xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการแนะรัฐต้องดูแลรักษาเขื่อนที่มีอยู่แล้วให้ปลอดภัย อย่าเป็น “ลูกอีช่างสร้าง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ แนะหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับเขื่อน ไม่ใช่การสร้างเพิ่มแต่ต้องดูแลรักษาเขื่อนที่มีอยู่แล้วให้ปลอดภัย อย่าเป็น “ลูกอีช่างสร้าง” เดินหน้าสร้างอย่างเดียวแต่ไม่รับผิดชอบสิ่งที่สร้างไปแล้ว

วันนี้ (27 ม.ค.) อ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “Chainarong Setthachua” เกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับเขื่อน โดยมีใจความว่า

ถ้ารัฐบาล กรมชลประทาน เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ รวมทั้งนักสร้างเขื่อนทั้งหลาย ความจำยังไม่สั้น ก็คงจะจำได้ว่าฤดูมรสุมที่ผ่านมาได้เกิดวิกฤตเขื่อนในระดับภูมิภาค ทั้งเขื่อนในลาว และพม่าแตก และในประเทศไทย น้ำเต็มเขื่อนจนต้องเร่งระบายออกมาทำให้คนท้ายเขื่อนเดือดร้อนอย่างหนัก

กรณีแรก จำได้หรือไม่ คืนวันที่ 23 กรกฎาคม ขณะที่ผู้คนหลายหมู่บ้านในแขวงอัตตะปือ กำลังเข้านอน หลายชีวิตไม่ได้รู้ว่าคืนนี้คือคืนสุดท้ายของชีวิต เมื่อเขื่อนปิดช่องเขา D (saddle dam D) ที่ยาว 770 เมตร และสูง 16 เมตร ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเสริมการกั้นน้ำรอบอ่างเก็บน้ำโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก

มวลน้ำหลายล้านลูกบาศก์เมตรจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนได้พัดพาชาวบ้านหลายร้อยคนสูญหายไปกับกระแสน้ำ หลายชีวิตถูกฝังอยู่ใต้โคลน บ้านเรือนท้ายเขื่อนพังพินาศในพริบตา ส่วนที่เหลือหนีตายขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ บนหลังคาบ้าน หลังคาวัด

หลังเขื่อนแตก ได้มีการค้นหาผู้สูญหายเกือบ 3 เดือน จนถึงต้นเดือนตุลาคม ทางการลาวก็ได้สั่งยุติการค้นหา พบว่า เขื่อนแตกทำให้มีผู้เสียชีวิต 40 ราย และยังสูญหาย 65 คน ประชาชนหลายพันครอบครัวไร้ที่อยู่อาศัย นอกจากนั้น ยังสร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรและต้องเร่งอพยพคนหลายหมู่บ้านในประเทศกัมพูชาด้วย โดยที่ปัจจุบันคนที่ได้รับผลกระทบจากการอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก

โครงการสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย มีบริษัทจากเกาหลีใต้ร่วมทุน 2 บริษัท ได้แก่ SK Engineering & Construction Company Limited ถือหุ้น 26% และ Korea Western Power Company Limited ถือหุ้น 25% ส่วนที่เหลือเป็นบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH จากประเทศไทย ถือหุ้น 25% และรัฐบาล สปป.ลาว ถือหุ้น 24%

เขื่อนแห่งนี้แตกขณะที่โครงการมีความก้าวหน้าประมาณร้อยละ 90 และกำหนดจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในปี 2562 โดยไฟฟ้าส่วนใหญ่ส่งมาขายประเทศไทย เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย จึงเป็นเขื่อนลาวสัญชาติไทย+เกาหลี
 

 
หลังเขื่อนแตก บริษัท RATCH ระบุว่าเกิดจากฝนตกหนัก ขณะที่รัฐบาลลาว ได้มีการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉิน ระหว่างวันที่ 6-7 ส.ค. ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด โดยมี นายบุญทอง จิตมณี รองนายกรัฐมนตรีสปป.ลาว เป็นประธานคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด เพื่อสอบหาสาเหตุที่ทำให้ เขื่อนแตก แต่จนถึงขณะนี้ การสอบสวนไม่มีความคืบหน้า

ขณะที่ Hankyoreh สื่อเกาหลีระบุเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ว่า บริษัท SK E&C ผู้ก่อสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำนน้อย ได้ทำการเปลี่ยนแบบและวัสดุก่อสร้างเพื่อลดต้นทุนเขื่อนและให้ได้กำไรสูงสุด จนทำให้เขื่อนแตก

หลังเขื่อนแตก รัฐบาลลาวยังประกาศว่าจะทบทวนโครงการเขื่อนทุกเขื่อน ขณะที่ธนาคารโลกก็ยังเดินหน้าสนับสนุนการสร้างเขื่อนในลาวต่อไป

เหตุการณ์นี้ นับว่าเป็นภัยพิบัติจากเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอาเซียน

กรณีที่สอง จำได้หรือไม่ว่า วันที่ 29 สิงหาคม ในประเทศพม่า ได้เกิดทางระบายน้ำล้นฉุกเฉินของเขื่อนสวาร์ชวงถล่ม ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านหลายพันคน น้ำจากเขื่อนยังท่วมปิดทางหลวง ระหว่างนครย่างกุ้ง และนครมัณฑะเลย์ เมืองสำคัญ 2 เมืองของพม่า สะพานสวาร์ชวงเสียหายอย่างหนัก

เหตุการณ์นี้ กระทรวงสวัสดิการสังคมของพม่า ระบุตัวเลขชาวบ้านที่ต้องอพยพไปยังศูนย์พักพิงแห่งต่างๆ 30 แห่ง รวม 12,600 คน ตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบมี 63,000 คน หรือมากกว่า 14,000 ครัวเรือน ขณะที่มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 1 ราย

กรณีที่สาม จำได้หรือไม่ว่า ในช่วงเดียวกับเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยในลาวแตก และทางระบายน้ำล้นฉุกเฉินเขื่อนสวาร์ชวงในพม่าถล่ม ได้เกิดอุทกภัยทั่วภูมิภาครวมทั้งในประเทศไทย โดยในประเทศลาว เขื่อนหลายแห่งต้องเร่งปล่อยน้ำทำให้น้ำท่วมในพื้นที่ท้ายเขื่อนทั้งบริเวณแม่น้ำสาขาที่เขื่อนตั้งและสองฝั่งแม่น้ำโขงทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว

ขณะที่ในประเทศไทย วิกฤตน้ำในเขื่อนใหญ่ใกล้เต็มและบางเขื่อนมีปริมาณน้ำเกินความจุอ่างเก็บน้ำ ทำให้ต้องเร่งระบายน้ำออกมา และทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ท้ายเขื่อนหลายเขื่อน โดยเขื่อนขนาดใหญ่ที่วิกฤต ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี

การเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนเพื่อรักษาตัวเขื่อน หน่วยงานเจ้าของเขื่อนไม่มีแผนเผชิญอุทกภัยจากความเสี่ยงของเขื่อน อีกทั้งยังถูกลดทอดให้เหลือแค่ “ภัยธรรมชาติ”
 

 
ผมหยิบทั้ง 3 กรณีเฉพาะที่เกิดเหตุการณ์ในปีที่ผ่านมา มาทบทวนความจำกันครับ ไม่นับกรณีปี 2560 ที่เกิดน้ำล้นเขื่อนที่บางสะพานจนมีผู้เสียชีวิต และเขื่อนห้วยทรายขมิ้นแตกจนน้ำท่วมเมืองสกลนครอย่างหนัก

ทั้ง 3 กรณีดังที่กล่าวมา ได้แสดงให้เห็นถึง

หนึ่งความล้มเหลวในการป้องกันน้ำท่วม ในทางกลับกัน เขื่อนกลับทำให้เกิดอุทกภัยหนักกว่าปกติที่ไม่มีเขื่อน

สอง เขื่อนทุกเขื่อนมีความเสี่ยง (risk) ในระดับต่างๆ ตั้งแต่การเกิดอุทกภัยท้ายเขื่อน ไปจนถึงขั้นก่อให้เกิดภัยพิบัติ (disaster) อย่างรุนแรงได้

เมื่อเกิดวิกฤตดังกล่าว จำได้หรือไม่ ได้มีการเรียกร้องจากนักวิชาการและสังคมให้อาเซียนตระหนักถึงการป้องกันภัยพิบัติจากเขื่อนพังร่วมกัน แต่สุดท้ายก็เงียบหาย

ผมเองได้เสนอมาตลอดว่า รัฐบาลไทยต้องสั่งการให้หน่วยงานเจ้าของเขื่อนต้องทำการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆ และจัดทำแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Emergency Response Plan) หรือเผชิญภัยพิบัติสำหรับเขื่อนทุกเขื่อนไม่ว่าจะเป็นเล็ก กลาง ใหญ่ โดยแผนนี้ต้องให้ประชาชนท้ายเขื่อนเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่ใช่พอเกิดภัยพิบัติ หรือน้ำล้นเขื่อนก็โทษไปที่ธรรมชาติอย่างเดียว

ผมยืนยันอีกครั้งครับว่า หน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำในขณะนี้ไม่ใช่การสร้างเขื่อนเพิ่ม แต่ต้องดูแลรักษาเขื่อนที่มีอยู่แล้วให้ปลอดภัย ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญ ไม่ใช่ทำตัวเป็นลูกอีช่างสร้าง จะเดินหน้าสร้างอย่างเดียว แต่ไม่รับผิดชอบสิ่งที่สร้างไปแล้วเหมือนที่กำลังเกิดอยู่ในขณะนี้
 

กำลังโหลดความคิดเห็น