ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “กรมชลประทาน” อย่าอ้างพระราชดำริพร่ำเพรื่อ เพราะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต้องสง่างาม และไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน อย่างที่หลายหน่วยงานกำลังกระทำอยู่ในขณะนี้
วันนี้ (29 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากผู้ใช้เฟซบุ๊กในชื่อ “บัก หำน้อย” ได้โพสต์เรื่องราวประเด็นร้อนความเคลื่อนไหวของภาคประชาชน เครือข่ายปกป้องดิน น้ำ ป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง ที่พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการเขื่อนวังหีบ คลองผันน้ำเมืองนคร อ่างเก็บน้ำคลองสังข์ อ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว และประตูน้ำปากประในพื้นที่ โดยระบุว่า...
กรมชลประทานอย่าอ้างพระราชดำริพร่ำเพรื่อ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต้องสง่างาม ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
ปัจจุบันกรมชลประทาน มีการดำเนินโครงการโดยอ้างว่า “เนื่องมาจากพระราชดำริ” หลายโครงการ แต่เมื่อตรวจสอบดูแล้วพบว่าจำนวนมากเป็นพระราชดำรินานมาแล้วเก่ากว่า 20-30 ปี แต่กรมชลประทานเพิ่งนำมาอ้าง และอ้างแค่พาดหัว ในเนื้อหาไม่ได้เดินตามรอยพระราชปณิธาน เช่น มีการทุจริตในการทำ EIA ของอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว โดยก๊อบปี้มาจากเอกสารของจังหวัดเพชรบูรณ์ ระบุว่าจังหวัดพัทลุง ถือเป็นแหล่งปลูกพืชผักที่สำคัญจังหวัดหนึ่งของภาคเหนือ และมีมะขามหวานเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ (bra bra bra)
การที่กรมชลประทาน อ้างพระราชดำริที่ผ่านเวลามาเนิ่นนาน จึงมีคำถามว่า กรมชลประทานไปหลับอยู่ที่ไหน บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ทำไมไม่สนองพระราชดำริให้ทันการณ์ (ถ้าสมัยก่อนต้องประหาร)
มีข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของกรมชลประทาน ว่าไม่คำนึงถึงภูมิสังคม ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ไม่สอดคล้องกับพระราชปณิธานหรือที่เราเรียกกันว่าศาสตร์พระราชา ทั้งในรูปแบบการปฏิบัติและวิธีคิด อาทิ การเผด็จการรวบยอด คิดแบบบนลงล่าง (Top-Down) ยืนกระต่ายขาเดียวว่าข้าถูก สายตาคับแคบไร้วิสัยทัศน์แบบม้าลำปาง ใช้อำนาจรัฐ อำนาจทหารเข้าไปจัดการกับชาวบ้าน เราลองช่วยกันคิดดูว่ามีกี่โครงการในอดีตที่กรมชลประทาน ล้างผลาญประเทศไทย ทำลายวิถีชีวิตชุมชนวิถีชีวิตชาวบ้าน
ยกตัวอย่างที่ชุมชนไชยมนตรี นครศรีธรรมราช ที่ที่จะขุดคลองผันน้ำ 9,580 ล้าน กรมชลประทาน เคยไปเวนคืนที่ดินเมื่อปี 2524 เพื่อทำคลองส่งน้ำที่ต่ำกว่านา ผลร้ายที่ตามมาก็คือนาชาวบ้านไม่มีน้ำ เพราะน้ำลงคลองส่งน้ำหมด ผู้คนต้องเดือดร้อนขาดรายได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น บางคนไปรับจ้างรายวัน บางคนไปเป็นกรรมกรก่อสร้าง บางคนมาทำสวน ปลูกมังคุด ปลูกยางฯ ซึ่งต้องใช้เวลาตั้งหลายปีกว่าจะให้ผลผลิต จากที่ชาวบ้านอยู่ดีกินดี อยู่อย่างสงบสุข ต้องมาล้มละลายเพราะกรมชลประทาน
ขอยกตัวอย่างอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ ซึ่งอ้างว่าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกโครงการ โครงการนี้มีผู้ใหญ่บ้านยื่นหนังสือถวายในหลวง ร.๙ เมื่อปี 2523 เพื่อต้องการน้ำทำนา จนบัดนี้นาหายไปหมดแล้ว กรมชลประทานเพิ่งกระดิกมาจะทำโครงการ แถมยังจะไล่ชาวบ้านซึ่งราชการให้อพยพมาจากพิปูนหลังอุทกภัยปี 2531 อีก การกระทำเช่นนี้แสดงให้ถึงความห่วยแตกของระบบบริหารราชการไทย และความไร้ประสิทธิภาพในการวางแผนดำเนินงานของกรมชลประทาน การเข้ามาไล่ชาวบ้าน ทำกับชาวบ้านอย่างหมูอย่างหมาเช่นนี้ จึงทำให้มีคำถามว่า คนของกรมชลประทาน ยังมีจิตสำนึกแห่งความเป็นคนอยู่หรือไม่ ทำไมไม่เห็นคนด้วยกันเป็นคน
