xs
xsm
sm
md
lg

การมีชีวิตภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีคือ “สิทธิมนุษยชน” อย่าปล่อยโลกหมุนไปด้วยแรงผลักทุนแต่ลำพัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
โดย : ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
 

 
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา บ่อยครั้งที่เมื่อมีการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม จากนักอนุรักษ์หรือจากชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการพัฒนาที่ทำลายทรัพยากรและสร้างมลภาวะ คนกลุ่มนี้ก็มักจะถูกกระแนะกระแหนจากคนในเมืองบางคนหรือบางกลุ่มว่า เป็นพวกต่อต้านการพัฒนา ไม่อยากเห็นความเจริญ บ้างก็เรียกร้องให้คนที่ได้รับผลกระทบต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ บางคนก็สุดโต่งไล่ให้กลับไปขี่เกวียน ไปใช้ตะเกียง ไปอยู่ถ้ำ 
 
เมื่อถึงวันนี้เราได้เห็นแล้วว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาร่วม ไม่ใช่แค่ปัญหาของคนในชนบท แต่มันได้สบายปีกครอบคลุมคนในเมืองด้วย
 
ความจริงแล้วคนในชนบทหลายพื้นที่ต้องทนทุกข์กับปัญหาสิ่งแวดล้อมมานาน เช่น พี่น้องรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ต้องสูดดมอากาศพิษจากการเผาไหม้ถ่านหิน ขณะที่คนในเมืองและอุตสาหกรรมคือผู้บริโภคพลังงานจากโรงไฟฟ้าดังกล่าว ที่กาญจนบุรีชาวบ้านที่คลิตี้ที่ต้องทนทุกข์จากการทำเหมืองตะกั่ว ทั้งสองพื้นที่ได้ต่อสู้มาทุกวิถีทาง แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา เมื่อหมดที่พึ่งก็ต้องฟ้องศาลปกครอง กว่าจะได้รับค่าชดเชยก็ใช้เวลาในศาลนับสิบปี แม้จะชนะคดี แต่ก็ไม่คุ้มกับคุณภาพชีวิตที่ต้องสูญเสียไป ซ้ำร้ายกว่านั้นบางคนที่เป็นโจทย์เสียชีวิตไปก่อนคำตัดสินของศาลจะออกมาก็มี
 
ที่พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และวังสะพุง จ.เลย ชาวบ้านต้องทนทุกข์จากมลพิษจากเหมืองทอง ทั้งน้ำที่ปนเปื้อนและอากาศพิษ ที่ป่วยก็ยังป่วย ที่เสียชีวิตไปแล้วก็เสียชีวิตฟรีๆ พวกเขาจึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องให้ปิดเหมือง และต้องหวังพึ่งศาลยุติธรรมเพื่อให้ทุนรับผิดชอบต่อชีวิต
 
ที่กระบี่ชาวบ้านต้องทนทุกข์กับโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงเก่ามานานถึง 4 ทศวรรษ เมื่อจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงต้องลุกขึ้นมาคัดค้าน เพื่อปกป้องอากาศบริสุทธิ์และทรัพยากรที่จะถูกทำลาย
 
ที่อุดรธานีท่ามกลางการที่ทุนสามารถส่งออกยางพาราจนติดอันดับโลก ชาวบ้านรอบโรงงานยางพาราที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ต้องทนกับอากาศพิษและกลิ่นเหม็นของโรงงานมานานหลายปีจนถึงทุกวันนี้ จะประท้วงเท่าไหร่ก็ไม่มีใครแก้ไข
 
ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรที่มีทุกหัวระแหง จึงทำให้เกิดการลุกขึ้นมาต่อสู้ของชาวบ้านและนักอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน คลองผันน้ำ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา-มวกเหล็ก การทำเหมืองโปแตช โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าขยะ การระเบิดหิน ฯลฯ
 
บางครั้งพวกเขาก็ต้องเข้ามาเดินขบวนมาชุมนุมในกรุงเทพฯ ที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจ และบ่อยครั้งก็จะถูกกล่าวหาว่า ทำให้รถติดและคนกรุงฯ เดือดร้อน
 
วันนี้ที่พวกเราต้องตกเป็นเหยื่อของปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นคนในเมือง หรือคนชนบท ดังนั้นทุกคนจึงควรเป็นพันธมิตรกัน สนับสนุนการต่อสู้ซึ่งกันและกัน
 
ยิ่งไปกว่านั้น เราอาจจะต้องตั้งคำถามให้มากขึ้น และคำถามที่สำคัญยิ่งกว่าคำถามที่ว่าเราจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือรายกรณีกันย่างไร? นั่นก็คือคำถามที่ว่า...
 
เราจะปล่อยให้โลกของเราหมุนไปด้วยแรงผลักดันของทุนและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่แยแสต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกต่อไปหรือไม่ และหากปล่อยให้โลกหมุนอย่างนี้ต่อไป เราและคนรุ่นลูกรุ่นหลานของเราจะมีชีวิตอยู่กันอย่างไร?
 
อย่ากลัวที่จะตั้งคำถามแบบนี้ครับ เพราะหากว่าเราปล่อยให้สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรถูกทำลายไปเรื่อยๆ แบบทุกวันนี้ แล้วเราจะต้องกลับไปขี่เกวียน ใช้ตะเกียง หรืออยู่ถ้ำ เพราะเมื่อถึงวันที่วิกฤตที่สุด อาจไม่มีที่ไหนที่มีอากาศบริสุทธิ์ให้เราได้สูดหายใจ เราอาจจะใช้รถกันต่อไม่ได้ และต้องเดินกัน ไม่ใช่ขี่เกวียน หรือมีตะเกียงให้จุด แต่ก็จุดไม่ได้ จะหนีไปอยู่ถ้ำ ก็ไม่มีถ้ำให้อยู่ เพราะถูกระเบิดทิ้งทำเหมืองหมดแล้ว
 
ดูตัวอย่างของฝุ่นมรณะ PM 2.5 ครับ?!
 
เราเคยคิดกันมาก่อนหรือไม่ว่า วันนี้เราต้องหายใจเอาฝุ่นมรณะเข้าไปในทุกที่ทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ๆ เด็กๆ ลูกหลานของเราต้องหยุดไปโรงเรียน บางคนมีเงินแต่จะป้องกันสุขภาพก็ไม่มีหน้ากากกันอากาศพิษขาย หรือแม้แต่งานศพก็ยังไม่อาจจะจุดธูปเคารพศพได้ดังที่เราเคยปฏิบัติมาแต่บรรพชน
 
ผมอยากทิ้งท้ายว่า การมีชีวิตภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดีคือ “สิทธิมนุษยชน” และเราทุกคนต้องร่วมกันปกป้องสิทธินี้
 



กำลังโหลดความคิดเห็น