xs
xsm
sm
md
lg

จากเหตุฆ่าพระในวัด..สู่ตรวจค้นจับกุมในปอเนาะ “สงครามศาสนา” ยังห่างไกล แต่ “สงครามเชื้อชาติ” ใกล้เข้ามาแล้ว?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้  /  โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
แฟ้มภาพ
 
ในขณะที่เหตุการณ์ฆ่าพระที่ “วัดรัตนานุภาพ” บ้านโคกโก ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส มรณภาพ 2 รูป และบาดเจ็บอีก 2 รูปยังไม่ทันได้จางหายจากความรู้สึกของผู้คน เวลานี้เชื่อว่าความโกรธแค้นและเจ็บปวดยังอัดแน่นอยู่ในอกแบบหาที่ระบายออกไม่ได้ เพราะผ่านมากว่า 2 สัปดาห์สมุนของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ยังลอยนวล โดยเจ้าหน้าที่มีแต่ “รายชื่อคนร้าย” แต่รู้ว่าตัวตนคนพวกนั้นอยู่ที่ไหน และสุดท้ายก็คงจะบอกกับประชาชนว่า พวกมันหลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว
 
ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารจาก ฉก.พท.42 นำกำลังเข้าไปตรวจค้นและจับกุมนักเรียนใน “โรงเรียนสอนศาสนามัดรอสาตูลฟาละห์”  ในพื้นที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี โดยมีการเผยแพร่ภาพถ่ายตั้งแต่ขั้นตอนในการติดตามเฝ้าดูในยามวิกาล เห็นการฝึกการต่อสู้ป้องกันตัวของนักเรียนและนักศึกษาในปอเนาะแห่งนี้ จนนำไปสู่การบุกเข้าตรวจค้น จับกุมและดำเนินการทางกฎหมาย ที่สำคัญนักเรียนในปอเนาะแห่งนี้ส่วนหนึ่งเป็น “ชาวกัมพูชา” ถึง 13 คน
 
เพราะไฟแค้นที่ยังคุกคั่งอยู่ในใจของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะ “ไทยพุทธ” จากกรณีพระถูกฆ่ายังอัดแน่นเต็มอก ดังนั้น จึงอย่าได้แปลกใจที่ทั้งภาพและข่าวของเหตการณ์การจับกุมนักเรียนในปอเนาะดังกล่าว ซึ่งถูกเผยแพร่จากฝ่ายเจ้าหน้าที่ให้กระจายไปในโซเชียลมีเดีย แล้วจะถูกกลุ่มไลน์ของคนในพื้นที่แชร์ต่อๆ กันอย่างรวดเร็ว จนนำมาสู่ “ความไม่พอใจ” ของหน่วยงานความมั่นคง
 
ในความรู้สึกของชาวบ้านต่อเหตุการณ์นี้ ประเด็นแรก  “ชอบใจ” ที่เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปจับกุมถึงในปอเนาะที่ใช้ในการฝึกบ่มเพาะเยาวชนเข้าสู่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน เพราะชาวบ้านที่เป็นไทยพุทธเชื่อมานานแล้วว่า ทั้งปอเนาะ ตาดีกา และโรงเรียนสอนศาสนาส่วนหนึ่งเป็นที่สร้างโจรใต้ และโจรใต้เหล่านั้นคือผู้ที่กระทำการก่อการร้ายในพื้นที่เพื่อต้องการการแบ่งแยกดินแดน หลากหลายความเห็นของชาวบ้านจึงต้องการให้ฝ่ายความมั่นคง “จัดการขั้นเด็ดขาด”  กับสถานศึกษาเหล่านี้
 
ประเด็นที่สองที่ตามมาคือ “การตั้งคำถามจากชาวบ้าน” ด้วยความสงสัยหรือความไม่รูว่า ทำไมหน่วยงานความมั่นคงจึงยังปล่อยให้ปอเนาะ ตาดีกา และโรงเรียนสอนศาสนาเหล่านั้นยังเป็นที่บ่มเพาะสร้างโจรใต้ต่อเนื่องมาได้จนย่างเข้าปีที่ 15 แล้ว
 
