คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู / โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ปรากฏการณ์ช็อกสังคมไทยในเช้าวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา เมื่อคณะกรรมการบริหาร “พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)” ได้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคเป็นเชื้อพระวงศ์พระองค์หนึ่ง ด้วยความลิงโลดหน้าระรื่นกันทั่วทุกพรรคที่เป็นพรรคเครือข่ายของอดีตนายกรัฐมนตรีที่หนีคดีอยู่ต่างประเทศ กระแสสังคมเกิดความคึกคัก หดหู่ และวิตกกังวล วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กระแสหุ้นในธุรกิจของตระกูลชินวัตรสีเขียวพรืดทั้งกระดาน
แต่หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง หรือช่วงก่อนเที่ยงคืนสองสามชั่วโมง กระแสลมก็พัดกลับ เกิดอาฟเตอร์ช็อกถล่มทลาย เมื่อมีประกาศพระราชโองการออกมาว่า การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ เป็นการกระทำที่ไม่บังควร ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และราชประเพณีที่มีมาแต่เดิม ทำให้กรรมการบริหารของพรรคไทยรักษาชาติที่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นลูกหลานและเครือญาติ มิตรสหายของตระกูลชินวัตรหายหน้าหายตาไปจากสาธารณชน
หลังจากนั้น ก็เกิดการยื่นข้อเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการต่อการกระทำที่ไม่บังควรของพรรคไทยรักษาชาติ และฝ่ายไทยรักษาชาติก็ยื่นเรื่องแก้เกี้ยวให้ กกต.พิจารณากรณีของพรรคพลังประชารัฐ ในการเสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคพลังประชารัฐ ที่อาจจะขาดคุณสมบัติหรือไม่
เกมการเมืองที่พลิกผันภายในไม่ทันข้ามวัน สะท้อนให้เห็นวิธีคิด วิธีการเอาชนะคะคานกันในทางการเมือง และน่าจะทำให้หลายฝ่ายที่อยู่ในวังวนของความขัดแย้งและการเอาชนะกันนี้ได้เรียนรู้อะไรขึ้นมาบ้าง เช่น
1. การสถาปนาตนเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ใช้ม็อตโตไม่เอาเผด็จการ แต่กลับใช้วิธีการในการเอาชนะคู่ต่อสู้ด้วยการอ้างอิงสถาบันชั้นสูงอย่างไม่บังควร โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม ความเสมอภาคในทางการเมือง เป็นการกระทำที่สวนทางกับวาทกรรมของตนเองในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา
2. บรรดาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคในเครือข่ายของฝ่ายประชาธิปไตย 3-4 พรรคน่าจะตระหนักได้ว่า พวกเขาไม่ใช่ตัวจริงที่จะได้รับการสนับสนุนจากผู้มากบารมีที่อยู่เบื้องหลังของการจัดการทางการเมือง เพื่อทำสงครามครั้งสุดท้ายในครั้งนี้
3. ยุทธศาสตร์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคในเครือข่าย หลังจากนี้จะลำบากและกระอักกระอ่วนใจ หรือกระดากอายที่จะกล่าวถึงความเป็นประชาธิปไตยในอุดมการณ์ของพรรค เพราะประชาชนที่เป็นกลางต่างก็ได้เห็นแล้วว่า แท้จริงแล้วเบื้องลึกเบื้องหลังและเบื้องหน้าของพรรคเหล่านี้ ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่ออะไรและเพื่อใคร ที่แน่ๆ คือ ไม่ได้ทำเพื่อประชาชนเป็นด้านหลักดั่งสโลแกนของพรรค
4. แม้ว่าจะมีคนออกมาโวยวายตีปลาหน้าไซว่า ไม่เห็นด้วยให้ยุบบพรรคไทยรักษาชาติ เพราะจะเป็นการสะท้อนถึงการใช้อำนาจกลไกในมือของรัฐบาล ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นคู่แข่งกับพรรคไทยรักษาชาติ แต่น้ำหนักคงไม่ต่างกับการยุบพรรคการเมืองของกลุ่มการเมืองกลุ่มนี้เมื่อ 2 ครั้งที่ผ่านมา เพราะได้กระทำการฝ่าฝืนกติกากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
สำหรับพี่น้องประชาชนคนไทยที่กำลังหนักใจอยู่ก่อนหน้านี้ว่า ไม่รู้จะออกจากบ้านไปเลือกใครในวันที่ 24 มีนาคม 2562 แต่พอเกิดเหตุการณ์นี้หลายคนก็ตัดสินใจได้ว่า จะไปเลือกใคร และที่แน่ๆ คือ ไม่เลือกสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ และเครือข่ายทั้งหมด ในที่สุดแล้ว ปรากฏการณ์ครั้งนี้ถ้าฝ่ายที่ตกเป็นจำเลยของสังคมอยู่ในขณะนี้กระทำการสำเร็จ ไม่มีพระราชโองการออกมาระงับยับยั้งการกระทำที่ไม่บังควร ย่อมเกิดปรากฏการณ์พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน อดีตนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ท่านที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศก็คงได้กลับบ้านมาอย่างสง่างาม พร้อมกับความเป็นผู้บริสุทธิ์ในทุกข้อกล่าวหา บรรดาผู้จงรักภักดีหรือศรัทธาก็คงระริกระรี้กันจนแผ่นดินผืนฟ้าสะท้านสะเทือน
แต่เมื่อการณ์ไม่เป็นไปตามคาด สิ่งที่ตามมาคือตรงกันข้าม และไม่มีใครรู้ว่าคนที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวเหล่านี้เขาจะคิดและทำอะไรต่อไปอีก คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะมีศักยภาพ วุฒิภาวะในการจัดการเรื่องราวต่างๆ ให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมายหรือไม่ และแน่นอนอย่างน้อยๆ ประชาชนคนส่วนใหญ่ที่ไม่เป็นฝักฝ่ายของเครือข่ายพรรคการเมืองฟากประชาธิปไตย ต่างแซ่ซ้องกันทั่วแผ่นดินว่า “ทรงพระเจริญๆๆ” พร้อมพนมมือท่วมหัวด้วยความปีติยินดี
พอมองเห็นกันบ้างหรือยังว่า นักการเมืองไทย (บางกลุ่ม/บางคน) เขาขับเคลื่อนการเมืองเพื่อใคร ถ้ายังมองไม่เห็นก็แล้วแต่บุญแต่กรรมก็แล้วกัน.