xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจผู้บริหาร “โรงเรียนดนตรีและศิลปะซิมโฟนี่” เครือธุรกิจมูลค่ากว่า 100 ล้าน เพื่อสานฝันเด็กนักเรียนอนุบาล-มัธยม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภญ.เสาวภา ก้าวสมบูรณ์
 
“โรงเรียนดนตรีและศิลปะซิมโฟนี่” เจ้าของ “ระบบ Symphony Learning” ธุรกิจบริการด้านการเรียนการสอนดนตรีแบบครบวงจร ชนิดที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น One Stop Service ได้เลยทีเดียว ซึ่งจะรองรับเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ทั้งของรัฐและราษฎร์ ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมปลาย จนต้องบอกว่าสอดรับกับยุคสมัย “ไทยแลนด์ 4.0” และหากมีการ “ปฏิรูประบบการศึกษา” ลุล่วงไปด้วยแล้ว ธุรกิจนี้ยิ่งมีแต่อนาคตสดใสกราววาว

แม้จะก่อตัว เติบกล้า จนมีฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ แต่เวลานี้กำลังสยายปลีกกว้างไกลไปเกินกว่าแผ่นดินปักษ์ใต้ สู่ภาคกลางและตะวันออกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าอีกไม่นานจะครอบคุลมทุกภูมิภาคทั่วไปได้อย่างเป็นที่ยอมรับ
 
เนื่องเพราะโรงเรียนดนตรีแห่งนี้ถูกคิดค้นและทำให้เกิดขึ้นจาก “นักดนตรีมากฝีมือ” ที่สืบสายเลือดนักต่อสู้กระฉ่อนชื่อ ผู้เป็นหลานปู่ของ “นายผี-อัศนี พลจันทร์” แล้วธรรมะก็จัดระเบียบให้ได้พบกับเภสัชกรผู้ผันตัวเองไปเป็น “นักการตลาดระดับเพชร” เครือข่ายธุรกิจระดับโลกอย่างแอมเวย์ แถมยังเป็นทายาท “กลุ่มทุนใหญ่มากอุดมการณ์” กลายเป็นความลงตัวแบบกลมกล่อมของธุรกิจที่ไม่ได้ยึดกำไรเป็นสรณะ
 
สายฟ้า พลจันทร์
 
โรงเรียนดนตรีแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นฝน จ.สุราษฎร์ธานี ในปี 2553 ด้วยน้ำมือของ “สายฟ้า พลจันทร์” จากขนาดเล็กๆ ที่เริ่มด้วยเงินลงทุนเพียงประมาณ 4 พันบาท มีครูสอนดนตรีเพียง 3-4 คน หลังเผชิญมรสุมแล้วได้รับการโอบอุ้มจาก “ครอบครัวจริงจิตร” เจ้าของธุรกิจค้ายางพาราอันดับต้นๆ ของประเทศในนาม “บริษัทอาเมนทรานสปอร์ต” ที่เห็นโอกาสแตกไลน์สู่ธุรกิจใหม่ๆ เวลานี้จึงได้กลายเป็นเครือธุรกิจโรงเรียนสอนดนตรีและจำหน่ายเครื่องดนตรีขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท มีอาคารสำนักงานโอ่โถงและอุปกรณ์ครบครัน โดยมี “แจว-ศรีจันทร์ จริงจิตร” เป็นหัวเรือใหญ่ ควงคู่มากับพี่สาว “แตน-ภญ.เสาวภา ก้าวสมบูรณ์” ที่ดึงตัวมาร่วมบริหาร
 
การก้าวกระโดดข้ามมรสุมมาได้ในเวลานี้ ธุรกิจเครือโรงเรียนดนตรีและศิลปะซิมโฟนี่ยังอาจจะไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางก็จริง ทว่านับตั้งแต่ปีหมูทอง 2562 นี้เป็นต้นไป ซึ่งจัดว่าเป็นปีที่มีความพร้อมสรรพไปแล้วทุกด้าน ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการวางเครือข่ายโยงสายสัมพันธ์ไปยัง “สถาบัน” และ “บุคคล” ผู้มากชื่อเสียงในแวดวงดนตรี โดยเฉพาะสายดุริยางค์ของเหล่าทัพ แถมมีการเตรียมแผนจัดงานดนตรีระดับโลกไว้ด้วยแล้ว อีกไม่นานนี้เครือธุรกิจโรงเรียนดนตรีแห่งนี้อาจจะสร้างความฮือฮาได้ไม่น้อยทีเดียว
 