อันเป็นห้วง 15 ปีของไฟใต้ระลอกใหม่ที่รัฐใช้เงินภาษีของประชาชนเพื่อการดับไฟใต้ไปแล้วหลายนับแสนล้านบาท หรืออย่างน้อยปีละราว 20,000 ล้านบาท แต่ทำไม่แค่การควบคุมปอเนาะ ตาดีกา และโรงเรียนสอนศาสนา ซึ่งไม่ได้ตั้งอยู่ในป่าเขาเสียที่ไหน ทำไมจึงทำไม่สำเร็จ
 
ดังนั้น ในประเด็นความรู้สึกของคนในพื้นที่ที่ส่วนใหญ่เป็นไทยพุทธ จึงพุ่งเป้าไปยังหน่วยงานความมั่นคงว่า 15 ปีที่ผ่านมาจริงจังแค่ไหนกับการดับไฟใต้ แล้วทำไมหน่วยงานความมั่นคงจึงรู้สึกไม่พอใจเอามากๆ กับการที่ชาวบ้านที่เคลื่อนไหวผ่านโลกของการสื่อสารไร้พรมแดน
 
ส่วนในความรู้สึกของ “สื่อ” ที่นำเสนอข่าวนี้อย่างครึกโครมนั้น ประการแรกจริงหรือไม่ที่โรงเรียนสอนศาสนายังเป็นแหล่งบ่มเพาะเยาวชนเข้าสู่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ประการที่ 2 ผู้ที่ถูกจับกุมส่วนหนึ่งเป็น “คนต่างชาติ” มีที่มาที่ไปอย่างไร และประการที่ 3 เรื่อง “ทหารเด็ก” เรื่อง “ทหารต่างชาติ” ที่กำลังเข้ามามีส่วนในการก่อการร้ายในแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นเรื่องจริงแล้วล่ะหรือ
 
ไฟใต้ระลอกใหม่ปีที่ 15 กำลังจะถูกยกระดับ เพื่อให้เป็นเงื่อนไขในการนำไปสู่ “อาร์ม คอนฟิกซ์” ตามที่ฝ่ายความมั่นคงหวาดหวั่น หรือวันนี้เงื่อนไขของไฟใต้กำลังจะเป็นไปตามเกมของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ จริงๆ
 
ส่วนในประเด็นที่ว่ายาวนานถึง 15 ปีมาแล้ว ที่หน่วยงานความมั่นคงยังจัดการกับปอเนาะ ตาดีกา และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาไม่สำเร็จนั้น “สื่อ” ที่เกาะติดพื้นที่ไม่แปลกใจหรือ เพราะเห็นชัดถึง “บริบท” ในการดับไฟใต้ที่ใช้ “ยุทธวิธีถีบๆ ถอยๆ” เพราะติดกับในเรื่องกลัวการยกระดับบีอาร์เอ็นฯ และกลัวการเกิดขึ้นของ “อาร์ม คอนฟิกซ์” จนเชื่อว่าต่อให้เข้าสู่ปีที่ 16 หรือปีที่ 17 ไฟใต้ก็จะยังเป็นอยู่ในรูปแบบนี้
 
ในส่วนของบีอาร์เอ็นฯ เรื่องทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนแต่มีอีกด้านที่ถูกใช้เป็นประโยชน์ในการ “ปลุกระดม” หรือกระทำการ “ไอโอ” เพื่อสร้างความแตกแยกในหมู่คนในพื้นที่ เพื่อสร้างความโกรธเกลียดและความหวาดระแวงระหว่าง “ไทยพุทธ” และ “มุสลิม” เพื่อให้สังคมในพื้นที่เป็นสังคมเชิงเดี่ยวให้มากที่สุด
 
