xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.สตูลเตือนภัย “ไข้เลือดออก” แนะตัดวงจรยุงลาย ป้องกันไม่ให้ยุงกัด/ยุงเกิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
สตูล - สสจ.สตูล เตือนภัย “ไข้เลือดออก” แนะประชาชนตัดวงจรยุงลาย ลดแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง ใช้มุ้งหรือติดมุ้งลวดกันยุง พ่นยาปราบยุง การดูแลบริเวณบ้านให้สะอาดอย่าให้มีน้ำขัง ป้องกันไม่ให้ยุงกัด/ยุงเกิด

วันนี้ (22 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อลูกป่วยเป็นไข้เลือดออก คุณพ่อคุณแม่หลายคนคงเกิดอาการใจเสียอยู่ไม่น้อย เพราะเคยได้ยินมาว่าโรคไข้เลือดออกทำให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดี แม้จะฟังดูน่ากลัว แต่การได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่เริ่มแรกอย่างใกล้ชิดในทุกช่วงของอาการ ก็จะช่วยให้พ้นจากระยะวิกฤตได้

นพ.สมบัติ ผดุงวิทย์วัฒนา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี่ (dengue virus) ซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ สามารถแพร่ได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกก็คือ อาการต่างๆ ที่ทำให้สงสัยว่าลูกอาจเป็นไข้เลือดออก โดยอาการอาจเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 : ระยะไข้สูง มีไข้จะสูง 2-7 วัน แม้จะรับประทานยาลดไข้แต่ไข้ก็มักจะไม่ลด มีอาการหน้าแดง ตาแดง ซึม มักเบื่ออาหารและอาเจียนร่วมด้วย บางรายอาจปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือชายโครงขวา ส่วนมากไม่มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือไอ ประมาณวันที่ 3 อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามใบหน้า แขน ขา ซอกรักแร้ ในช่องปาก อาจคลำพบตับโต กดเจ็บ บางรายมีอาการรุนแรงและปรากฏอาการระยะที่ 2 ต่อไป

ระยะที่ 2 : ระยะช็อกและมีเลือดออก มักเกิดช่วงวันที่ 3-7 ไข้จะเริ่มลดลง แต่ผู้ป่วยกลับมีอาการทรุดหนัก มีภาวะช็อก เช่น ซึม ตัวเย็น เหงื่อออก ชีพจรเบาและเร็ว ความดันโลหิตต่ำ นอกจากนี้ อาจมีเลือดออกตามส่วนต่างๆ เช่น เลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ระยะนี้กินเวลาประมาณ 24-72 ชม. ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

ระยะที่ 3 : ระยะฟื้นตัว ในรายที่ได้รับการรักษาถูกต้องและทันเวลา มีภาวะช็อกไม่รุนแรง อาการต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มรับประทานอาหารได้ หรือลุกนั่งได้
 

 
การรักษา ถ้าอาการไม่รุนแรง มีเพียงไข้สูง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ยังไม่มีอาการเลือดออกหรือภาวะช็อก ควรปฏิบัติดังนี้ 1.ให้ผู้ป่วยพักผ่อนมากๆ หากมีไข้สูงควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ และให้ยาลดไข้พาราเซตามอล (ห้ามใช้แอสไพรินโดยเด็ดขาด) ถ้าเป็นผู้ป่วยเด็กและเคยชัก ควรให้รับประทานยากันชักไว้ก่อน เฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด 2.ถ้าผู้ป่วยอาเจียนมาก มีภาวะช็อก หรือเลือดออก ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกสาวอยู่ในช่วงวัยรุ่นที่มีประจำเดือนแล้วและป่วยเป็นไข้เลือดออก แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนว่าลูกกำลังจะมีประจำเดือนหรือไม่

ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถกำจัดเชื้อไข้เลือดออกได้ การป้องกันไข้เลือดออกมีเพียงวิธีเดียวคือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่อาจทำได้เพื่อลดประชากรยุงในบริเวณที่อยู่อาศัย ได้แก่ การหมั่นปราบยุง ลดแหล่งน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง ใช้มุ้งหรือติดมุ้งลวดกันยุง พ่นยาปราบยุง การดูแลบริเวณบ้านให้สะอาดอย่าให้มีน้ำขัง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถหลีกเลี่ยงโรคไข้เลือดออก
 
กำลังโหลดความคิดเห็น