“MGR Online ภาคใต้” จึงไม่ยอมพลาดโอกาสที่จะขอเปิดใจ “ภญ.เสาวภา ก้าวสมบูรณ์” ผู้มีส่วนกุมบังเหียนธุรกิจเครือโรงเรียนดนตรีและศิลปะซิมโฟนี่แห่งนี้
 

 - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 

 
MGR Online ภาคใต้” : อยากให้เล่าความเป็นมาก่อนที่จะเป็นเครือธุรกิจโรงเรียนดนตรีและจำหน่ายเครื่องดนตรีแบบครบวงจร
 
“ภญ.เสาวภา ก้าวสมบูรณ์” :  เรื่องนี้มีที่มาที่ไปเกิดจาก 2 เหตุกาณณ์สำคัญคือ เหตุการณ์แรกน้องชายชื่อ “น้องเป่า-โกสินทร์ จริงจิตร” เค้าชอบดนตรีมาก พอเรียนบริหารธุรกิจที่ ม.กรุงเทพจบแล้วก็บอกครอบครัวว่า ความฝันเค้าคือ ดนตรี เค้าอยากเรียนดนตรี อยากเล่นดนตรี อยากทำธุรกิจดนตรี เราเป็นครอบครัวคริสเตียนที่ค่อนข้างเคร่งครัด จึงมองว่าถ้าเค้าได้เรียนดนตรีอย่างจริงจังก็จะกลับมาช่วยงานประกาศที่โบสถ์ได้ จึงส่งน้องเป่าไปเรียนต่อมิวสิคเชิร์ช (Music Chruch) ที่อเมริกา
 
ปี 2558 น้องเป่ากลับมาและไปอยู่ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เปิดโรงเรียนสอนดนตรีและขายเครื่องดนตรีในนาม “กลอรี มิวสิค (Glory Music)” แล้วลูกพี่ลูกน้องอีกคนคือ “น้องเพชร-นายธนพล เมืองไพศาล” ก็เพิ่งเรียนจบเอกเบสมาจากคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
 
ส่วนเหตุการณ์ที่ 2 คือ น้าสะใภ้เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนธิดาแม่พระ จ.สุราษฎร์ธานี ได้มาปรึกษาขอความช่วยเหลือให้ “สายฟ้า พลจันทร์” เจ้าของธุรกิจโรงเรียนดนตรีชื่อ “โรงเรียนดนตรีและศิลปะซิมโฟนี่ (Symphony Music And Art School)” ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2553 แต่ภายหลังขาดสภาพคล่องรุนแรง ทางครอบครัวปรึกษากันแล้วเห็นว่า “ระบบซิมโฟนี่ เลิร์นนิ่ง (Symphony Learning)” ที่น้องสายฟ้าสร้างขึ้นน่าสนใจ จึงให้ความช่วยเหลือเป็นเงินยืมก้อนหนึ่ง แต่ในที่สุดก็พาโรงเรียนไปต่อไม่ไหว ทางครอบครัวเลยต้องรับธุรกิจโรงเรียนดนตรีนี้มาดูแลในเดือน ต.ค.2559
 

 
พอนำ 2 เหตุการณ์นี้มาร้อยเรียงกัน เราก็เลยเชื่อว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าเรียกหาและมอบพันธกิจด้านดนตรีมาให้ครอบครัวจริงจิตรเป็นผู้ดำเนินการ หลังจากนั้นครอบครัวเราจึงเดินหน้าเต็มที่ น้องสาวคือ “น้องแจว-ศรีจันทร์ จริงจิตร” ก็เลยทุ่มเม็ดเงินเกือบๆ 100 ล้านบาทเข้าไปในโรงเรียนดนตรีและศิลปะซิมโฟนี่ และจดทะเบียนเป็น“บริษัทดนตรีและศิลปะซิมโฟนี่” ขึ้นมาเป็นผู้ถือใบอนุญาตโรงเรียน โดยเราเองกับน้องศรีจันทร์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม และแต่งตั้งน้องเพชรขึ้นมาเป็นครูใหญ่แทนน้องสายฟ้า แล้วให้น้องสายฟ้าเป็นที่ปรึกษา
 