ในขณะเดียวกัน ก็ให้คนมุสลิมในพื้นที่เข้าใจผิด โกรธและเกลียดเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบางด้านมาปลุกระดมหรือบ่มเพาะ เช่น ถามว่าเวลา “อิหม่าม” หรือ “ผู้นำศาสนาอิสลาม” ถูกกระทำ ทำไมไม่เห็นมี “พระ” ไปแสดงความเสียใจกับเขาด้วย หรือไม่เห็นเจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญเหมือนกับการที่ “พระ” และ “ไทยพุทธ” ถูกกระทำ
 
หากนำเอาแง่มุมบ้างด้านในการตรวจค้นปอเนาะมัดรอสาตูลฟาละห์ในแง่ของกฎหมายมาถาม เช่น การออกกำลังกายกลางคืนมีกฎหมายข้อไหนห้ามไว้ ทำไมจึงต้องใช้วิธีการจับกุมแบบการจับอาชญากร ทั้งที่ความผิดไม่ชัดเจน ไม่มีการขัดขืนต่อสู้ และทำไมจึงต้องทำการแพร่ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสู่สาธารณะ
 
ทั้งหมดที่ฝ่ายโจรไต้หยิบขึ้นมาต่อสู้ หรือการทำไอโอของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ นั่นคือต่อการ “สื่อ” ให้มวลชนของฝ่ายตนและคนมุสลิมในพื้นที่เห็นว่า รัฐไทยยังมีความเป็น “สองมาตรฐาน” และรัฐไทยยังมี “อคติ” มีความ “อยุติธรรม” ต่อคนมุสลิม นี่ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งของบีอาร์เอ็นฯ ที่ต้องการให้เกิด “สั่งคมเชิงเดี่ยว” ในฝ่ายของมุสลิมในพื้นที่
 
หรือแม้กระทั่งการที่ “แนวร่วม” บีอาร์เอ็นฯ นำเอาประวัติของ พ.อ.สมคิด คงแข็ง ผู้นำหน่วยทหารพรานในปฏิบัติการครั้งนี้มาตีแผ่ นั่นก็คือต้องการที่ “ไอโอ” ให้เกิดความเสียหาย เพื่อให้คนมุสลิมเห็นว่าเป็นนายทหารที่ “นิยมความรุนแรง” ซึ่งไม่เหมาะสมกับพื้นที่ที่ถูกอ้างว่า “อ่อนไหว” เหตุผลคือบีอาร์เอ็นฯ ต้องการที่จะให้ นายทหารแบบ พ.อ.สมคิด มีอันต้องถูกออกไปจากพื้นที่
 
ไม่ได้ต้องการเขียนเพื่อให้ “เครดิต” แก่โจรใต้ หรือขบวนการบีอาร์เอ็นฯ อย่างที่ฝ่ายความมั่นคง “ตีความเอาเอง” แต่ต้องการที่จะบอกว่า “งานไอโอ” ของโจรใต้หรือบีอาร์เอ็นฯ “นำหน้า” ฝ่ายความมั่นคงไป 1 กิ๊กมาโดยตลอด ดังนั้น ฝ่ายความมั่นคงต้องไปช่วยกันคิดว่า การที่ฝ่ายตนเองมีทั้งงบประมาณเหลือเฟือ มีกำลังคนที่มีความรู้มากมาย ทำไมจึงจะทำงานด้าน “ไอโอ” ให้เหนือกว่า “ดอเลาะ ซาและ” ที่ด้อยกว่าในทุกๆ ด้านได้
 
ในขณะที่คนไทยพุทธชื่นชม และต้องการที่จะให้มีนายทหารที่ถูกเรียกว่า “สายแข็ง” อย่าง พ.อ.สมคิด อยู่ในพื้นที่ และอยากให้มีมากขึ้นๆ ด้วย เพื่อที่จะได้จัดการกับแหล่งซ่องสุมที่ใช้เพื่อบ่มเพาะเยาวชนเข้าสู่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน
 
ซึ่งโดยข้อเท็จจริงนายทหารสายแข็งอย่าง พ.อ.สมคิด ยังมีความเหมาะสม มีความจำเป็นต่อสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพียงแต่จะต้องเป็นภารกิจที่จำเป็นในพื้นที่ต้องใช้ความเด็ดขาดในการปฏิบัติการ เพราะบางเรื่อง หรือบางกรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ “รัฐศาสตร์” และ “นิติธรรม” อย่างเดียวใช้ไม่ได้ผล
 
