คอลัมน์ : จากนาบอนถึงริมฝั่งเจ้าพระยา
โดย : ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที ผู้ดำเนินรายการสภากาแฟ NEWS 1
เห็นลม เห็นฝน เห็นเมฆ เห็นความเสียหายของพี่น้องปักษ์ใต้จากการที่ “พายุโซนร้อนปาบึก” มาเยือนและก็ผ่านไป เวลานี้การล้างโคลนและเช็ดถูบ้านของหลายบ้านเสร็จไปแล้ว บางบ้านก็ยังคงดำเนินอยู่
แทบทุกครัวเรือนเร่งสำรวจกันแล้วว่ามีอะไรสูญหายหรือเสียหายบ้าง โดยเฉพาะหลังคาที่ปลิวหายไปกับพายุน่าจะเยอะมาก เราได้เห็นชีวิตของพี่น้องเริ่มต้นการกอบกู้เพื่อหยัดยืนต่อไป เริ่มต้นสู้ชีวิตกันใหม่อีกคราครั้ง
จากการติดตามข่าวสาร ได้เห็น “พายุปาบึก” ที่มาเยือนพี่น้องภาคใต้ครั้งนี้ ทำให้ผมนึกถึง “พายุซีต้า” ที่ถล่ม จ.ชุมพร เมื่อปลายเดือนสิงหาคมปี 2540
น้ำท่วมจมมิดหลังคาบ้านแทบทั่วทั้งเมืองชุมพร!!
ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ขนอาหาร ขนน้ำ หย่อนลงไปทางอากาศเพื่อให้ผู้ประสบภัยได้ประทังชีวิต
ปี 2540 ปีนั้นพายุซีต้าถล่มช่วงปลายเดือนสิงหาคม จากนั้น “พาไต้ฝุ่นลินดา” ก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้เดือนตุลาคม 2540 หรือช่วงหลังพายุซีต้าถล่มในเดือนสิงหาคมเพียงไม่นาน
หลังพายุซีต้าผ่านไปรถยนต์ของกองงานส่วนพระองค์จากหัวหินเดินทางมาถึง จ.ชุมพร “ในหลวง ร.9” ให้คณะลงสำรวจหาสาเหตุว่า ทำไมชาวชุมพรต้องพบกับภาวะน้ำท่วมตัวเมืองชุมพรบ่อยครั้ง และแต่ละครั้งหนักมาก?!
“คลองหัววัง-พนังตัก” คือบายพาสใหม่ที่พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า จะต้องตัดและขุดคลองอย่างเร่งด่วน เพื่อเอาน้ำไปลงทะเลเร็วที่สุด โดยไม่ให้ผ่านไปยัง “กระเพาะหมูเมืองชุมพร”
จากนั้นการบัญชาการรบกับภัยพิบัติที่รออยู่ข้างหน้าก็เริ่มต้นขึ้น!!
จากกลางวันยันดึกดื่น แม้จะตี 2 หรือตี 3 เสียงโทรศัพท์ยังดังขึ้น เป็นการติดตามความคืบหน้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งสอบถามถึงอุปสรรคปัญหาเพื่อหาทางแก้ หรือกระทั่งให้กำลังใจคนทำงานอยู่บริเวณหน้างานที่คลองหัววัง-พนักตัก
ตอลอดเวลา 24 ชั่วโมงของทุกวันที่เครื่องจักรกลทำงานอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย รถขุดขนาดใหญ่จ้วงตักดินแบบไม่มีหยุดพัก เพื่อให้ทันกับข้าศึก “พายุลินดา” ที่กำลังเคลื่อนตัวจะเข้าถล่มซ้ำที่หมายคือ “เมืองชุมพร” หรือไม่ก็อาจจะจะขึ้นฝั่งที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์
คนอาจพักได้ แต่จักรกลไม่ต้องพัก คนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันได้ แต่เครื่องจักรกลที่ขุดหากเสียก็เร่งซ่อม ซ่อมเสร็จก็ลุยต่อเลย หากฟันเฟือนจักรกลอันไหนพังชำรุดก็หาเปลี่ยนใหม่ แขนจักรกลร้าวก็เชื่อมซ่อมทันที
ระยะทางยาวของคลองที่ต้องขุดขยายให้เป็นบายพาสเอาน้ำผ่องถ่ายไม่ให้ผ่านตัวเมืองชุมพรรวมประมาณ 1,460 เมตร หรือราวหนึ่งกิโลครึ่งโดยประมาณ ส่วนความกว้างเทียบเท่าแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝั่งศิริราชไปถึงท่าพระจันทร์ประมาณนั้น
ที่ประชุมนักวิชาการด้านชลประทาน หน่วยงานราชการหลายหน่วยลงความเห็นก่อนหน้านี้ว่า การขุดคลองบายพาสหัววัง-พนังตัก จะสำเร็จได้ต้องใช้เวลากว่า 2 ปี อันเป็นไปตามงบประมาณและแบบแผนของระบบราชการ
แต่ในหลวง ร.9 พระองค์ท่านดำรัสย้ำว่า ภารกิจยุทธการขุดคลองหัววัง-พนังตักเพื่อบายพาสน้ำไม่ให้ท่วมเมืองชุมพรต้องแค่ “หนึ่งเดือน” เอาให้เสร็จ
หากงบราชการล่าช้า ก็ใช้เงินพระราชาสำรองไปก่อน!!