ส่วนน้องเป่าเองก็จดทะเบียน “บริษัทกอสเปล สตูดิโอ” ทำธุรกิจรับทำเพลงให้โรงเรียนต่างๆ ที่สนใจ และทำเพลงสำหรับถวายเกียรติพระเจ้าด้วย และตั้ง “บริษัทซิมโฟนี่มิวสิค ชอป” ทำธุรกิจจำหน่ายเครื่องดนตรี โดยนโยบายหลักเน้นขายเครื่องดนตรีในราคาเท่ากรุงเทพฯ ไม่เน้นกำไร เน้นให้เยาวชนได้ใช้เครื่องดนตรีราคาถูก คุณภาพดี และมีศูนย์บริการรองรับ
 
ปัจจุบันธุรกิจยังขาดทุนอยู่ แต่เราก็มุ่งมั่นที่จะทำต่อไป ต้องบอกว่าเป้าหมายเราไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่ต้องรักมากๆ และมีศรัทธาในภารกิจ จึงจะอดทนทำธุรกิจนี้ได้
 

 
: “ระบบซิมโฟนี่ เลิร์นนิ่ง” นี่คืออะไร แล้วทำไมครอบครัวจึงกระโดดข้ามไลน์จากธุรกิจยางมาสู่ธุรกิจดนตรีนี้ด้วย
 
ถ้าจำไม่ผิด คือเราเคยฟัง คุณบัณฑิต อึ้งรังษี พูดว่า ประเทศเวเนซูเอล่าหรืออาร์เจนติน่านี่แหล่ะ เมื่อ 10-20 ปีก่อนประเทศเค้าเต็มไปด้วยอาชญากรรม แล้วรัฐบาลบรรจุหลักสูตรดนตรีคลาสสิคเข้าไปให้นักเรียนได้เรียนทั่วประเทศ เวลาผ่านไป 10 ปีสถิติอาชญากรรมลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งตรงนี้นับว่าน่าสนใจมาก
 
ครอบครัวเราเป็นคริสเตียน และรู้ว่าดนตรีนั้นจำเป็นมากในการเป็นเครื่องมือช่วยกล่อมเกลาเยาวชน แล้วระบบซิมโฟนี่ เลิร์นนิ่ง ที่น้องสายฟ้าคิดขึ้นนั้น ถือเป็นระบบที่จะตอบโจทย์สำหรับประเทศไทยเรา จริงๆ อยากให้เรื่องนี้ไปถึงหูผู้บริหารประเทศด้วยซ้ำ 
 

 
“ระบบซิมโฟนี่ เลิร์นนิ่ง” คือระบบที่เข้าไปเหมาสอนดนตรีในโรงเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วมีการลงเครื่องดนตรีมูลค่าหลายล้านบาท หรือตั้งแต่ 3-10 ล้านบาทให้โรงเรียนคู่สัญญาฟรีๆ เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เครื่องดนตรีมีคุณภาพสูง แล้วเราจัดครูจบทางดนตรีเข้าไปให้ทำงานในโรงเรียนนั้นๆ จำนวน 2-20 คน โดยให้ครูดนตรีสอนตั้งแต่เวลา 7.45-18.00 น. วันเสาร์ก็สอนให้อีกด้วย 
 
ที่สำคัญจะมีการสร้างวงดนตรีต่างๆ ให้โรงเรียนด้วย เช่น วงสตริง วงลูกทุ่ง วงโยธวาทิต วงออเครสตร้า วงประสานเสียง จนไปถึงการค้นหาเด็กในโรงเรียนนั้นๆ ที่มีความสามารถ แล้วนำปลุกปั้นผลักดันให้เป็นศิลปิน อีกทั้งหากโรงเรียนนั้นๆ มีกิจกรรมหรืองานอีเวนต์อะไร เราพร้อมให้บริการแบบวันสต็อปเซอร์วิส (One Stop Service) ตั้งแต่จัดการเวที ระบบไฟ ช่างภาพนิ่ง ช่างภาพวีดีโอ หรือนำเพลงประจำโรงเรียนมารีอเรนจ์ และบันทึกเสียงใหม่ ฯลฯ ทั้งหมดที่พูดมานี้เราเก็บค่าใช้จ่ายเป็นรายหัวเด็กคนละ 2,000-4,000 บาทต่อ 1 เทอม หรือต่อ 6 เดือน
 
อย่างไรก็ตามหากเด็กคนไหนที่ไม่พร้อมจริงๆ เราก็ให้ครูในโรงเรียนนั้นคัดชื่อมาให้ แล้วทางบริษัทดนตรีจะมอบทุนให้เรียนฟรี ซึ่งปัจจุบันนักเรียนที่เราสอนนั้นครอบคลุม 5 จังหวัดคือ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์และฉะเชิงเทรา มีนักเรียนทั้งหมดประมาณ 12,000 คน ในส่วนที่เราให้ทุนเรียนดนตรีฟรีก็มีประมาณเกือบๆ 800 คนแล้ว
 

 
: ถือเป็นระบบการเรียนการสอนดนตรีแบบครบวงจรในโรงเรียนจริงๆ หากโรงเรียนไหนสนใจจะเข้าร่วมต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรก่อนไหม บริษัทดนตรีถึงจะเข้าไปลงเครื่องดนตรีให้
 
ไม่ต้องจ่ายมัดจำแม้แต่บาทเดียว 
 
ระบบซิมโฟนี่ เลิร์นนิ่ง จริงเป็นแบบนี้คือ เซ็นสัญญาเสร็จ โรงเรียนไม่ต้องจ่ายค่ามัดจำใดๆ ทั้งสิ้น จากนั้นทางน้องสายฟ้าจะเข้าไปสำรวจสถานที่ กำหนดห้องดนตรีร่วมกับโรงเรียน แล้วกำหนดรูปแบบวงดนตรีต่างๆ ตามที่โรงเรียนนั้นๆ ต้องการ เมื่อเสร็จแล้วก็จะนำช่างเข้าไปติดตั้งระบบไฟต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ เมื่อแล้วเสร็จเครื่องดนตรีทุกประเภทก็จะถูกนำไปติดตั้งเลย
 
สำหรับการจ่ายค่าตอบแทนให้บริษัทดนตรีเรากำหนดไว้ 3 รูปแบบ แต่สรุปรวมๆ ได้ดังนี้ เปิดเทอมไปแล้ว 1-2 เดือนทางโรงเรียนค่อยเก็บค่าเรียนมาทยอยจ่ายให้บริษัทดนตรีเรา
 

 
: อย่างนี้โรงเรียนแทบไม่มีภาระเลย แล้วส่วนที่นักเรียนต้องจ่าย 2-4,000 บาทนี่ นักเรียนแต่ละคนมีสิทธิ์เรียนได้กี่เครื่องดนตรี
 
ที่เรากำหนดไว้คือ ในระดับชั้น ป.1- ม.6 นักเรียนทุกคนต้องเรียนเปียโน เนื่องจากเปียโนเป็นศูนย์กลางของเครื่องดนตรีแทบทุกประเภท และกำหนดคุณภาพความคาดหวังของหลักสูตรว่า ภายใน 3 ปีนักเรียนที่เรียนกับระบบ Symphony Learning จะต้องบรรเลงเพลงคลาสสิคง่ายๆ ได้ และในช่วงเย็นหลังเลิกเรียนนักเรียนสามารถเลือกเรียนเครื่องดนตรีได้ตามความชอบ และไม่จำกัดจำนวน ที่สำคัญคู่มือและอุปกรณ์มอบให้เลยไม่มีการเรียกเก็บเพิ่มอีก และค่าดูแลรักษาบริษัทดนตรีเองก็ดูแลทั้งหมด
 

 
:  หมายความว่านักเรียนเสียค่าใช้จ่ายเทอมละครั้ง แล้วจะเรียน 4-5 เครื่องดนตรีก็ได้
 
ใช่ค่ะ ต้องขอเน้นให้เข้าใจว่าธุรกิจดนตรีที่ครอบครัวเราทำอยู่นี้ไม่หวังผลกำไร ขอแค่เลี้ยงตัวเองได้ก็พอใจแล้ว ผลประโยชน์หลักที่เราคาดหวังคือ “เด็กต้องได้ประโยชน์สูงสุด” และเรามองว่าเราอยากเข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระผู้บริหารโรงเรียนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สำคัญเราเชื่อมั่นว่า “ดนตรีสร้างคน คนจะสร้างชาติ” 
 

 
: ทราบข่าวว่า 7 ก.พ.2562 นี้จะมีการแถลงข่าวงานวิจัยหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ
 
ใช่ค่ะ วันพฤหัสฯ ที่ 7 ก.พ. 2562 นี้เราจะมีพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง บริษัทดนตรีและศิลปะซิมโฟนี่ โดยกระทำในนามโรงเรียนดนตรีและศิลปะซิมโฟนี่ กับ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยในเฟสแรกทางมหาวิทยาลัยจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาเก็บข้อมูลตามโรงเรียนทั้ง 9 แห่งทั่วประเทศที่ใช้ระบบ Symphony Learning เพื่อทำวิจัยหลักสูตรดนตรีที่ใช้อยู่ ส่วนในเฟส 2 จะทดลองหลักสูตรกับโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมในทุกภาคของประเทศไทย โควต้าภาคละ 3 โรงเรียน และเมื่อทำวิจัยเสร็จก็จะเข้าสู่กระบวนการวิพากษ์หลักสูตร เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
 