สุดท้ายในมุมมองของหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งมองเพียงมิติเดียวเห็นว่าการนำเสนอข่าวและภาพของ “สื่อ” และ “การแชร์ข้อมูลของชาวบ้าน” เป็นปัญหาหรือเป็นเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปทำ “ไอโอ” สร้างความเสียหายในวงกว้าง ต้องเหนื่อยหน่ายกับการ “ตามล้างตามเช็ด” เพื่อแก้ข่าวที่เกิดขึ้น
 
“จำเลย” ในความรู้สึกของฝ่ายความมั่นคงคือ “สื่อ” และ “ชาวบ้าน”
 
แต่กลับไม่จัดการกับ “เจ้าหน้าที่” ที่ทำให้ ภาพและข่าวแพร่สะพัดในโซเชียลมีเดีย โดยไม่เคยมองภาพในทุกมิติที่เกิดขึ้นเพื่อให้เห็นว่าสาเหตุของ “ความล้มเหลว” ในการดับไฟใต้ แค่จัดการกับแหล่งบ่มเพาะที่เป็น ปอเนาะ ตาดีกา และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาจึงไม่สำเร็จ
 
ดังนั้น หน่วยงานความมั่นคงต้องกลับไปมอง “ตนเอง” เพื่อหา “ข้อบกพร่อง” ให้เจอให้ มากกว่าการมอง “คนอื่น” เพื่อหา “จุดบกพร่อง” ของเขา เพื่อที่จะไม้ต้องให้หน่วยงานของตนเองตกเป็นจำเลยของสังคม
 
หรือสิ่งที่ “นายทหารระดับสูง” นายหนึ่งในกองทัพได้สะท้อนไว้ว่า ที่กองทัพเอาชนะโจรใต้ไม่ได้ เป็นเพราะในขณะที่โจรใต้นั่งวางแผน นั่งประกอบระเบิด ยืนสอนเด็กเรื่องเรื่องสยามรุกรานให้ลุกขึ้นสู้ เดินเก็บเงินบริจาคเพื่อใช้ในการก่อเหตุ หรือนั่งไอโอผ่านเพจหรือผ่านแอปเพื่อโจมตี “ซีแย”
 
แต่พวกเราไม่มีเวลาคิดเอาชนะโจรใต้ได้ เพราะต้องเร่งทำงานให้ทันฝ่ายเดียวกัน นั่งทำเพาเวอร์พอยนต์ทั้งคืนเพื่อให้ฝ่ายเดียวกันดูดี ใช้เงินหลวงเกือบสองหมื่นบาทเพื่อเดินทางไปประชุม 2 ชั่วโมง เพราะเป็นงานนโยบายผู้ใหญ่ที่ต้องทำก่อน
 
สรุปโดยรวมแล้วไฟใต้ย่างเข้าสู่ปีที่ 15 เหตุการณ์กำลังกลับเข้าสู่วงจรเดิมๆ เหมือนกับช่วงปี 2548-2550 ซึ่งเรื่องของ “สงครามศาสนา” ยังห่างไกลจากความจริง แต่ถ้าหน่วยงานความมั่นคงยังคงต้วมเตี้ยมอย่างที่เห็น “สงครามเชื้อชาติ” น่าจะอยู่ไม่ไกลแล้วกระมัง
 
ทั้งหมดทั้งปวงนั้น “ไม่ได้พิพากษาใคร” และไม่ได้บอกว่า “ใครผิด ใครถูก” เพียงแต่ต้องการบอกว่าทุกอย่างต่างมีที่มาและที่ไป ถ้าเข้าใจได้และไม่มองการแก้ปัญหาแบบ “แยกส่วน” การดับไฟใต้ของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” อาจจะเดินไปข้างหน้าได้เร็วกว่านี้ก็เป็นได้
 


กำลังโหลดความคิดเห็น