ศูนย์ข่าวภาคใต้ - คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง กรณีคนร้ายบุกยิงป้อมชุดรักษาการณ์หมู่บ้าน วัดรัตนานุภาพ เป็นเหตุให้พระภิกษุมรณภาพ และการยิงโต๊ะอิหม่ามรือเสาะเสียชีวิต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง กรณีการบุกยิงป้อมชุดรักษาการณ์หมู่บ้านวัดรัตนานุภาพ เป็นเหตุทำให้พระภิกษุมรณภาพ และการยิงโต๊ะอิหม่ามรือเสาะเสียชีวิตใน จ.นราธิวาส
จากเหตุการณ์คนร้ายไม่ทราบจำนวนบุกยิงป้อมชุดรักษาการณ์หมู่บ้านวัดโคกโก หรือวัดรัตนานุภาพ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ทำให้พระสงฆ์มรณภาพและบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 และก่อนหน้านี้ ปรากฏเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิง นายดอเลาะ สะไร โต๊ะอิหม่ามมัสยิดบ้านปูโปะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เสียชีวิต เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 นั้น
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในอันที่จะส่งเสริมการเคารพ และปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน และปกป้องหลักการเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย อันจะละเมิดมิได้ เห็นว่าผู้นำทางศาสนาทั้งพุทธและอิสลามที่ถูกพรากชีวิตไป ล้วนเป็นที่เคารพ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของศาสนิกชน ซึ่งมิควรที่จะถูกลบหลู่หรือทำร้าย แม้จะมีแนวคิดที่แตกต่างกัน ทั้งสองเหตุการณ์จึงสะท้อนถึงความเลวร้ายที่สังคมมิอาจจะยอมรับ
จึงขอประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่ไร้มนุษยธรรม ผิดต่อกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรมดังกล่าว และขอแสดงความเสียใจยังครอบครัว ญาติมิตร และประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเหตุการณ์อันเศร้าสลดนี้ โดยขอเสนอแนะให้ทุกภาคส่วนคำนึง และปฏิบัติดังนี้
1.ขอให้ผู้ที่ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงยุติการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม ผิดกฎหมาย และละเมิดสิทธิมนุษยชนทันที และได้สำนึกบาปต่อการกระทำดังกล่าว และหันกลับมาสร้างสันติสุข โดยต้องยุติการนำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง
2.รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พึงเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว และดำเนินการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูจิตใจและความบอบช้ำของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ตลอดจนเพิ่มมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยแก่ประชาชนในพื้นที่ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น
3.ประชาชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ควรร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เฝ้าระวัง เพื่อป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรง การสร้างสถานการณ์ต่างๆ ที่บั่นทอนขวัญ และทำให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน และการบรรลุเป้าหมายในการสร้างสันติสุขในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กสม. จะติดตามสถานการณ์ และตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างใกล้ชิด และพร้อมให้การสนับสนุนทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชน ที่จะนำไปสู่การคืนความสงบสุขแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป