xs
xsm
sm
md
lg

“ชุมเห็ดเทศ” สมุนไพรใน “ตำรายาไทย” ท้องผูกชะงักแท้ แก้โรคผิวหนังดีนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้  /  โดย...สกนธ์ รัตนโกศล
 
1
 
“ชุมเห็ดเทศ” พืชสมุนไพรที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน 
 
“ชุมเห็ดเทศ” มีชื่อท้องถิ่น ประกอบด้วย ขี้คาก, ชุมเห็ดใหญ่, ตะลี่พอ, ลับมืนหลวง และ หมากกะลิงเทศ เป็นต้น มีชื่อภาษาอังกฤษ Acapulo, Candelabra bush, Candle bush, Ringworm bush ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna alata (L.) Roxb. ชื่อพ้อง Cassia alata L. ชื่อวงศ์  FABACEAE (LEGUMINOSAE ) - Caesalpinioideae
 
“ชุมเห็ดเทศ” มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่ม มีกิ่งแตกออกด้านข้างในแนวขนานกับพื้น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปรี โคนใบมน ปลายใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นช่อใหญ่ ตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกจะบานจากล่างขึ้นบน ใบประดับมีสีน้ำตาลแกมเหลืองห่อหุ้มดอกย่อย ซึ่งมีกลีบดอกสีเหลืองทองเป็นรูปไข่เกือบกลมหรือรูปช้อน ผลเป็นฝักยาวมีครีบ 4 ครีบ ฝักแก่สีดำและแตกตามยาว เมล็ดแบนเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยม ผิวขรุขระ มีสีดำ
 
2
 
สำหรับส่วนที่นำมาใช้เป็น “ยา” จะใช้ใบในการบรรเทาอาการท้องผูก และใช้เป็นยาภายนอกรักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน สำหรับดอกใช้บรรเทาอาการท้องผูกเช่นกัน
 
ด้าน “สรรพคุณ” ในตำรายาพื้นบ้าน ใช้ใบตำพอก เพื่อเร่งให้หัวฝีออกเร็วขึ้น หรือจะใช้ใบผสมกับน้ำปูนใส หรือเกลือ หรือน้ำมันตำพอก รักษากลาก แมลงสัตว์กัดต่อย โรคผิวหนัง นอกจากนี้ ยังใช้ใบตำพอก หรือคั้นเอาน้ำผสมน้ำปูนใสทา หรือผสมวาสลิน ใช้ทำเป็นยาขี้ผึ้งทา
 
สำหรับ “ตำรายาไทย” การนำไป “ใช้ภายใน” แก้อาการท้องผูก เป็นยาระบาย ไปกระตุ้นทำให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวดีขึ้น สมานธาตุ รักษากระเพาะอาหารอักเสบ แก้กระษัยเส้น ทำหัวใจให้ปกติ ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ “ใช้ภายนอก” รักษาฝีและแผลพุพอง รักษากลาก เกลื้อน โรคผิวหนัง อมบ้วนปาก รักษาผิวหนังอักเสบเป็นผื่นคัน เส้นประสาทอักเสบ
 
3
 
นอกจากนี้ ยังมี “ข้อควรระวังในการใช้” ด้วยเช่นกัน ประกอบด้วย เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ให้ระมัดระวังในการใช้, หากใช้ในปริมาณที่สูงอาจจะทำให้เกิดไตอักเสบได้, ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะส่งผลให้มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากเกินไป ที่สำคัญเนื่องจากในการใช้ที่มีระยะเวลาติดต่อกันนาน จะทำให้ลำไส้ใหญ่เกิดความเคยชินต่อยา ถ้าหยุดใช้จะไม่ถ่าย
 
ดังนั้น จึงควรแก้ไข้ที่สาเหตุด้วยการฝึกรับประทานผักผลไม้ที่มีเส้นใย ดื่มน้ำให้มากพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา ก็จะช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น ในขณะเดียวกัน การใช้ชุมเห็ดเทศอาจจะทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรือเกิดผลข้างเคียงอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย ปวดท้องเนื่องจากการบีบตัวของสำไส้ และท้องเสีย
 
อย่างไรก็ตาม ชุมเห็ดเทศยังมี “ข้อห้ามในการใช้” ด้วย ได้แก่ ไม่ควรใช้เป็นยาระบายในสตรีที่มีครรภ์ หรือในช่วงเวลาที่ให้นมบุตร (มีรายงานว่าสาร rhein ผ่านทางน้ำนมได้) และห้ามใช้ในกรณีผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินอาหารอุดตันนะขอรับ
 
4
5
6
7
8
9
10
 
บรรณานุกรม 
 
www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/cassiaal.html
- www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=53
 


กำลังโหลดความคิดเห็น