สตูล - “สบู่แผ่นไคโตซาน” สารสกัดจากเปลือกกุ้ง และกระดองปู ฝีมือนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสตูล เน้นรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยลดมลพิษทางกลิ่น หวังเป็นการต่อยอดธุรกิจในอนาคต
วันนี้ (22 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วิทยาลัยเทคนิคสตูล ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล มีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับภาคใต้ ประจำปีการศึกษา 2561 ในเวทีสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา ซึ่งภายในงานมีบูทผลิตภัณฑ์สบู่แผ่นจากไคโตซาน ที่ทางนักศึกษาเล็งเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ได้มีการนำเอาสารสกัดไคโตซานมาผลิตเป็นสบู่แผ่น เพื่อรักษาสิ่งแวดส้อม และสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจในการประกอบอาชีพได้ในอนาคต
ทางนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสตูล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวคิดนำเอาเปลือกของกุ้ง และปู มาทำการวิจัยเพื่อช่วยลดปัญหาของมลพิษทางกลิ่น เนื่องจากเวลาที่ผู้คนบริโภคกุ้ง และปู ทำให้เหลือขยะที่เป็นเปลือก ซึ่งมีแมลงวันตอมส่งกลิ่นเหม็นคาว อีกทั้งยังเป็นมลพิษทางกลิ่นที่ไม่ดีต่อผู้บริโภค นักศึกษาจึงเล็งเห็นความสำคัญในส่วนตรงนี้ จึงนำมาทำการวิจัยให้เกิดประโยชน์ และพบว่าในเปลือกของกุ้ง และปู มีสารไคโตซานที่สามารถช่วยยับยั้งแบคทีเรีย และทำให้ผิวมีความชุ่มชื่น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่เปลือกกุ้ง และปูอีกด้วย
น.ส.สุพร สีเงินยวง ครูวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคสตูล กล่าวว่า เริ่มต้นจากที่เด็กมีแนวคิดจากการรับประทานอาหารทะเล แล้วจะมีพวกเปลือกกุ้ง เปลือกปู ที่บรรดานักท่องเที่ยวรับประทานเสร็จ ก็จะทิ้งไว้ทำให้ส่งกลิ่นเหม็น นักศึกษาก็เลยมีความคิดที่จะหาทางไม่ให้เปลือกกุ้ง และปูมีกลิ่นเหม็น จึงมีไอเดียในส่วนตรงนี้ที่จะกำจัดจำพวกเปลือกปู เปลือกกุ้ง ทางครูเลยช่วยกันคิดหางานวิจัยแล้วพบว่า ในเปลือกปู และเปลือกกุ้ง มีสารตัวหนึ่งคือ พวกไคโตซาน ซึ่งไคโตซานมีประโยชน์ค่อนข้างเยอะมาก สามารถช่วยยับยั้งแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว ช่วยรักษาให้ผิวหน้ามีความชุ่มชื่น
ทางเราก็เลยหาทางที่จะสามารถทำได้ง่ายต่อเด็กนักเรียนที่เหมาะสมกับเด็ก ปวช. ก็เลยออกมาเป็นสบู่ก้อน ซึ่งตอนแรกคิดค้นออกมาเป็นสบู่ก้อน และได้เข้าร่วมประกวดการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ระดับประเทศ จึงทำให้เป็นแรงผลักดันให้เด็กต่อยอดในเรื่องธุรกิจเพิ่มมากยิ่งขึ้น และพบว่าสบู่ก้อนในท้องตลาดมีเยอะมาก ถ้าหากไปแข่งขันกันในเรื่องธุรกิจ โอกาสทางการตลาดของเราน่าจะน้อยมาก จึงคิดค้นที่จะทำให้แปลกใหม่ยิ่งขึ้น จึงได้สบู่แผ่นขึ้นมา ซึ่งใช้งานสะดวก พกพาง่าย แต่คุณสมบัติยังคงเหมือนเดิม สบู่ของที่นี่จะไม่มีการแต่งกลิ่น และแต่งสีใดๆ ซึ่งจะใช้กลิ่นจากน้ำผึ้งป่ากับน้ำหมักชีวภาพผสมกัน จึงทำให้ได้กลิ่นหอมอ่อนๆ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้
ด้าน น.ส.นูรีย๊ะ พุ่มจันทร์ นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสตูล กล่าวว่า จังหวัดสตูล เป็นพื้นที่ที่ติดกับชายฝั่งทะเลเป็นส่วนมาก บ่อยครั้งที่รับประทานอาหารทะเลเสร็จแล้ว เราก็จะนำเปลือกปู เปลือกกุ้งไปทิ้ง จึงทำให้เกิดผลเสีย และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดมลพิษ จึงทำให้อยากจะนำเปลือกกุ้ง และปูมาสกัดเพื่อหาสารไคโตซาน ที่สามารถสร้างประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าได้ จึงได้นำสารไคโตซานมาผลิตทำเป็นสบู่ ซึ่งชื่อผลิตภัณฑ์คือ สบู่จากไคโตซาน
สำหรับความพิเศษของสบู่ สามารถที่จะช่วยยับยั้งสิว รักษาความชุ่มชื้นให้แก่ใบหน้า ทำให้ผิวหน้ากระจ่างใส สำหรับสบู่นี้เราจะไม่นิยมใช้กับผู้ที่แพ้อาหารทะเล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อใบหน้า จะเหมาะสำหรับผู้ที่มีสิวหรือผื่นสามารถที่จะใช้ได้ ส่วนคนที่ไม่เป็นสิวก็สามารถใช้ได้เช่นกัน เพราะจะทำให้ผิวหน้าของเราชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา และยังเป็นการต่อยอดธุรกิจกับตัวเองได้ต่อไปในอนาคต
ซึ่งมีราคาขายไม่แพงมากนัก โดยสบู่ก้อนอยู่ที่ราคาก้อนละ 40 บาท และสบู่แผ่นกล่องละ 29 บาท (1 กล่องบรรจุ 20 แผ่น) สามารถติดต่อซื้อได้ที่วิทยาลัยเทคนิคสตูล หรือทางเพจเฟซบุ๊ก “SUI สวย” หรือโทร. 09-4584-0749