xs
xsm
sm
md
lg

มารู้จักชาวมอแกนเกาะสุรินทร์ จ.พังงา ก่อนถูกเพลิงไหม้เสียหายวอด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พังงา - มารู้จักชาวเล หรือ ชาวมอแกน เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ก่อนถูกเพลิงเผาวอดเสียหายกว่า 60 หลัง สถานีอนามัย 1 แห่ง เป็นความสูญเสียอย่างมหาศาลครั้งที่ 2หลังจากครั้งแรกถูกคลื่นสึนามิซัดหายทั้งหมู่บ้าน

นับว่าเป็นครั้งที่ 2 ของหมู่บ้านชาวเล หรือ ชาวมอแกนเกาะสุรินทร์ ที่ได้รับความสูญเสีย จนชาวบ้านไม่มีที่ซุกหัวนอน ถือเป็นความเสียหายที่ร้ายแรง ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่ โดยครั้งแรกเกิดชึ้นเมื่อปี 2547 ที่ผ่านมาชาวบ้านได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ จนเป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมู่บ้าน จนต้องอพยพมาอยู่บนเกาะใหญ่ และครั้งนี้ถือเป็นอีกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านหมดเนื้อประดาตัว คือการเกิดเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่ซึ่งมีบ้านเรือได้รับความเสียหายกว่า 60 หลัง สถานีอนามัย 1 แห่ง

สำหรับหมู่บ้านชาวเลหรือชาวมอแกน เกาะสุรินทร์ เป็นหมู่บ้านชาวเลดั่งเดิมที่อาศัยตั้งบ้านเรืออยู่บริเวณอ่าวบอน เกาะสุรินทร์ใต้หมู่ 4 ต.เกาะพระทอง มีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 200 คน ชาวเลกลุ่มนี้เป็น ชนเผ่าที่มีวิถีการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม หาเลี้ยงชีพโดยการงมหอย แทงปลา มอแกนปัจจุบันมีบางคนสามารถพูดภาษายาวีและภาษาไทยได้บ้าง เด็กมอแกนคุ้นเคยกับทะเลตั้งแต่ยังเด็ก บางคนว่ายน้ำได้พร้อมๆ กับที่เดินได้ พ่อแม่จะปล่อยให้เด็กเล็กๆ พายเรือเล็กเล่นโดยลำพังโดยไม่ต้องมีใครดูแล

มอแกนมีวิถึชีวิตที่ผูกพันอยู่กับทะเลมาเป็นเวลาหลายร้อยปี จึงมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเดินเรือ การดูทิศทางโดยอาศัยดวงดาว ลมและคลื่น รวมทั้งการว่ายดำน้ำและการทำมาหากินทางทะเล มอแกนก็มีความรู้เกี่ยวกับป่าและพืชพรรณไม้ที่หลากหลายในป่าด้วย เขามีความเชื่อในเรื่องของภูตผีและวิญญาณบรรพบุรุษ ในเดือนเมษายนของทุกปีกลุ่มมอแกนที่กระจัดกระจายอยู่ตามเกาะต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียงจะมารวมตัวกันที่หมู่เกาะสุรินทร์เพื่อประกอบพิธี “ลอยเรือ” บวงสรวงผีและวิญญาณของบรรพบุรุษ อีกทั้งเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้ปลอดภัยและแคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง ถือได้ว่าชาวมอแกนเป็นชนเผ่าที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้มากที่สุด

เรือของชาวมอแกนแบบดั้งเดิม มี 2 ประเภท ประเภทที่ 1 เป็นเรือขนาดใหญ่ สร้างขึ้นจากไม้ประมาณ 3-4 ต้น ใช้เวลาสร้างประมาณ 60 วัน ใช้แรงงานคนประมาณ 20 คน ประเภทที่ 2 เป็นเรือขนาดเล็ก ใช้ไม้เนื้ออ่อนเจาะด้วยขวาน ใช้เวลาสร้างประมาณ 5 วัน ใช้แรงงานคนประมาณ 3 คน โดยวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบเรือทั้ง 2 ประเภท จะใช้วัสดุและอุปกรณ์เช่นเดียวกัน คือ ไม้ขนุนปานหรือไม้ระกำ ขวาน ใช้สลักไม้แทนตะปู ใช้หวาย ใบเตย หรือใบค้อ กระสอบป่านแทนหมันและน้ำมันยาง

หากสังเกตบริเวณด้านหน้าหมู่บ้านมอแกน ด้านหน้าอ่าวช่องขาด และ ด้านหน้าอ่าวไม้งาม จะสามารถพบเห็นเสาไม้แกะสลักเลียนแบบรูปคนทั้งหญิงและชายเรียกว่า “เสาหล่อโบง (ลอโบง)” เสาไม้นี้เป็นตัวแทนวิญญาณปกป้องรักษาชาวมอแกน โดยวิญญาณเพศชายเป็นผีตาเรียกว่า “อีบ๊าบ” ส่วนวิญญาณเพศหญิงเป็นผียายเรียกว่า “อีบูม” ทุกๆปีในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 ชาวมอแกนจะมีการจัดพิธีบวงสรวงวิญญาณบรรพบุรุษและวิญญาณในธรรมชาติ “เหน่เอนหล่อโบง” โดยมีสัญลักษณ์เป็น “เสาหล่อโบง” และเรือลอยเคราะห์ที่เรียกว่า “ก่าบางชวาย”

ภายหลังจากที่ลูกหลานชาวมอแกนบนหมู่เกาะสุรินทร์ได้เริ่มเข้าสู่การเรียนการสอนในระบบโรงเรียนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โดยใช้ภาษาไทยเป็นสื่อก็หันมาซึมซับภาษาไทยและเพลงไทยมากขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น