xs
xsm
sm
md
lg

“กฤษฎา” เต้นเป็นเจ้าเข้าสั่งปลัด ก.เกษตรฯ-อธิบดีกรมชลฯ หาทางเบรกผู้ชุมนุมบุกทำเนียบเช้านี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แฟ้มภาพ
 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “รมว.เกษตรฯ” เต้นหลังเครือข่ายปกป้องดิน-น้ำ-ป่าภาคใต้ออกแถลงการณ์ ฉบับ 3 เคลื่อนทัพผู้ชุมนุมบุกทำเนียบรัฐบาล ทำหนังสือด่วนที่สุดสั่งปลัดกระทรวง และอธิบดีกรมชลฯ ชี้แจง 4 เมกะโปรเจกต์น้ำ หวังได้ข้อตกลงสลายชุมนุม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 เรื่องเคลื่อนขบวนชุมนุมเดินทางจากหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเดินเท้าไปปักหลักพักค้างยังหน้าทำเนียบรัฐบาลวานนี้ (27 ม.ค.) ปรากฏว่า นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงเกษตร กับอธิบดีกรมชลประทานในทันที เพื่อให้การชี้แจงข้อเท็จจริงต่อประชาชนที่คัดค้านโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช และ จ.พัทลุง ดังนี้
 
ตามที่ได้มอบหมายให้อธิบดีชลประทานไปพบกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมคัดค้านการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในวันนี้ (28 ม.ค.) เวลา 08.00 น.นั้น เนื่องจาก รมว.เกษตรฯ ได้ติดตามประเด็นที่ประชาชนคัดค้านโครงการของกรมชลประทานแล้วทราบว่า กลุ่มประชาชนที่กำลังชุมนุมในขณะนี้ยังได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการทั้ง 4 แห่งไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และบางเรื่องก็เป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงให้อธิบดีชลประทานได้นำข้อมูลที่เป็นเรื่องจริงดังต่อไปนี้ไปชี้แจงประชาชนด้วยคือ
 
1.โครงการทั้ง 4 แห่งนั้น มีเพียง 1 โครงการเท่านั้นที่ได้รับการเสนอให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2561 คือ โครงการเขื่อนวังหีบ วงเงินประมาณการ (ย้ำเป็นประมาณการเท่านั้น) ก่อสร้าง 2,300 ล้านบาท ซึ่งมีกิจกรรมและแผนงานหลายส่วน การอนุมัติของ ครม.ดังกล่าวเป็นการอนุญาตเปิดโครงการเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานสามารถลงไปสำรวจตรวจสอบพื้นที่จริง เพื่อนำข้อมูลมาเขียนรายละเอียดในการจัดทำโครงการและแผนงานแต่ละเรื่องเพื่อขออนุมัติงบประมาณที่จะใช้ในการก่อสร้างจริงอีกครั้งหนึ่ง โดยจะต้องมีส่วนราชการอื่นๆ ร่วมพิจารณาด้วย เช่น สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ เป็นต้น
 
ในชั้นนี้จึงยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด ดังนั้น ในชั้นนี้ระหว่างที่เจ้าหน้าที่กรมชลประทานจะลงไปสำรวจพื้นที่จริงนั้น กลุ่มประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก็สามารถส่งตัวแทนมาร่วมกับคณะทำงานของเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เพื่อชี้แจงและให้ข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงหรือแก้ไขให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนได้เช่นกัน
 
2. โครงการผันน้ำเมืองนคร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเขตเทศบาลนครศรีธรรมราช อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราชนั้น ครม.ได้อนุมัติให้กรมชลประทานเข้าไปดำเนินการตามโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.2560 แล้ว จึงไม่ใช่เป็นเร่งรีบอนุมัติก่อนที่การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้แต่อย่างใด
 
