพร้อมก่อนการเลือกตั้งเป็นแรมปีที่จะปักธงยึดที่นั่ง ส.ส.ของ จ.สตูล ทั้ง 2 เขตเลือกตั้งให้ได้ ด้วยมั่นใจว่ามีความพร้อมในทุกเรื่อง ในขณะที่ฟากฝ่าย พรรคประชาธิปัตย์ นั้นผู้สมัครอย่าง อิบรอเหม อาดำ แม้จะมีภาพลักษณ์เป็นถึงผู้นำศาสนาอิสลามในพื้นที่ แต่กลับไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน ยังดีที่ครั้งนี้ได้ ธานินทร์ ใจสมุทร อดีต ส.ส.หลายสมัยของ 2 พรรคการเมือง และเป็นอดีตนายก อบจ.สตูลด้วยเป็นพี่เลี้ยง โดยค่าย ปชป.เชื่อมั่นในคะแนนเสียงของ 8 ชุมชน และมั่นใจว่าคนใน เขต 1 จ.สตูล จะยังมั่นคงกับความเป็น ชวน หลีกภัย ที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรคในภาคใต้
 
แต่อย่างไรก็ตาม เวลานี้มีซุ่มเสียงของชาวสตูลในเลือกตั้งเขตที่ 1 กังวานว่า อย่าเพิ่งมั่นใจว่าในพื้นที่จะต่อสู้กันเพียง 2-3 พรรคการเมืองใหญ่เท่านั้น เพราะยังมีคนอีกไม่น้อยเลยที่ให้การสนับสนุน รอสี ใบกาเด็ม ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จ.สตูลของ พรรคประชาชาติ เขาเองก็เป็นถึงอดีตรองนายก อบจ.สตูล แถมผลงานที่ผ่านมาก็เคยเป็นที่ถูกใจคนในพื้นที่ และยังเป็นเจ้าของโรงเรียกเอกชนสอนศาสนาด้วย ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหากระจายอยู่ทั่วพื้นที่
 
ไม่เพียงเท่านั้นยังชื่อชั้นของหัวหน้าพรรคอย่าง อ.วันนอร์-วันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็ถือว่าอยู่แถวหน้าสุดของนักการเมืองมุสลิมหนุนช่วยด้วย อีกทั้งยังมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค เป็นถึงอดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ที่ยังเป็นขวัญใจของคนชายแดนใต้ทั้งฟากฝ่ายไทยพุทธและ มุสลิม ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งทางของการหาเสียปรากฏว่าเสียงสนับสนุน รอสี ใบกาเด็ม ก็ตีตื้นขึ้นมาเป็นอันดับ 3 แถมไม่ได้ทิ้งห่างอันดับ 1 และอันดับ 2 มากเท่าไหร่ ซึ่งสุดท้ายแล้วเขาอาจจะเป็นม้ามืดแซงเข้าวินในเขต 1 จ.สตูลก็เป็นได้
 
สำหรับ เขตเลือกตั้งที่ 2 จ.สตูล ถ้าจะกว้าวว่าเป็นพื้นที่ “ช้างชนช้าง” ก็น่าจะได้ เพราะเป็นการต่อสู้ระหว่าง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ส่งผู้สมัครคือ ฮอซารี ม่าเหล็ม อดีต ส.ส.หลายสมัยของพรรค ในขณะที่ผู้ท้าชิงคือ พรรคภูมิใจไทย ที่ครั้งนี้ส่ง วรศิษฏ์ เลียงประสิทธิ์ ลูกชายของ โกเกียรติ-สมเกียรติ เลียงประสิทธิ์ นักธุรกิจรับเหมารายใหญ่และเจ้าของค่ายมวยชื่อดัง “เกียรติเจริญชัย” แห่ง อ.ละงู จ.สตูล อีกทั้งยังเป็นหลานชายของ โกเตี่ยน-สัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ ที่นั่งเป็นนายก อบจ.สตูลอยู่ในเวลานี้ ซึ่งในอดีตคือผู้สนับสนุนรายใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย
 
ศึกครั้งนี้จึงใหญ่หลวงนักสำหรับ พรรคประชาธิปัตย์ ที่จะต้องใช้ “กลยุทธ์” ในการรักษาป้อมค่ายมิให้ถูกตีแตกจาก พรรคภูมิใจไทย เพราะเขต 2 จ.สตูลนี้ในอดีต สะหม้อ-จิรายุทธ เนาวเกตุ จากพรรคความหวังใหม่ เคยฝ่าค่ายคูประตูรบและสามารถตีป้อมค่ายของ ปชป.แตกมาแล้ว และครั้งนี้แม้ชื่อชั้นของ วรศิษฏ์ เลียงประสิทธิ์ ยังอาจจะเป็นรอง ฮอซารี ม่าเหล็ม แต่ชื่อชั้นของ “โกเกียรติ” และ “โกเตี่ยน” ไม่เป็นรองใคร ถ้าบวกกับ “ทัพหนุน” ที่ตุนเสบียงไว้อย่างเหลือเฟือจาก นาที รัชกิจประการ แม่ทัพภาคใต้ของ พรรคภูมิใจไทย ที่ตั้งนับว่าพร้อมสรรพ ซึ่งแค่ยกแรกๆ ก็สามารถโยกคลอนทั้งหัวคะแนนและประธานสาขาพรรค ปชป.ให้ต้องสละ “เรือสีฟ้า” หันมาซบบารมีของ เสี่ยเน-เนวิน ชิดชอบ มาแล้วได้อย่างไม่เคอะเขิน
 
ว่ากันที่จริง พรรคประชาธิปัตย์ จะ “ชนะ” หรือ “แพ้” ในทั้ง 2 เขตเลือกตั้งของ จ.สตูล “เกจิการเมืองสะโตย” ต่างฟันธงกันมาแล้วว่า อยู่ที่ ชวน หลักภัย ผู้เป็นเหมือน “อดีตเจ้าอาวาส” จะยังมี “ต้นทุน” และมี “กำลัง” ในการที่จะปราศรัยแบบตระเวนบกและตระเวนน้ำให้กับทั้ง 2 เขตของ จ.สตูลได้แค่ไหน เพราะวันนี้ความรู้สึกของคนในพื้นที่ “ไม่ได้เหนี่ยวแน่น” กับ ปชป.อย่างเก่าก่อนแล้ว โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เขาโหยหา “นโยบายพรรค” ที่ต้องตาต้องใจ มากกว่าที่จะถามหาคนชื่อ ชวน หลีกภัย และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างแต่ก่อน และที่สำคัญตลอดกว่า 5 ปีที่ “ผด็จการครองเมือง” มีเสียงคนสตูลถามอย่างหนาหูว่า อดีต ส.ส.ของพวกเขาหายตัวไปอยู่ที่ไหน
 
24 มีนาคม 2562 จึงเป็นวันที่คนสตูลทั้ง 2 เขตเลือกตั้งจะได้ใช้ปากกาสร้างปกาศิตว่า ระหว่าง “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ประชาชาติ” ใครจะได้เข้าวินเป็น ส.ส.ไปทำหน้าที่แทนพวกเขา
 


กำลังโหลดความคิดเห็น