จากห้วงเวลาของเดือนสิงหาคม 2540 ที่พายุซีต้าถล่มชาวชุมพรย่อยยับอย่างแสนสาหัส ล่วงถึงต้นเดือนพฤศจิกายน 2540 หากจะว่าชาวชุมพรล้างดินโคลนที่มากับพายุถล่ม แล้วเก็บกวาดและเริ่มตกแต่งบ้านใหม่ยังไม่ทันเสร็จ
แล้วทำไมช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2540 จึงได้ส่งเอาพายุไต้ฝุ่นลินดาที่มีความเร็วลม 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมหอบเอาน้ำจากฝั่งทะเลจีนใต้จะเข้าไปถล่มเมืองชุมพรอีกระลอกแล้วหรือ!!
ทว่า พระราชาผู้ทรงเปี่ยมพระเมตตา พระองค์ท่านทรงตั้งพระทัยมั่นที่จะไม่ยอมให้ลูกหลานชาวชุมพรพบกับความเจ็บปวด ความสูญเสียที่แสนสาหัสกับภัยพิบัติแบบซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่ได้
เป็นเรื่องราวเล่าขานที่ “พ่อ” ของแผ่นดินพระองค์ท่านยอมไม่ได้จริงๆ!!
ประวัติศาสตร์ยุทธการขุดขยายคลองหัววัง-พนังตัก เพื่อตั้งรับการถล่มของระลอก 2 ของพายุลินดาในปี 2540 ซึ่งเป็นที่มาของโครงการพระราชดำริหนองใหญ่ จ.ชุมพร อันมีให้เห็นเป็นที่ประจักษ์อยู่ทุกวันนี้นั่นเอง
จึงเป็นตำนานที่จะต้องเล่าขานไปชั่วลูกชั่วหลานให้คนไทยได้ฟังและได้เข้าใจ “ปัญญา ความรู้ ความเมตตา”การทำงานของพระราชาผู้ยังความเพียรอย่างที่สุด!!
ความแม่นยำของการใช้ข้อมูลจากห้องทรงงานนางเมขลา เพื่อคำนวณพายุ คำนวณฟ้า คำนวณดิน คำนวณลม คำนวณแม้กระทั่งอุณหภูมิน้ำในห้วงมหาสมุทร และความปรวนแปรของอากาศ
ทำไมพระราชาช่างแม่นยำดังเทพเทวดา!!
แทบทุกวันในช่วงขุดคลองหัววัง-พนังตัก ถึงเวลาตี 3 เสียงโทรศัพท์ก็จะดังขึ้นเพื่อตรวจตราความคืบหน้า
แล้วทันทีที่การขุดแผ่นดินทะลุทะลวงถึงทะเลในค่ำคืนนั้น ขณะที่สายฝนเริ่มกระหน่ำ แล้วพายุลินดาก็หอบฝนจากทะเลจีนใต้ถล่มถึงชุมพรและประจวบทันทีเช่นกัน
มวลน้ำมหาศาลจากเทือกเขาฝั่ง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร กลับไหลตัดตรงออกไปสู่ทะเล โดยไม่ต้องไหลเข้าสู่ตัวเมืองชุมพร นั่นเป็นผลจากการบัญชาการรบของพระราชาเพื่อพสกนิกรของพระองค์
ยามที่เราหลับใหล แต่พระราชาทำงาน!!
เมื่อเมืองชุมพรพ้นภัยธรรมชาติ เราจึงได้เห็น “รอยยิ้มของพ่อ”
หมายเหตุ
- “พายุไต้ฝุ่นเกย์” เป็นพายุครั้งเลวร้ายที่สุดคาบสมุทรมลายู มีผู้เสียชีวิตเป็นชาวไทย 446 คน โดยขึ้นฝั่งวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 เวลาประมาณ 8.30 หลังเคารพธงชาติ
- “พายุซีต้า” ถล่ม จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2540 ชาวชุมพรได้รับความเสียหายอย่างแสนสาหัส 2 เดือนถัดมา “พายุไต้ฝุ่นลินดา” ความเร็วลม 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทยขึ้นฝั่งที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์
- ขอบคุณภาพประกอบบทความจากบริษัทแปซิกฟิค อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น, บริษัททีวีบูรพา และสำนักข่าวสวีนิวส์