 
: ได้ข่าวว่าบริษัทดนตรีและศิลปะซิมโฟนี่กำลังซุ่มออกแบบระบบการเรียนดนตรีให้ราคาถูกกว่านี้อีก
 
เท่าที่ได้รับฟังเสียงสะท้อนมา ถือว่านักเรียนได้เรียนดนตรีในราคาที่ถูกมากๆ อยู่แล้ว อย่างราคาที่ต้องจ่ายต่อเทอมเทียบกับการไปลงเรียนดนตรีข้างนอกแค่ 2 เครื่องดนตรีก็เกินคุ้มแล้ว แถมนักเรียนยังจะต้องลงทุนซื้อเครื่องดนตรีเองอีก บางคมอาจจะถึงหลักแสนบาท การจ่ายแค่ 2-3 พันบาทต่อเทอมแล้วได้เรียน ได้ใช้เครื่องคนตรีหลากหลายชนิดนี่ ไม่รู้จะบอกว่าสุดยอดของความคุ้มขนาดไหน
 
ตอนนี้น้องสายฟ้าและคณะที่ปรึกษา รวมถึงทีมงานของบริษัทดนตรีเรากำลังออกแบบระบบใหม่อยู่ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนดนตรีในราคาลดลงมาอีก โดยต่อไปอาจจะเหลือแค่ 3-500 บาทต่อ 6 เดือนเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้เยาวชนทุกคนในประเทศไทยเราสามารถเข้าถึงดนตรีได้ ตามคำกลอนที่ท่านสุนทรภู่กล่าวสดุดีดนตรีไว้ในเรื่องพระอภัยมณีว่า “อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์” 
 
ดนตรีที่ดีจะสร้างเยาวชน ขัดเกลานิสัยให้เยือกเย็น และดนตรีเป็นสมบัติของมนุษย์ทุกคนในโลกนี้ นี่เป็นหน้าที่คณะผู้บริหารของซิมโฟนี่ต้องทำโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และถือว่าเกิดมาแล้วจะไม่เสียชาติเกิดด้วย ดังปณิธานที่ว่า...
 
“จะต้องทำให้เด็กๆ ในประเทศไทยนี้ทุกๆ คนที่เกิดมา จะต้องเล่นเครื่องดนตรีได้อย่างน้อย 1 ชิ้น และสามารถอ่านโน้ตดนตรีสากลได้เหมือนอ่านหนังสือ หยิบแผ่นโน้ตขึ้นมาดู ไม่ต้องมีเครื่องดนตรี ก็ต้องได้ยินเสียงดนตรีบรรเลงอยู่ในหัว เยาวชนทุกๆ คนต้องมีสิทธิ์ในการเข้าถึงการเรียนดนตรีได้เหมือนๆ กัน สถานะทางเศรษฐกิจจะไม่ใช่ตัวแปรของการเข้าถึงดนตรีอีกต่อไปแล้ว”
 

 
ความจริงแล้ว “ระบบซิมโฟนี่ เลิร์นนิ่ง (Symphony Learning)” ควรต้องเป็นภารกิจของระดับรัฐบาล หรืออย่างน้อยกระทรวงศึกษาธิการควรต้องเข้ามารับผิดชอบ แต่อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ในระบบการเมืองไทยแบบไทยๆ ยิ่งช่วงปี่กลองเลือกตั้งกำลังโหมประโคมกันครึกครื้นเวลานี้ ภารกิจในการปฏิรูปการศึกษาที่สมควรจะนำระบบซิมโฟนี่ เลิร์นนิ่ง เข้าสู่ทุกโรงเรียนยังควรต้องเป็นเรื่องของประชาชนกันต่อไป
 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

  
(อยากรู้ในรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อไปได้ที่ โรงเรียนดนตรีและศิลปะซิมโฟนี่ 077-272793 หรือไปพบกันในงานวันที่ 7 ก.พ.2562 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมอาคารชั้น 3 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ทักษิณ อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งวันนั้นยังสามารถชม Live สด! ทางเพจเฟซบุ๊ก “MGR Online ภาคใต้” ได้อีกทางหนึ่ง)



กำลังโหลดความคิดเห็น