คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและชุมชน ภาคใต้
ประเทศไทยว่ากันว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย (สลับกับการยึดอำนาจโดยกองทัพ) มาเกือบร้อยปี แต่ก็พัฒนาไปไม่ถึงไหน ยังล้าหลัง ย่ำแย่ในทุกด้าน และกำลังเข้าสู่วิกฤตทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา กระบวนการยุติธรรมและวัฒนธรรม เพราะเราไม่สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยและการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล
โครงสร้างทางการปกครองของเรา มีการปกครอง 3 รูปแบบทับซ้อนกัน คือ การปกครองส่วนกลาง การปกครองส่วนภูมิภาค และการปกครองส่วนท้องถิ่น โดย การปกครองส่วนกลาง ประกอบด้วย กระทรวง ทบวง กรม เป็นผู้กำกับนโยบายและรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ กทม. และทำเนียบรัฐบาล การปกครองส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน อยู่ในความรับผิดชอบดูแลกำกับบัญชาการโดยกระทรวงมหาดไทย การปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย กทม. เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาลทและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทยเช่นกัน
ในโครงสร้างของการปกครองทั้งสามส่วน การปกครองส่วนภูมิภาคเป็นโครงสร้างที่ทับซ้อนกับการปกครองส่วนท้องถิ่นมากที่สุด จนแทบจะแยกกันไม่ออก โดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเหมือนสมาชิก อบต.หรือเทศบาล แต่บทบาทหน้าที่กลับตอบสนองภารกิจของนายอำเภอ และผู้ว่าฯ มากกว่าจะเป็นปากเสียงในฐานะตัวแทนชาวบ้านอย่าง อบต.และ ส.ท. หรือ ส.จ.
ในส่วนของอำนาจหน้าที่ผู้ว่าฯ และนายอำเภอไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดในการแก้ปัญหาของชุมชนท้องถิ่น เป็นได้แค่ผู้ประสานงานระหว่างส่วนกลางกับท้องที่หรือชาวบ้าน และส่วนใหญ่มักจะตอบสนองความต้องการของผู้บังคับบัญชา มากกว่าความต้องการของประชาชนในความดูแลรับผิดชอบ
ดังจะเห็นได้จากการบรรเทาความเดือดร้อนจากนโยบายของรัฐบาล และการดำเนินการตามกฎหมายต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เรื่องราวความเดือดร้อนเหล่านั้นไม่สามารถจะตัดสินชี้ขาด หรือจบกันบนที่ว่าการอำเภอ โดยนายอำเภอเป็นตัวแทนภาครัฐ หรือบนศาลากลางจังหวัด โดยมีผู้ว่าฯ เป็นตัวแทนภาครัฐ แต่ประชาชนต้องตากหน้าไปที่กระทรวงและหน้าทำเนียบ และมักจะจบลงแบบไม่ค่อยสวยงามสักเท่าไร
คงจะมีนายอำเภอ และผู้ว่าฯ หลายคนที่มีความรู้ความสามารถ และอยากจะตอบสนองความต้องการของประชาชนในการแก้ปัญหา แต่เนื่องจากวัฒนธรรมอำนาจของประเทศไทยที่สืบทอดกันมายาวนาน และพฤติกรรมข้าราชการไทยที่ไม่ใส่ใจกับประชาชนผู้ด้อยโอกาสและเสียเปรียบ ผู้เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้ระบบราชการของการปกครองส่วนภูมิภาคกลายเป็นความสูญเปล่าเชิงโครงสร้าง และไม่สร้างความน่าเชื่อถือในหมู่ประชาชนผู้ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อน โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากโครงการหรือแนวนโยบายในการพัฒนาที่ไม่เอื้อต่อความผาสุกของประชาชน และนำมาซึ่งความเดือดร้อนหายนะของประชาชนและชุมชน ในโครงการที่มีการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนกับภาคประชาชนและประชาสังคม
ส่วนการปกครองส่วนท้องถิ่นที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนท้องถิ่นโดยตรง ทันต่อเหตุการณ์และเป็นโรงเรียนฝึกฝนความเป็นประชาธิปไตยของประชาชน ก็ถูกทำให้เป็นที่รังเกียจเหยียดหยามในสายตาของนักปกครองและประชาชนว่า เป็นที่ซ่องสุมของผู้รับเหมา นายบ่อน ผู้ทรงอิทธิพล อันธพาล ผู้แสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณของรัฐส่วนกลางและท้องถิ่น ฯลฯ (ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และผู้ที่สร้างภาพลักษณ์แบบนี้ก็มาจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนั่นแหละ)
เมื่อเป็นเช่นนี้ ประเทศไทยจึงถูกบริหารจัดการโดยส่วนกลางที่อยู่ไกลจากปัญหา เข้าไม่ถึงปัญหาหรือเจ้าของปัญหา เข้าถึงแค่ผู้รู้ปัญหา ซึ่งเป็นนายหน้าค้าความทุกข์ยากเดือดร้อนและค้าโครงการ การปกครองส่วนภูมิภาคที่ไม่ได้มาจากความต้องการของประชาชน และไม่ได้ทำหน้าที่ในนามตัวแทนเป็นปากเสียงของประชาชน แต่ทำหน้าที่เป็นมือเท้าและเครื่องมือของส่วนกลางที่เป็นพวก “ตาบอดคลำช้าง” และส่วนท้องถิ่นที่ถูกทำให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลและเป็น “นายคนใหม่” ของประชาชน พยายามสถาปนาระบบเจ้าใหญ่นายโต หรือขุนนางกลางทุ่งนั่งอยู่เหนือหัวประชาชน สมคบกับนายทุนขุนศึก เพื่อไต่เต้าไปสู่ระดับชาติต่อไป
ประชาชนคนชั้นล่างผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเป็นประชากรติดแผ่นดินจริงๆ จึงไม่สามารถพึ่งพิงอำนาจรัฐทั้งสามส่วนนี้ได้อย่างเต็มที่ ตรงตามเป้าหมายและภาษีที่ต้องสูญเสียไปเพื่อดูแลความเป็นอยู่และการบริหารจัดการของการปกครองทั้งสามส่วน ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้และพึงเป็นในสังคมประชาธิปไตย
ดังนั้น จึงถึงเวลาที่ต้องทบทวนว่า เราควรจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการปกครอง โดยการคงไว้แต่ส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น ไม่ต้องมีส่วนภูมิภาค หรือถ้ายืนยันจะให้คงไว้ต่อไป ก็ต้องปรับเปลี่ยนบทบาท สถานภาพตามความเหมาะสมตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และส่งมอบอำนาจนั้นให้แก่การปกครองส่วนท้องถิ่น (รูปแบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ฉบับปี 2540 ไม่ใช่โครงสร้างส่วนท้องถิ่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน)
เพราะในความเป็นจริงพื้นที่ในการบริหารจัดการมีเฉพาะส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเท่านั้น ส่วนของส่วนภูมิภาคคือของส่วนท้องถิ่นทั้งหมด เพียงแต่ที่ผ่านมา มีการสัมปทานอำนาจ เพื่อรองรับคนของบางกระทรวง ไม่ใช่เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้ประชาชนอย่างที่อวดอ้างกันมาเกือบร้อยปี.