xs
xsm
sm
md
lg

แฉอีกดัน “5 โครงการน้ำชุมพร” ประกบ “5 โครงการน้ำนครฯ-พัทลุง” งบพุ่งกว่า 2 หมื่นล้าน ชี้ชัดหาน้ำดิบป้อนทุนอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ” แฉอีก 5 โครงการน้ำที่ชุมพรใช้งบเกือบ 6 พันล้าน กำลังถูกผลักดันประกบ 5 โครงการที่ดับเครื่องชนไปแล้วในนครฯ-พัทลุง กว่า 1.5 หมื่นล้าน ชี้ชัดเป็นการเตรียม “แหล่งน้ำดิบ” ป้อนทุนอุตสาหกรรมที่ตั้งต้นจากปิโตรเคมี
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. วันนี้ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นักวิชาการที่มีพื้นเพเป็นคนปักษ์ใต้ และติดตามความเคลื่อนไหวกรณีการแย่งชิงทรัพยากรในภาคใต้อย่างใกล้ชิด ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า “Chainarong Setthachua” ให้ข้อมูลโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ จ.ชุมพร รวม 5 โครงการ โดยจั่วหัวไว้ว่า “จับตา 5 โครงการน้ำจังหวัดชุมพร มีหลายฝ่ายรวมหัวกันเร่งผลักดัน” จากนั้นเป็นการให้รายละเอียดไว้สั้นๆ ดังนี้
 

 
1. โครงการบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการลุ่มน้ำคลองหลังสวนจังหวัดชุมพร 1,800 ล้านบาท อ้างแก้น้ำท่วม ทั้งที่น้ำท่วมหลังสวนมาจากเขื่อนกันคลื่นปากแม่น้ำ ช่วยให้ความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตโครงการดีขึ้น และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทั้งในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ และส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว
 
2. โครงการประตูระบายน้ำคลองสวีหนุ่ม พร้อมระบบส่งน้ำ งบประมาณ 750 ล้านบาท อ้างป้องกันน้ำเค็ม แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ 
 
3. โครงการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำคลองตะโก งบประมาณ 710 ล้านบาท อ้างว่าเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำหลาก และเก็บกักน้ำในลำน้ำไว้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจกรรมต่างๆ บริเวณริมสองฝั่งคลอง
 

 
4. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองละแม พร้อมระบบส่งน้ำ ด้วยงบประมาณ 1,800 ล้าน อ้างว่าเพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก เป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งของราษฎร เพื่อบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ตำบลละแม ตำบลทุ่งคาวัด อำเภอละแม จังหวัดชุมพร เพื่ออุตสาหกรรมการเกษตรในพื้นที่ เพื่อยกฐานะความเป็นอยู่และชีวิตของราษฎร เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์ปลาสัตว์น้ำจืด และเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนของประชาชนในจังหวัดชุมพร 
 
5. โครงการประตูระบายน้ำบ้านหาดแตง งบประมาณ 660.40 ล้านบาท อ้างว่าเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภค จำนวน 3,500 ครัวเรือน ประชากร 10,000 คน เป็นแหล่งน้ำสำหรับส่งให้แก่พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กาแฟ ทุเรียน มังคุด ประมาณ 4893 ไร่ บรรเทาปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นประจำในตำบลหินแก้ว อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร และช่วยให้ความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการดีขึ้น
 

 
เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่ ดร.ไชยณรงค์ นำข้อมูลโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ จ.ชุมพร รวมงบประมาณที่จะใช้ 5,720.4 ล้านบาท โดยมาเปิดเผยต่อสาธารณชนในเวลานี้นั้น นับว่าสอดรับต่อการที่รัฐบาลทหารภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังเร่งผลักดัน 5 โครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ จ.นครศรีธรรมราช กับ จ.พัทลุง ประกอบด้วย
 
1.โครงการสร้างเขื่อนวังหีบ งบประมารณ 2,300 ล้านบาท อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช 2.โครงการสร้างเขื่อนคลองสังข์ งบประมาณ 880 ล้านบาท อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช 3.โครงการสร้างเขื่อนเหมืองตะกั่ว งบประมาณ 750 ล้านบาท อ.ป่าบอน จ.พัทลุง 4.โครงการประตูน้ำปากประ งบประมาณ 1,300 ล้านบาท อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และ 5.โครงการคลองผันน้ำเมืองนครศรีธรรมราช งบประมาณ 9,580 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมพื้นที่หลายอำเภอของ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่าในส่วนของ 5 โครงการหลังนี้เกี่ยวกับการแอบอ้างโครงการพระราชดำริในหลวง ร.9 และใช้งบราว 15,080 ล้านบาท อีกทั้งกำลังถูกกระแสคัดค้านอย่างหนัก โดยชาวบ้านที่เกี่ยวข้องทุกพื้นที่นัดรวมตัวชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 25 ม.ค.2562 นี้ด้วย
 

 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 2 แหล่งในภาคใต้ดังกล่าวมาผนวกรวมกัน นั่นทำให้เป็นภาพชี้ชัดไปได้ว่าเป็นการเตรียมจัดหา “แหล่งน้ำดิบ” ไว้ให้แก่การผลักดันให้พื้นที่ภาคใต้โดยรวมกลายเป็นแหล่งการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งใหม่ของประเทศ แถมเมื่อรวมกับโครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแยกก๊าซ โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือกระทั่งคลองไทย และแลนด์บริดจ์ภายใต้แผนพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาเทิร์นซีบอร์ด) อันเป็นแผนที่ต่อเนื่องมาจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (อีสเทร์นซีบอร์ด) ซึ่งเวลานี้กลายร่างเป็นแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) โดยเฉพาะจะเริ่มด้วยการพัฒนาอุตาสาหกรรมปิโตรเคมีแบบเดียวกับที่มาบตาพุด จ.ระยอง
 


 

 


กำลังโหลดความคิดเห็น