ยะลา - “ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส” เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมจากฐานล่างสู่สันติภาพยั่งยืน” เพื่อเป็นแนวทางในการขยายผลการพัฒนาด้านเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่
วันนี้ (28 ม.ค.) พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้การต้อนรับ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ และผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน น.ส.ลามียา โมเชด ผู้อำนวยการบริหารยุนุส เซนเตอร์ และ ดร.ฟาอิซ ชะห์ ผู้อำนวยการยูนุส เซนเตอร์ สำนักงานใหญ่ AIT
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส และคณะ ได้เดินทางมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 27-28 มกราคม 2562 โดยภารกิจหลักในครั้งนี้ คือ การปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมจากฐานล่างสู่สันติภาพยั่งยืน” ในวันที่ 28 มกราคม 2562 ให้แก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่บุคลากรของ ศอ.บต. และผู้แทนองค์การในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง มีผู้เข้าร่วมรับฟังกว่า 500 คน
สำหรับกิจกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องจาก ศอ.บต. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เชิญ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส เดินทางมาเยือนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ทางด้านการพัฒนาฐานรากของสังคม โดยศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนูส เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวมุสลิม จากประเทศบังกลาเทศ และเป็นผู้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ จากผลงานการก่อตั้งธนาคารกรามีน ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อผู้ยากไร้แห่งแรกของโลก ซึ่งเป็นผู้ริเริ่ม และพัฒนาแนวคิด “ไมโครเครดิต” หรือการให้กู้เงินโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยจะให้กู้แก่ผู้ประกอบการหรือชาวบ้าน ซึ่งยากจนเกินกว่าจะมีคุณสมบัติพอเพียงที่จะกู้เงินจากธนาคารทั่วไป
ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนูส ยังเป็นผู้ก่อตั้ง “กรามีนแบงก์” หรือธนาคารกรามีน (กรามีน แปลว่า ชนบทหรือหมู่บ้าน) ทำให้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี พ.ศ.2549 สำหรับความพยายามในการสร้างพัฒนาการทางสังคม และเศรษฐกิจจากเบื้องล่าง จากการดำเนินการดังกล่าวได้มีประเทศต่างๆ นำต้นแบบไปขยายผล และนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้กว่า 40 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการจัดตั้งธนาคารคนจน การรับฟังปาฐกถาพิเศษในครั้งนี้ จึงเป็นผลดีต่อพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการที่จะได้รับองค์ความรู้เรื่องของการพัฒนาฐานรากของสังคม รวมทั้งได้สื่อสารให้แก่สังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประเทศไทย ได้เห็นแนวทางของการสร้างสันติภาพโดยบุคคลที่เป็นมุสลิม
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส และคณะ ได้เดินทางลงในพื้นที่เพื่อดูต้นแบบของการพัฒนาชุมชนฐานรากในบางแห่ง เช่น ชุมชนประมงชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลฐานรากที่มีความยากจนซึ่งกำลังพัฒนา และได้พบปะผู้นำศาสนาในพื้นที่อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 ศอ.บต. ได้ปรับบทบาทภารกิจหน้าที่ในการพัฒนาให้ไร้รอยต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเศรษฐกิจ จะมุ่งเน้นในด้านเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งชองชุมชน ดังนั้น กิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ทาง ศอ.บต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับองค์ความรู้เพิ่มเติม เพื่อนำมาปรับ และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามที่ ศอ.บต. กำลังดำเนินการขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งจะต่อยอดไปสู่ชุมชน และในระดับสูงขึ้นต่อไป