ขออ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ และคำพูดของ อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ผู้สนองงานใกล้ชิดรัชกาลที่ ๙ ว่า “...นี่มันเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระองค์ท่านรับสั่งไว้เก่า ผมจำไม่ผิด พ.ศ.2520 เศษๆ ที่ไหนผมไม่ทราบ เพราะผมยังไม่ได้เข้าไปชัดเจน แล้วก็ที่นี่ถ้าจะพูดกันแล้ว พระองค์ท่านก็เคยรับสั่งว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือโครงการตามแนวคิดของพระองค์ท่าน ต้องไปสืบสาววิเคราะห์ทุกสิ่งทุกอย่างทุกประเด็นให้มันสอดคล้องต้องกัน เรื่องสำคัญคือภูมิสังคม มันต้องเป็นไปได้ ตอบโจทก์ได้ ภูมิสังคมคืออะไร สภาพภูมิศาสตร์ภูมิประเทศหนึ่ง สังคมคือผู้คนหนึ่ง สิ่งแวดล้อมหนึ่ง เพราะฉะนั้นผนวกกันไปแล้วต้องตอบโจทก์ได้ เวลานี้ผมถึงแม้จะเป็นอดีตอธิบดีกรมชลประทาน ผมก็มองดูแล้วในยุคปัจจุบันที่เค้าทำกันเนี่ย มันประหลาด... (กรณีเขื่อนวังหีบ)
...หลักการสำคัญเนี่ยในหลวงรัชกาลที่ ๙ รับสั่งไว้เลย จะทำอะไรก็ต้องให้ผู้คนในท้องที่เขามีส่วนร่วมด้วย ยินยอมด้วย ตกลงด้วย ที่นี้การเรื่องนี้บกพร่อง การทำงานของกรมชลประทานเนี่ย มันคล้ายๆ ว่าทำในรูปแบบของการประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่รูปแบบของการมีส่วนร่วม ประชาพิจารณ์ ออกความเห็นกันชัดๆ มันเป็นในรูปแบบของการประชาสัมพันธ์ พูดในแง่มุมว่าหยั่งงี้ ยังงี้ ยังงี้ ผู้คนในท้องที่ไม่รู้เรื่อง รู้เรื่องน้อย อันนี้เป็นปัญหา ครม.เอาเข้าไปยังไงผมไม่ทราบ... ไม่อยากวิจารณ์มาก ผมก็เป็นอดีตอธิบดีกรมชลประทาน เราก็คิดว่า เอ.. ไอ้น้องๆ ผมมันทำยังไงกันเนี่ย! มันก็เป็นปัญหา ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมหรอกครับ คำว่าประชาชนมีส่วนร่วมในที่นี้ก็ต้องเป็นในลักษณะของประชาพิจารณ์ มาจับกลุ่มกัน พูดคุยกัน มาถกกันเลยว่าอะไรเป็นอะไร อันนี้มันมีกอง กองการมีส่วนร่วมของกรมชลประทาน อันนี้มันลักษณะประชาสัมพันธ์นี่หว่า...”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีความรัก และห่วงใยราษฎร ไม่ทรงกระทำสิ่งใดที่เป็นการเบียดเบียนราษฎร ดังพระราชดำริที่สะท้อนถึงพระราชธรรมอันสูงส่ง เช่น
“โดยการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น มีหลักและวิธีการที่สำคัญๆ คือการพัฒนาแหล่งน้ำจะเป็นรูปแบบใด ต้องเหมาะสมกับรายละเอียดสภาพภูมิประเทศแต่ละท้องที่เสมอ และการพัฒนาแหล่งน้ำต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในด้านเศรษฐกิจ และสังคมของท้องถิ่น หลีกเลี่ยงการเข้าไปสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับคนกลุ่มหนึ่ง โดยสร้างประโยชน์ให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับการลงทุนนั้นจะมีความเหมาะสมเพียงใดก็ตาม” (17 มีนาคม 2529 สวนจิตรลดา)
“...มีคนบอกว่าโครงการพระราชดำริแตะต้องไม่ได้ ข้อนี้เป็นความคิดที่ผิด หรือเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะหากโครงการพระราชดำริแตะต้องไม่ได้ เมืองไทยไม่เจริญ พระราชดำรินั้น ก็เป็นความคิดของพระราชา ถ้าความคิดของพระราชาแก้ไขไม่ได้ ก็หมายความว่าเมืองไทยมีความก้าวหน้าไม่ได้...” (4 ธันวาคม 2536 สวนจิตรลดา)
“...ไอ้ทำคลองใหญ่ของช่าง ที่ว่าจะทำคลองอะไรกว้าง 100 เมตร ไม่ต้อง บวกบวกบวกบวกกันให้เป็น 100 เมตร...” (คลิปวีดีโอ คิดถึงรอยยิ้มและน้ำเสียงของพ่อ ของสำนักพุทธ - https://www.facebook.com/BuddhistBasic/videos/1971057393194450/?t=0)
ดังนั้นหากรัฐบาล กรมชลประทาน และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดึงดันที่จะทำโครงการเผด็จการ เช่น เขื่อนวังหีบ คลองผันน้ำเมืองนคร อ่างเก็บน้ำคลองสังข์ อ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว ประตูน้ำปากประ หรืออื่นๆ โดยบีบบังคับประชาชน จะโดยการใช้กลไกอำนาจของกระทรวงมหาดไทย การข่มขู่กดดันด้วยวิธีการต่างๆ หรือการให้ทหารในกระทรวงกลาโหม มาวนเวียนลงพื้นที่ ก็ล้วนไม่ใช่แนวทางของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทั้งสิ้น พระองค์ไม่เคยบีบบังคับประชาชน ข้าราชการพวกนี้กำลังทำให้พระราชดำริมัวหมอง ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ เราจึงยากจะยอมรับกับวิธีเผด็จการโดยไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบให้รอบคอบ ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ รับฟังเสียงประชาชน เพราะแม้แต่พระเจ้าอยู่หัวเองก็ไม่เคยทำร้ายประชาชน เหมือนเช่นที่พวกเขากระทำอยู่ในขณะนี้
ด้วยภราดรภาพ
วรา จันทร์มณี
เครือข่ายปกป้องดิน น้ำ ป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง