xs
xsm
sm
md
lg

ดีเดย์ 25 ม.ค.นี้ คนรักษ์ดิน-น้ำ-ป่าบุกทำเนียบฯ หยุด “เมกะโปรเจกต์น้ำใต้” หนุนทุนเชื่อม EEC สู่ SEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
รายงานโดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
 

 
ศุกร์ 25 ม.ค.2562 นี้คือ “วันดีเดย์” รวมพลคนรักษ์ดิน-น้ำ-ป่า จากทุกสารทิศทั่วประเทศบุกชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล แบบปักหลักพักค้างตามคำประกาศ ไม่ชนะ ไม่เลิก เพื่อกดดันให้ขบวนรถหวานเย็นของรัฐบาลทอปบู๊ตภายใต้การนำของ คสช.ที่กำลังใกล้ถึงสถานีสุดท้ายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หยุดเดินหน้า “โครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้” ด้วยข้ออ้างว่าเป็นโครงการพระราชดำริในหลวง ร.9 ที่ไม่สามารถยกเลิกการก่อสร้างได้ เพื่อหาแหล่งน้ำหนุนภาคการเกษตรและแก้ปัญหาน้ำท่วม
 
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเวลานี้สังคมไทยต่างทราบกันแล้วว่า “พระราชดำริ” หมายความว่า ความคิดของพระราชา หาใช่ “พระบรมราชโองการ” ที่เป็น คำสั่งราชการของพระราชา ไม่ ดั้งนั้น พระราชดำริของในหลวง ร.9 จึงได้ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามสถานการณ์โลก และสอดรับต่อวิถีชีวิตพสกนิกรชาวไทยของพระองค์มาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในเวลานี้สังคมต่างรู้เท่าทันแล้วว่า แท้จริงเป็นการจัดหา “แหล่งน้ำดิบขนาดใหญ่” ไว้เพื่อรองรับการพลิกแผ่นดินภาคใต้ให้เป็น “ฐานลงทุนอุตสาหกรรม” ที่กระจายไปทั่วพื้นที่นั่นเอง
 

 
อันเป็นไปตามนัดหมายของ “เครือข่ายปกป้องดิน-น้ำ-ป่า บนผืนแผ่นดินใต้” ที่ถือเป็นแก่นแกนหลักในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ โดยเกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก 5 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่รัฐต้องทุ่มงบประมาณลงทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ทั้งในด้านการสร้างเขื่อน ประตูกั้นน้ำและคลองผันน้ำในภาคใต้ ได้แก่ ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ประกอบด้วย เขื่อนวังหีบ เขื่อนคลองสังข์ คลองผันน้ำเมืองนครศรีธรรมราช และในพื้นที่ จ.พัทลุง ประกอบด้วย เขื่อนเหมืองตะกั่ว กับโครงการประตูน้ำปากประ
 
ความจริงแล้วยังมีอีกหลากหลายเครือข่ายประชาชนในภาคใต้ ซึ่งพร้อมเข้าร่วมหรือเป็นกำลังเสริมอย่างเต็มตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐในพื้นที่ภาคใต้อย่างทั่วหน้า โดยเฉพาะเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ จ.ชุมพร ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการบริหารจัดการน้ำเหมือนกันอีก 5 โครงการ ได้แก่ เครือข่ายลุ่มน้ำคลองหลังสวน เครือข่ายประตูระบายน้ำคลองสวีหนุ่ม เครือข่ายลุ่มน้ำคลองตะโก เครือข่ายอ่างเก็บน้ำคลองละแม และเครือข่ายประตูระบายน้ำบ้านหาดแตง
 
เครือข่ายจะนะ-เทพา เอาปลาเค็มไปฝากเป็นเสบี้ยงให้เครือข่ายวังหีบไปร่วมชุมนุมหน้าทำเนียบฯ
 
หรือเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายคัดค้านสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) ที่ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก ถนนมอเตอร์เวย์ เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าอุตสาหกรรม ระบบท่อส่งก๊าซและน้ำมัน หรือท่าเรือขนส่งถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมีทั้งที่ประกาศตัวอย่างชัดเจนแล้ว และมีการประสานให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เช่น เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เครือข่ายเทใจให้เทพา เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ยั่งยืนภาคใต้ เป็นต้น
 
แน่นอนว่าการชุมนุมหน้าทำเนียบฯ แบบปักหลักพักค้างไม่ชนะไม่เลิกนับตั้งแต่ช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 25 ม.ค.2562 นี้เป็นต้นไป จะประเดิมด้วยก๊อกแรกเป็นกลุ่มชาวบ้านจาก 5 เครือข่ายที่ถูกรัฐบาลรุกหนักในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช กับ จ.พัทลุงก่อน แต่หลังจากนั้นหากจำต้องยืดเยื้อจะมีการเติมกำลังคนจากเครือข่ายอื่นๆ ในพื้นที่ภาคใต้เข้าไปต่อเนื่อง สำหรับเครือข่ายในภูมิภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอีสาน เหนือ ตะวันตก ตะวันออก ภาคกลาง และโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ก็จะมีการเชิญชวนให้สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าร่วมชุมนุมอย่างไม่ให้ขาดสาย
 
เครือข่ายปกป้องดิน-น้ำ-ป่า บนผืนแผ่นดินใต้ ชุมนุมหน้าซศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช
 
สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่ถูกรัฐบาล คสช.เร่งรัดผลักดันอย่างหนัก และเป็นปฐมบทให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นดับเครื่องชนในเวลานี้ ประกอบด้วย 1.โครงการสร้างเขื่อนวังหีบ งบประมาณ 2,300 ล้านบาท พื้นที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช 2.โครงการสร้างเขื่อนคลองสังข์ งบประมาณ 880 ล้านบาท พื้นที่ อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช 3.โครงการสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว งบประมาณ 750 ล้านบาท พื้นที่ อ.ป่าบอน จ.พัทลุง 4.โครงการประตูน้ำปากประ งบประมาณ 1,300 ล้านบาท พื้นที่ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และ 5.โครงการคลองผันน้ำเมืองนครศรีธรรมราช งบประมาณ 9,580 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่หลายอำเภอของ จ.นครศรีธรรมราช
 
ส่วนอีก 5 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีข่าวว่ารัฐบาล คสช.กำลังจะสั่งเดินหน้าตามมาติดๆ และล้วนอยู่ในพื้นที่ จ.ชุมพร ประกอบด้วย 1.โครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการลุ่มน้ำคลองหลังสวน งบประมาณ 1,800 ล้านบาท อ้างเพื่อช่วยให้ความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตโครงการดีขึ้น และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทั้งในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ และส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว ที่สำคัญอ้างว่าจะช่วยแก้น้ำท่วม ทั้งที่น้ำท่วม อ.หลังสวน มาจากเขื่อนกันคลื่นปากแม่น้ำ 2.โครงการประตูระบายน้ำคลองสวีหนุ่ม พร้อมระบบส่งน้ำ งบประมาณ 750 ล้านบาท อ้างป้องกันน้ำเค็ม แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ 3.โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำคลองตะโก งบประมาณ 710 ล้านบาท อ้างว่าเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำหลาก และเก็บกักน้ำในลำน้ำไว้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจกรรมต่างๆ บริเวณริมสองฝั่งคลอง
 
4.โครงการอ่างเก็บน้ำคลองละแม พร้อมระบบส่งน้ำ งบประมาณ 1,800 ล้าน อ้างว่าเพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งของราษฎร เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ ต.ละแม ต.ทุ่งคาวัด อ.ละแม เพื่ออุตสาหกรรมการเกษตรในพื้นที่ เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่และชีวิตของราษฎร เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์ปลาสัตว์น้ำจืด และเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนของประชาชน และ 5.โครงการประตูระบายน้ำบ้านหาดแตง งบประมาณ 660.40 ล้านบาท อ้างว่าเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภค จำนวน 3,500 ครัวเรือน ประชากร 10,000 คน เป็นแหล่งน้ำสำหรับส่งให้แก่พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ทุเรียน มังคุด ประมาณ 4,893 ไร่ บรรเทาปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นประจำใน ต.หินแก้ว อ.ท่าแซะ และช่วยให้ความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการดีขึ้น
 
เครือข่ายปกป้องดิน-น้ำ-ป่า บนผืนแผ่นดินใต้ ชุมนุมหน้าซศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช
 
เมื่อนำงบประมาณที่ภาครัฐต้องลงทุนสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำและคลองผันน้ำ โดยเป็นการเร่งด่วน 5 โครงการแรกใน จ.นครศรีธรรมราช กับ จ.พัทลุง ที่ต้องใช้เม็ดเงินสูงถึง 15,080 ล้านบาท กับอีก 5 โครงการในพื้นที่ จ.ชุมพร ที่จะตามต่อมาที่ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนถึง 5,720.4 ล้านบาท หากรวมกันแล้วจะเป็นเม็ดเงินลงทุนของรัฐพุ่งกระฉูดถึงกว่า 20,800.4 ล้านบาทเลยทีเดียว
 
เพียง 10 โครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่แค่ 3 จังหวัดของภาคใต้ แต่กลับต้องใช้งบประมาณสูงถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาท เมื่อน้ำไปรวมกับข่าวคราวที่สะพัดมาก่อนหน้าว่า รัฐบาลยังมีแผนจะทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่อื่นๆ ตลอดแผ่นดินด้ามขวานไทยที่นอกจาก 14 จังหวัดของภาคใต้แล้วยังรวมเอา จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต่อเนื่องไปจนจดพื้นที่ภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งที่ตั้งของฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของประเทสด้วยแล้ว พบว่า รัฐบาลยังจะต้องทุ่มเม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ เหล่านั้นไปอีกนับหลายแสนล้านบาทเลยทีเดียว
 
จึงไม่แปลกที่สังคมไทย และโดยเฉพาะเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ภาคใต้จะมองภาพได้ทะลุปรุโปร่งว่า แท้จริงแล้วการรุกก้าวของทุกรัฐบาลในอดีต ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลทหารภายใต้ปีกโอบของ คสช.ในเวลานี้ การดำเนินการผลักดันโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ดังกล่าว ล้วนแล้วแต่เป็นการเตรียมจัดหา “แหล่งน้ำดิบ” ไว้ให้กับการผลักดันให้พื้นที่ภาคใต้โดยรวม ให้กลายเป็น “แหล่งการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่” แห่งใหม่ของประเทศนั่นเอง
 
เครือข่ายปกป้องดิน-น้ำ-ป่า บนผืนแผ่นดินใต้ ชุมนุมหน้าซศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช
 
อีกทั้งเมื่อนำโครงการจัดหาแหล่งน้ำดิบขนาดใหญ่เหล่านี้ ไปรวมกับโครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแยกก๊าซ โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือกระทั่งคลองไทย และสะพานเศรษฐกิจหรือแลนด์บริดจ์อันอยู่ภายใต้แผนพัฒนา “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาเทิร์นซีบอร์ด : SSB)” ซึ่งเป็นแผนที่ต่อเนื่องมาจาก “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (อีสเทร์นซีบอร์ด : ESB)” ที่ในเวลานี้กลายร่างเป็นแผนพัฒนา “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)” ไปแล้ว ในส่วนของภาคใต้เองก็ได้แปลงร่างเป็น “ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC)” เช่นกัน
 
นั่นจึงเป็นเรื่องความพยายามของกลุ่มผู้กุมบังเหียนอำนาจรัฐ ซึ่งมีเงาทะมึนของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศทาบทับอยู่ ต้องการขับดันให้ภาคใต้เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กระจายไปทั่วพื้นที่ และพัฒนาเชื่อมโยงหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่ภาคตะวักออกถูกทำให้เป็นมาแล้วอย่างต่อเนื่องราวกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา 
 
 

น้ำตกในพื้นที่ที่จะสรา้งเขื่อนวังหีบ
 
อันเริ่มด้วยการพัฒนาอุตาสาหกรรมปิโตรเคมีแบบเดียวกับที่มาบตาพุด จ.ระยอง พร้อมกับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมมากมายใน จ.ชลบุรี ก่อนที่จะขยับขยายถ่างรัศมีออกไปยังจังหวัดใกล้เคียง จนเวลานี้นอกจากครอบคลุมทั้งภาคตะวักออกแล้ว ยังลามสู่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและภาคกลาง ถึงขนาดที่ไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่คนทั้งโลกก็ได้เห็น “น้ำตานายทุนอุตสาหกรรมญี่ปุ่น” หลั่งผสมกับมวลน้ำท่วมไกลถึงยัง จ.พระนครศรีอยุธยา มาแล้วเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง
 
จึงเป็นไปได้เช่นกันว่า นับตั้งแต่ศุกร์ 25 ม.ค.2562 หรือวันดีเดย์ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล สังคมไทยคงได้เห็น “น้ำตาประชาชน” หลั่งลงบนท้องถนนอันแผดร้อนของกรุงเทพมหานคร อันเนื่องมาจากความเจ็บช้ำที่ได้รับจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่
 


กำลังโหลดความคิดเห็น