xs
xsm
sm
md
lg

“นิเวศวิถี” จะให้เป็นแค่ยุทธวิธี?! หรือเป้าหมาย?! ที่ใช้ต่อสู้ “เมกะโปรเจกต์” ทั้งของรัฐและเอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์... “คนทุกข์ลุกสร้างสุข : สมัชชาประชาชนภาคใต้”
โดย… บรรจง นะแส สมาคมรักษ์ทะเลไทย
 

ในช่วง 5-6 ปีมานี้ ปรากฏการณ์ตื่นตัวของบุคคล/ชุมชน เพื่อหาช่องทางในการดำรงอยู่ของอาชีพ ปรากฏขึ้นมากมายหลากหลายในแต่ละท้องถิ่น แต่ละภูมินิเวศ อันเกิดขึ้นจากภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ให้ต้องคิดค้นหาวิธีการในการอยู่รอด และกระแสการตั้งคำถามต่อระบบทุนนิยมเสรีที่ปัจจัยหลักๆ ในการดำรงอยู่ ที่กำลังถูกยึดกุมด้วยระบบทุนนิยม

ผนวกกับกระแสของการพึ่งพาตัวเองทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน โดยเฉพาะที่เป็นเกษตรกรที่ไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน หรือผู้ใช้แรงงานที่มีค่าตอบแทนเป็นรายวัน/รายเดือน แต่ต้องอาศัยระบบนิเวศ ฐานทรัพยากรในการดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรายย่อยอย่างชาวนา ชาวไร่ ชาวประมง ชาวสวนยาง/สวนปาล์มขนาดเล็ก ที่กระจายกันอยู่ในทั่วทุกภาคของประเทศ

วาทกรรม “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่กระพือเข้ามาในสังคมไทย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมโดยรวมได้ตั้งหลัก ตั้งคำถามต่อเป้าหมายและทิศทางของการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ว่า มีความสอดคล้องกันมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าเรื่องของการกระจายผลประโยชน์ที่เป็นธรรม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของส่วนรวม ไม่ว่าที่ดิน ป่าไม้ ทะเล ภูเขา แหล่งน้ำ ฯลฯ แต่ไม่ได้ผนวกเข้าไว้ในต้นทุนของโครงการพัฒนาใหญ่ๆ ทั้งของรัฐและเอกชนภายใต้วาทกรรมที่เรียกว่า “เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม หรือเพื่อการพัฒนาประเทศ”

ปรากฏการณ์ของความขัดแย้งระหว่างโครงการขนาดใหญ่ทั้งของรัฐและเอกชน ที่ชุมชนลุกกันขึ้นมาตั้งคำถาม ตรวจสอบ รวมไปถึงการคัดค้านอย่างเอาจริงเอาจัง จึงปรากฏให้เห็นทั่วไปและบ่อยขึ้นในทุกๆ ภูมิภาคของประเทศ

รูปธรรมหนึ่งในหลายๆ ยุทธวิธีในการลุกกันขึ้นมาตรวจสอบ คัดค้าน หรือตั้งคำถามต่อโครงการพัฒนาต่างๆ คือ การหยิบยกเอาวิถีการดำรงอยู่ของชุมชนบนฐานทรัพยากรขึ้นมาอธิบายว่า ทำไมถึงต้องคัดค้าน หรือไม่ยินยอมให้สิ่งที่ดำรงอยู่ถูกทำลายไป และตั้งคำถามต่อสิ่งที่จะเข้ามาแทนที่ว่า ได้ตอบโจทย์ต่ออาชีพความเป็นอยู่ สภาวะทางด้านสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนได้มากน้อยแค่ไหน

การพูดถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลจะนะ ป่าชายเลน/ลำคลองในพื้นที่อำเภอเทพา พื้นที่ที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เล็งให้เป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงถูกตั้งคำถาม ถูกตรวจสอบในมิติฐานทรัพยากรที่ชุมชนจะต้องเสียไป และไม่สามารถอธิบายถึงความยั่งยืนได้ในหลายๆ มิติ

นับเป็นยุทธวิธีของชุมชนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เองก็ต้องกระอักเลือดต่อการลุกขึ้นสู้ของชุมชนในยุทธวิธีดังกล่าว เพราะไม่สามารถยืนยันและตอบโจทย์หรือคำถามของชุมชนได้

และถ้าเรามองไปในพื้นที่อื่นๆ ก็ไม่แตกต่างกัน กรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา กรณีการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กรณีท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 กรณีเขื่อนวังหีบ กรณีเขื่อนกั้นน้ำเค็มปากประ ฯลฯ ทุกชุมชนต่างลุกกันขึ้นมานำเสนอ “ของดี ความดี” ที่แต่ละชุมชนมีออกมาผ่านสื่อ ที่กลไกรัฐและทุนไม่สามารถที่จะควบคุมได้ เปิดพื้นที่ข้ามภาค ข้ามพรมแดนแห่งการรับรู้ ทำให้สังคมวงกว้างได้ร่วมรับรู้และตรวจสอบ

ก็ต้องยอมรับว่าโครงการขนาดใหญ่ทั้งของรัฐและเอกชน จำต้องชะงักหรือสะดุดหยุดลงในหลายๆ โครงการในหลายๆ พื้นที่ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่ชุมชนสามารถรวบรวมข้อมูลฐานทรัพยากรของตัวเองออกมาให้สังคมวงกว้างได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง หลากหลายและทรงพลัง ทำให้ทั้งรัฐและเอกชนต้องถอยไปตั้งหลัก หรือไม่ก็ต้องทบทวน ไม่สามารถใช้ยุทธวิธีหักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า หรือใช้อำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมได้ง่ายๆ อีกต่อไป

คำถามจึงมีว่า เราจะใช้นิเวศวิถีเพียงเพื่อเป็นยุทธวิธีในการลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องชุมชนแค่นั้นหรือ??? ถ้าไม่ใช่!!! สิ่งที่ควรต้องเดินหน้าต่อคืออะไร???

ผมมีข้อเสนอการแปลงนิเวศวิถีให้เป็นเป้าหมายอยู่ 2-3 ประการคือ1) ต้นทุนฐานทรัพยากรที่สัมพันธ์กับอาชีพของชุมชนมีความหลากหลาย เช่น ชุมชนชาวไร่ ชาวนา ชาวประมง ฐานทรัพยากรที่เป็นแหล่งทำมาหากินร่วมกัน เช่น ป่าไม้ ลำคลอง ทะเล ทะเลสาบ จะต้องได้รับการสำรวจอย่างจริงจังและเป็นวิทยาศาสตร์ เหมือนกับที่หลายๆ ชุมชนได้เริ่มทำ เช่น การสำรวจความหลากหลายของสัตว์น้ำอ่าวท่าศาลา ทะเลจะนะ ชุมชนเกาะหมากที่พัทลุง การสำรวจปะการัง แหล่งทำกิน แหล่งท่องเที่ยวของพื้นที่อ่าวปากบารา โดยเป็นการสร้างองค์ความรู้แบบมีส่วนร่วมภายในชุมชน ผ่านขบวนงานวิจัยแบบมีส่วนร่วม ถ้าสามารถประสานนักวิชาการ หรือมีนักวิชาการที่สนใจลงมาหนุน ก็จะทำให้งานออกมามีพลังมากขึ้น2) การเชื่อมต่อกับคนชั้นกลาง ผ่านการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันความรู้และผลผลิต ต่อยอดสู่การตลาดที่ร่วมรับรู้ รับผิดชอบร่วมกัน ผักปลอดสารพิษของชุมชนอาจจะไม่สวยงามเหมือนผักปลอดสารพิษของภาคอุตสาหกรรม แต่ผักของชุมชนต้องเชื่อมโยงให้เห็นถึงวิญญาณของผืนดินที่ผักเติบโต เชื่อมโยงให้เห็นถึงผืนดินอันเป็นที่งอกของเห็ดตามธรรมชาติ ให้เห็นถึงโคลนตมของป่าชายเลนที่จำเป็นต้องมีอยู่ มากกว่าแค่หอยปูปลาตัวโตๆ สวยๆ ในกะละมัง3) นิเวศวิถีจะต้องได้รับการปกป้องฟื้นฟูและเติมเต็มต่อยอด พันธุ์พืชที่หลากหลายต้องดำรงอยู่ ที่หายไปต้องเอากลับคืนถิ่น เพิ่มเติมในส่วนที่เพิ่มได้ พันธุ์สัตว์บกหรือสัตว์น้ำก็เช่นกัน และที่สำคัญสุดนิเวศวิถีจะต้องตอบโจทย์ปัจจัยสี่ของผู้คนในชุมชนได้ถ้าสามารถดำเนินการเช่นนี้ได้ นิเวศวิถีจึงจะเป็นอีกทิศทางหนึ่งของการพัฒนาประเทศและสังคม ที่ทุกภาคส่วนจะต้องเคารพขอบเขตซึ่งกันและกัน ร่วมมือกันในทางสร้างสรรค์ ไม่ก้าวล่วง ไม่บ่อนทำลายกัน โดยใช้อำนาจที่ไม่มีขีดจำกัดใดๆ อีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น