xs
xsm
sm
md
lg

งบกว่า 2 แสนล้านกับ 15 ปีไฟใต้ “เราเดินมาถูกทางแล้ว”! เพราะทุกเส้นทางยังเต็มไปด้วย “ระเบิด” และ “ความตาย”!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้  /  โดย…ไชยยงค์ มณีพิลึก
 

 
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายหลัง “ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ” ป่วนหนักตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2561 เป็นต้นมา ด้วยการวางระเบิด “นางเงือก” แลนด์มาร์กของหาดสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา ก่อนที่จะจบรายการใหญ่ด้วยการ “ฆ่าพระ” มรณภาพไป 2 รูป และบาดเจ็บอีก 2 รูป ที่วัดรัตนานุภาพ บ้านโคกโก ม.2 ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
 
จากเหตุการณ์ทั้งหมดได้สร้างความตื่นตัวให้แก่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในระดับที่ทั้ง “แม่ทัพ-นายกอง” นั่งกันไม่ติด ต้องสั่งการตอบโต้ทั้งในเชิงรุกต่อบีอาร์เอ็นฯ ที่ “ผู้ใหญ่บนหอคอยงาช้าง” บอกว่าไม่เคยมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนนี้ และสั่งป้องกันเหตุร้ายต่างๆ เพื่อลดความสูญเสียของเป้าหมายอ่อนแอ อันเป็นไปแบบ “พัลวันพัลเก” ซึ่งเป็นผลดีต่อสถานการณ์และความรู้สึกของคนในพื้นที่
 
การส่งกำลังขึ้นเขาเพื่อปฏิบัติการต่อกองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็นฯ ที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส จนเกิดการปะทะกันและสามารถยึดร่างไร้วิญญาณของ “อาร์เคเค” มาได้ถึง “2 ศพ” อีกทั้งยังคาดว่าน่าจะยังมีพวกบาดเจ็บก่อนหลบหนีไปได้อีกจำนวนหนึ่ง เรื่องนี้นอกจากจะทำให้ได้รับการ “ชื่นชม” จาก “ไทยพุทธ” แล้ว ยังได้ทำให้ผู้ที่ปฏิเสธว่าไม่เคยมีบีอาร์เอ็นฯ ทั้งที่อยู่ในพื้นที่และส่วนกลางคงตาสว่างขึ้น
 
และนอกจากการได้ศพของอาร์เคเคแล้ว การ “เปิดพื้นที่เชิงรุก” ยังทำให้กำลังทหารในหลายพื้นที่สามารถจับกุมทั้ง “แนวร่วม” และ “อาร์เคเค” ที่มีหมายจับได้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ณ วันนี้กำลังของบีอาร์เอ็นฯ ที่ก่อเหตุไม่ได้หลบหนีไปอยู่ใน “ประเทศมาเลเซีย” ตามที่เจ้าหน้าที่มักจะกล่าวอ้างแบบ “ปัดสวะให้พ้นตัว” เพราะเอาเข้าจริงๆ “โจรใต้” ที่ปฏิบัติการก่อการร้าย พวกเขาต่างหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ โดยมี “มวลชน” ให้การช่วยเหลือ ทั้งให้ที่พักพิง ที่หลบซ่อน และนำหลบหนี
 
หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องชื่นชม “กำลังในพื้นที่” รวมทั้ง “มวลชนในพื้นที่” ในการให้ “ข่าวสาร” ที่เป็นประโยชน์ จนเจ้าหน้าที่สามารถ “เข้าถึง” พื้นที่หลบซ่อนของแนวร่วม และอาร์เคเคได้ ทั้งในชุมชนและในป่าเขา ถ้าผู้รับผิดชอบงานความมั่นคงสามารถที่จะผลักดันให้กำลังพลในพื้นที่มีความ “เข้มข้น” และ “เข้มแข็ง” มีความเข้าใจใน “สงครามก่อการร้าย” แล้วทำให้เชื่อว่าบีอาร์เอ็นฯ มีอยู่จริง และบีอาร์เอ็นฯ มีแผนในการปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของ “งานการเมือง” และ “งานการทหาร” ตามหลักการทาง “ยุทธศาสตร์” เพื่อนำไปสู่ “เอกราช” แต่นั่นก็ทำให้เชื่อได้ว่าในปี 2562 นี้จะมีการ “ปะทะ” และ “การก่อเหตุร้าย” กันอยู่ตลอดทั้งปี
 
ดังนั้น พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ วันนี้จึงอยู่ในสภาพ “เงียบ” แต่ “ไม่สงบ” การประกาศว่า “เราเดินมาถูกทางแล้ว” นั่นเพราะทุกเส้นทางยังมี “ระเบิด” รออยู่อีกมากมาย!!
 
ดังนั้น หลังความสูญเสียของบีอาร์เอ็นฯ สิ่งที่ติดตามมาคือ การ “แก้แค้น” เพื่อ “เอาคืน” กับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งที่หน่วยงานความมั่นคงจะต้องป้องกันให้ได้คือ “เป้าหมายอ่อนแอ” ที่เป็นประชาชน หรือผู้คนในหน่วยงานพลเรือน รวมถึงผู้นำศาสนา 
 
รวมทั้งการก่อเหตุนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ประกอบด้วย จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย เพื่อขยายพื้นที่ก่อการร้ายให้เจ้าหน้าที่เกิดความสับสนวุ่นวาย และยังเป็นการทำลายความเชื่อมั่นฝ่ายรัฐ รวมทั้งการทำลายเศรษฐกิจด้วย เพื่อชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาและการป้องกันเหตุ
 
ในการปฏิบัติการ “เชิงรุก” ต่อเป้าหมายในพื้นที่ รัฐจะต้องไม่ “บุ่มบ่าม” จนนำไปสู่ “ความล้มเหลว” เพราะมีปรากฏการณ์ตัวอย่างให้เห็นแล้วคือ “ยุทธการเตะหมอน” ที่ปอเนาะมัตรอสาตุลฟาละห์ อ.มายอ จ.ปัตตานี ซึ่งขึ้นต้นเป็น “มะลิซ้อน” แต่พอลงท้ายเป็น “บ้องกัญชา” จากกรณีการฝึกอาวุธของเยาวชนกัมพูชาที่เป็นข่าวโด่งดัง ท้ายสุดเอาผิดได้แค่ข้อหา “หลบหนีเข้าเมือง” ส่วนเจ้าของปอเนาะไม่มีความผิด แม้แต่จะเอาโทษในการให้ที่ “พักพิง” ผู้หลบหนีเข้าเมืองก็ยังไม่ได้
 
โชคดีที่ไม่ต้องจ่าย “ค่าเยียวยาจิตใจ” และ “ค่าตกใจ” ที่เจ้าหน้าที่บุกเข้าจับกุมในยามวิกาล แต่ภาพที่ “ผู้นำศาสนาอิสลาม” นำขบวนไปเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าของปอเนาะ นั่นก็เพียงพอในการที่จะทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนถูก “ตบหน้า” จากยุทธการเตะหมอนที่เกิดขึ้นได้แล้วนั่นเอง
 
เรื่องนี้ก็คงต้องถามต่อไปด้วยว่า คดีการเอาผิดกับ “โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา” แห่งหนึ่งที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นข่าวโด่งดังในวันที่บุกเข้าไปจับกุมทั้งข้อหา “โกงเงิน” และ “บ่มเพาะ” เยาวชนเข้าสู่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ถึงวันนี้คดีไปถึงไหนแล้ว พนักงานสอบสวนมี “พยาน” และ “หลักฐาน” เพียงพอในการส่งฟ้องเพื่อเอาผิดตามกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

ที่เขียนมานี้ไม่ได้ต้องการตำหนิใคร เพียงแต่ต้องการที่จะบอกว่า เรื่องเหล่านี้คือ “ประเด็นใหญ่” ที่บีอาร์เอ็นฯ เอาไปชี้ให้มวลชน และคนในพื้นที่เห็นว่า เป็นการ “กลั่นแกล้ง” เป็นการ “ใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ” ต่อผู้ที่ไม่มีความผิด ซึ่งโดยข้อเท็จจริงอาจจะไม่ใช่ แต่โดยข้อกฎหมายเมื่อเอาผิดไม่ได้ ก็แสดงว่าเขาบริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้หน่วยงานความมั่นคงได้ “ประโคมโหมโห่” ที่จะใช้อำนาจ “นิติรัฐ” อย่างเต็มที่กับปัญหาที่เกิดขึ้น นั่นยิ่งต้องระมัดระวังที่จะไม่ปฏิบัติการต่อเป้าหมายที่ไม่มีความมั่นใจที่จะเอาผิดได้
 
การจะใช้ “กฎหมาย” หรือ ”นิติรัฐ” ก็ใช้ให้จริงเถอะ และต้องไม่มีการยกเว้น ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูก แต่ที่เห็นและเป็นอยู่คือ “ผู้ให้ที่พักพิงโจร” ไม่เคยถูกกล่าวโทษตามกฎหมาย หรือการใช้กฎหมายแบบ “เลือกใช้” เฉพาะกับ “คนที่ไม่ชอบหน้า” หรือเพื่อใช้เป็น “กฎหมายปิดปาก” เท่านั้น
 
เมื่อจับความรู้สึกของคนในพื้นที่จะพบว่า ณ วันนี้คนในพื้นที่ยังมี “ปฏิกิริยา” ใน “ด้านลบ” กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประเด็นแรกคือ เรื่องการ “ยิงโต๊ะอิหม่าม” เสียชีวิตที่บ้านท่าราบ ต.กะมิยอ อ.เมือง จ.ปัตตานี และที่  อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่อาร์เคเคจะบุกวัดรัตนานุภาพ บ้านโคกโก ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เพื่อฆ่าและทำร้าย “พระคุณเจ้า” เหมือนเป็นการตอบโต้
 
ถ้าฟังเสียงของคนในพื้นที่และติดตามข่าวสารในพื้นที่ก็จะพบว่า คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นฝีมือของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ในขณะที่หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็น “สีเขียว” และ “สีกากี” ต่างอยู่ในอาการ “อ้ำอึ้ง” จนถึงบัดนี้ผ่านไปนานนับเดือนแล้วก็ยังไม่สามารถให้ “ความกระจ่าง” แก่ประชาชนได้ว่า คนที่ตายนั้นตายเพราะเหตุใด และใครคือผู้ร้าย
 
นี่จึงคือ “ไฟสุมขอน” ที่ตราบใดเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถทำความกระจ่างให้เกิดขึ้น สายตาของคนในพื้นที่จึงไม่คลายความหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่รัฐแน่นอน และเมื่อทุกครั้งที่เกิดคดีการทำร้ายหรือฆ่า “มุสลิม” ในพื้นที่ การที่เจ้าหน้าที่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ดังนี้แล้วเราจะได้เห็น “ไฟในใจ” ของคนเหล่านี้ “ดับ” ได้อย่างไร
 
ประเด็นต่อมาถ้าต้องการรู้ถึงความรู้สึกของ “เยาวชน” ในพื้นที่ว่า มีความรู้สึกและคิดเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ให้ดูว่าหลังจากที่เจ้าหน้าที่ “วิสามัญอาร์เคเค” ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนของแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเขาจะจัดการ “งานศพ” กันอย่างไร แล้วทำให้ “ผู้ตาย” กลายเป็น “โจร” หรือเป็น “พระเอก” และอารมณ์ร่วมของ “คนที่แห่ศพไปฝัง” แสดงออกมาให้เห็นเช่นไร
 
ถ้าเรื่องอย่างนี้เรายังเห็นเป็นเรื่อง “ปลีกย่อย” เป็นเรื่องที่ไม่ควรแก่การ “ใส่ใจ” โดยไม่มีการนำมา “วิเคราะห์” และนำไปสู่การหาหนทางแก้ไข นั่นก็ไม่ต้องมาบอกว่าวันนี้สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น เพราะสถานการณ์ “ไฟใต้” จะโน้มเอียงไปในทาง “มอดดับ” หรือ “โชนแสง” ไม่ได้อยู่ที่จำนวนการก่อเหตุลดลง แต่อยู่ที่ “ประชาชนในพื้นที่” โดยเฉพาะ “เยาวชน” ที่เป็นกำลังหลักของบีอาร์เอ็นฯ เขาคิดอย่างไร และเข้าใจอย่างไรต่างหาก
 
และข่าว “ระเบิดแสวงเครื่อง” ที่เกิดขึ้นตรงโน้น ตรงนั้น ตรงนี้ ในแต่ละวัน นั่นคือ “สัญญาณ” ที่บ่งบอกได้ว่า “พื้นที่ปลอดภัย” ที่แท้จริงยังไม่มีให้เห็น นักก่อการร้ายรุ่นใหม่ๆ ยังถูกบ่มเพาะนำเข้าสู่ขบวนการ และยังพร้อมที่จะก่อเหตุร้าย เพื่อแสดงให้ผู้นำบีอาร์เอ็นฯ เห็น ดังนั้น คนที่อยู่ในพื้นที่จึงยังต้องระมัดระวัง ต้องเรียนรู้การ “เอาตัวรอด” ด้วยการ “ช่วยเหลือตนเอง” ให้มากที่สุด
 
ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมานั่นคือ ไฟใต้ในสาย “สุนัขเฝ้าบ้าน” ไม่ได้ต้องการบอกกับหน่วยงานความมั่นคง เพียงอยากให้ประชาชนในพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอได้รับทราบ อันอาจจะเป็นประโยชน์ต่อการ “อยู่ให้เป็น” และ “อยู่ให้ได้” ในสถานการณ์ไฟใต้ระลอกใหม่ที่ย่างเข้าสู่ปีที่ 15 และได้ละลาย “งบประมาณแผ่นดิน” ไปแล้ว “กว่า 200,000 ล้านบาท” ซึ่งก็คือเงินภาษีคนทั้งประเทศนั่นเอง
 



กำลังโหลดความคิดเห็น