xs
xsm
sm
md
lg

จนท.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลฯ ลงตรวจแมงกะพรุนหัวขวดที่แหลมสมิหลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ลงพื้นที่ตรวจสอบแมงกะพรุนหัวขวดที่เริ่มกลับมาอีกครั้งบริเวณชายหาดแหลมสมิหลา เตือนนักท่องเที่ยวระวัง มีลักษณะคล้ายลูกโป่งสีฟ้าและลอยน้ำ มีพิษแต่ไม่อันตรายถึงชีวิต

วันนี้ (11 ก.พ.) ความคืบหน้ากรณีพบแมงกะพรุนหัวขวด ซึ่งเป็นแมงกะพรุนพิษบริเวณชายหาดแหลมสมิหลา และทำให้นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นพ่อ และลูกสาว อายุ 7 ขวบ ถูกพิษแมงกะพรุนตามร่างกายจนต้องส่งโรงพยาบาลเมื่อวานนี้ และช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นฤดูกาลที่พบแมงกะพรุนชนิดนี้ระบาดมาตั้งแต่ปี 2558

ล่าสุด ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง จ.สงขลา ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณชายหาดชลาทัศน์แหลมสมิหลา เพื่อสำรวจปริมาณว่ามีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งพบแมงกะพรุนหัวขวดถูกคลื่นซัดขึ้นมาบริเวณชายหาดหลายตัว เจ้าหน้าที่จึงเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบ แต่ในช่วงเช้าถึงเที่ยงยังมีปริมาณค่อนข้างน้อย เนื่องจากอยู่ในภาวะน้ำขึ้นน้ำลง และคลื่นลมที่พัด
 

 
ด้าน นายสันติ นิลวัฒน์ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ เปิดเผยว่า เริ่มพบแมงกะพรุนหัวขวดเป็นจำนวนมากในเดือนกุมภาพันธ์ ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2558 แมงกะพรุนหัวขวดชนิดนี้มีลักษณะคล้ายลูกโป่งสีฟ้าและลอยน้ำ ส่วนใหญ่ที่โดนจะเป็นเด็ก เพราะนึกว่าเป็นลูกโป่งแล้วจับเล่น ส่วนพิษของแมงกะพรุนหัวขวดไม่ได้อันตรายถึงชีวิต แต่ก็ทำให้เจ็บปวด

ขณะนี้ทางศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างจะนำป้ายเตือนและวิธีการรักษาหากโดนแมงกะพรุนพิษ ไปติดตั้งไว้บริเวณชายหาด พร้อมกับเตือนให้นักท่องเที่ยวระวังขณะลงเล่นน้ำทะเล หรือที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมาบนชายหาด

สำหรับชนิดของแมงกะพรุนพิษดังกล่าว มีลักษณะคล้ายกับแมงกะพรุนหัวขวด (Blue Bottle Jellyfish) ส่วนวิธีช่วยเหลือผู้ที่โดนพิษแมงกะพรุนให้ราดด้วยน้ำส้มสายชูบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนให้ทั่วอย่างน้อย 30 วินาที ห้ามใช้น้ำจืดล้างโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะกระตุ้นกระเปาะพิษให้เพิ่มมากขึ้นละห้ามถู หรือขยี้ เพราะจะยิ่งทำให้พิษกระจาย เลี่ยงการใช้เทคนิคพันรัดแน่นด้วยผ้ายืด หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
 




กำลังโหลดความคิดเห็น