เนื่องจากโครงการนี้ได้มีการดำเนินการไปหลายแผนงานแล้ว เช่น การวัดเขตโครงการ การเวนคืนที่ดินเพื่อจ่ายค่าชดเชยที่ดินที่ใช้ก่อสร้าง เป็นต้น หากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียรายใด กลุ่มใด ต้องการแก้ไขหรือยกเลิกโครงการก็ต้องแสดงเหตุผลหลักฐานต่างๆ ที่แสดงว่า การดำเนินงานของกรมชลประทานและส่วนราชการที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและสร้างความเสียหายต่อประชาชนอันไม่อาจแก้ไขหรือเยียวยาได้ กรมชลประทานและส่วนราชการนั้นๆ ก็ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายหรือรับข้อเสนอของประชาชนมาปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกต่อไป
 
3. โครงการเขื่อนคลองสังข์ อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นโครงการชลประทานขนาดกลาง เปิดโครงการโดยกรมชลประทาน ซึ่งตามระเบียบไม่ต้องเสนอ ครม.อนุมัติ และ รมว.เกษตรฯ ก็ไม่เคยเสนอโครงการนี้เข้า ครม.อนุมัติมาก่อนแต่อย่างใด ประกอบกับโครงการเขื่อนคลองสังข์เป็นโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ก.ป.ร.) สนับสนุนงบประมาณบางส่วนในปีงบประมาณ 2561 ให้กรมชลประทานดำเนินงาน ส่วนงบประมาณที่เหลือจะใช้งบประมาณปกติในปี 2562
 
หากกลุ่มประชาชนมีข้อมูลว่าโครงการนี้ไม่ถูกต้อง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในเรื่องใดบ้าง ก็ให้เสนอมาได้ เพื่อกรมชลประทาน จะได้นำข้อเสนอดังกล่าวมาพิจารณาร่วมกับสำนักงาน ก.ป.ร.ให้มีความถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
 
4. โครงการประตูกันน้ำปากประ จ.พัทลุง เป็นโครงการที่กรมชลประทานเพิ่งเริ่มทำการศึกษาเท่านั้น กรมชลประทานและ รมว.เกษตรฯ จึงยังไม่ได้นำเสนอ ครม.อนุมัติแต่อย่างใด ซึ่งที่มาของการศึกษาก็เนื่องจากปี 2545 มีประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณคลองปากประ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ร้องเรียนว่ามีน้ำเค็มเข้ามาในพื้นที่ทำการเกษตร ทำให้ขาดแคลนน้ำจืดเพื่อการบริโภคและการเกษตร กรมชลประทานจึงได้กำหนดแผนงานให้ทำการศึกษาก่อนในเบื้องต้น
 
ดังนั้น หากประชาชนในพื้นที่และผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงยืนยันว่า ปัจจุบันปัญหาน้ำเค็มที่บริเวณคลองปากประไม่เป็นปัญหาแล้ว กระทรวงเกษตรฯ ก็จะสั่งการให้กรมชลประทานยกเลิกโครงการนี้ได้ทันที ตามที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องต่อไป
 
อนึ่ง ในการชี้แจงประชาชนครั้งนี้ หากประชาชนไม่มั่นใจ หรือไม่เชื่อถือในข้อมูลตามที่ชี้แจงมาข้างต้น ก็ให้กรมชลประทานทำเป็นหนังสือยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรต่อกลุ่มประชาชนได้
 
ขณะเดียวกัน ก็ขอให้อธิบดีกรมชลประทานชี้แจงกับผู้แทนกลุ่มประชาชนให้ชัดเจนว่า หากประชาชนในพื้นที่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มยืนยันว่า ไม่มีปัญหาความเดือดร้อนใดๆ เกิดขึ้นในพื้นที่แล้ว เช่น ปัญหาน้ำเค็มคลองปากประ ก็สามารถสั่งยกเลิกโครงการได้ เพราะกรมชลประทานเป็นหน่วยราชการที่ต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มเป็นเป้าหมายในการทำงาน และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายและระเบียบราชการกำหนดไว้ด้วย มิฉะนั้นก็จะเกิดความเสียหายและถูกประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ฟ้องร้องได้เช่นกัน
 


กำลังโหลดความคิดเห็น