xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกอบการเฮ! ศาลปกครองภูเก็ตสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นเกาะสิมิลัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พังงา - ผู้ประกอบการเฮ ศาลปกครองภูเก็ต ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามคุมจำนวนนักท่องเที่ยวลงอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นระยะเวลา 3 เดือน

วันนี้ (2 ม.ค.) ศาลปกครองภูเก็ต ได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับคดี ในคดีที่นายนิพนธ์ สมเหมาะ ประธานชมรมและผู้ประกอบการเรือทัวร์หมู่เกาะสิมิลัน-สุรินทร์ ฟ้องร้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งของ นายธัญญา เฉพาะประกาศที่พิพาทฉบับแรกตามประกาศกรมอุทยานฯ เรื่องการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ลงวันที่ 9 ต.ค.2561 ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562-31 มีนาคม 2562 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
 
และให้ยกคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ทุเลาการบังคับตามประกาศที่พิพาทฉบับที่สอง ตามประกาศกรมอุทยานฯ เรื่องกำหนดอัตราค่าบริการสำหรับยานพาหนะประเภทเรือที่เข้าไปในเขตอุทยานฯ สิมิลัน ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2561 โดยศาลได้พิจารณาให้ทุเลาการบังคับตามประกาศที่พิพาททั้งสองฉบับไม่ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป การให้ทุเลาบังคับตามประกาศที่พิพาททั้งสองฉบับไม่ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ย่อมไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่สาธารณะแต่อย่างใด

ด้าน นายนิพนธ์ สมเหมาะ ประธานชมรมเรือนำเที่ยวสิมิลัน สุรินทร์ กล่าวว่า จากการที่ศาลปกครองภูเก็ตได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เป็นระยะเวลา 3 เดือน คือ มกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม ผู้ประกอบการ พนักงาน และชาวบ้านต้องขอขอบคุณศาลที่ท่านกรุณาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในตอนนี้ แต่ตนมองจุดนี้เป็นจุดที่เพิ่งจะเริ่มต้น ซึ่งสิ่งที่เรานำไปชี้แจงต่อศาลเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมดในทุกๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของการทำงานวิจัย การมีส่วนร่วม การดูแลทรัพยากร หรือแม้แต่เรื่องของการท่องเที่ยว

“ต้องยอมรับว่าตอนนี้ภาพของการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ ตกต่ำเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศและของประชาชน ถ้าภาพของการคุ้มครองอุทยานแห่งชาติเกาะสิมิลันมันเกิดในมิติของการร่วมมือ ที่เราจะใช้การท่องเที่ยว การดูแลการรักษาร่วมกัน”

ในวันที่ศาลปกครองภูเก็ตไต่สวน ศาลท่านเองก็ได้ถามว่าถ้าศาลคุ้มครองแล้วมีนักท่องเที่ยวเพิ่มทางผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวจะทำอย่างไร ตนเองก็เรียนต่อศาลว่า งานของการท่องเที่ยวทางทะเลโดยเฉพาะเกาะสิมิลัน ปัจจุบันเป็นที่ได้รับความนิยมและมีหลายหน่วยงานที่มาเกี่ยวข้อง เช่น การคมนาคมทางทะเล ก็มีกรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ การช่วยเหลือด้านความปลอดภัยในทะเล หรือแม้แต่ตัวทรัพยากรเอง ในพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวมีจำนวนมาก การดูแลการตรวจสอบ อาจจะมีหน่วยงานอื่น เช่น กรมทรัพยากรทางทะเล หรือหน่วยงานราชการในท้องถิ่นเข้าไปช่วยอุทยานในเรื่องของกระบวนการท่องเที่ยวทางทะเล และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับที่พอดี จัดการกับทรัพยากรได้

ในส่วนของการที่อุทยานจะทำการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองนั้น เมื่อศาลให้ความคุ้มครองหากมีนักท่องเที่ยวเพิ่มเราต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและเกิดผลกระทบ รวมทั้งรวบรวมในเรื่องหลักการจัดการเพื่อนำมาศึกษาและปฏิบัติที่ชัดเจน ส่วนในเรื่องของการอุทธรณ์เป็นเรื่องปกติหากความคิดเห็นต่างๆ ยังไม่ชัดเจนไม่เหมือนกันก็เป็นสิทธิของทางอุทยานที่จะทำได้

ตนเองมองว่าในการที่ร้องศาลปกครอง ก็ทำไปตามขั้นตอนทุกอย่าง ซึ่งความเดือดร้อนของผู้ประกอบการได้ถูกนำเสนอไปถึงฝ่ายบริหาร ฝ่ายสำนักนายกรัฐมนตรี ฝ่ายนิติบัญญัติเรื่องของทางผู้ประกอบการก็ได้เข้ากรรมาธิการ รัฐสภา และศาลดูจากข้อมูลที่ทางเราได้รวบรวม ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง มองว่าศาลใช้ดุลพินิจในครั้งนี้ได้เหมาะสม ส่วนทางอุทยานจะอุทธรณ์ก็แล้วแต่มุมมอง หากมีการอุทธรณ์จริงตนก็พร้อมที่จะเข้าไปชี้แจงให้ศาลท่านได้ทราบถึงข้อเท็จจริง และไม่ใช่เราไม่ดูแลทรัพยากรแต่เราจะใช้ทรัพยากรที่อยู่อย่างเหมาะสม

การยืนฟ้องศาลปกครองภูเก็ตในครั้งนี้ สืบเนื่องจากภายหลังจากที่นักท่องเที่ยวได้แห่กันไปท่องเที่ยวยังเกาะสิมิลัน จ.พังงา เป็นจำนวนมาก ไม่ต่ำกว่าวันละ 7,000-8,000 คน ทำให้เกิดความแออัด และเห็นว่าหากปล่อยให้นักท่องเที่ยวขึ้นเกาะจำนวนมากๆ ทุกๆวันจะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติที่สวยงามของเกาะสิมิลันได้ ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงได้ออกประกาศจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นเกาะสิมิลันได้วันละ 3,225 คน ทำกิจกรรมดำน้ำได้วันละ 525 คน ประกาศดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการเรือทัวร์ที่นำนักท่องเที่ยวไปท่องเที่ยวที่เกาะสิมิลัน ที่ไม่สามารถนำนักท่องเที่ยวไปได้เหมือนที่ผ่านมา ประกอบกับขั้นตอนการดำเนินการของกรมอุทยานฯในการอนุญาตนำนักท่องเที่ยวลงไปท่องเที่ยวยังเกาะสิมิลันยุ่งยาก ทั้งในเรื่องตัวเรือ นักท่องเที่ยว จนมีการหารือร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนสามารถตกลงกันได้ เช่น การเปลี่ยนเรือกรณีที่เรือเกิดขัดข้อง เป็นต้น

เมื่อผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองจังหวัดภูเก็ต ขอให้คุ้มครองชั่วคราวในเรื่องของการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งศาลปกครองจังหวัดภูเก็ต ได้พิจารณาและสั่งคุ้มครองจำนวนนักท่องเที่ยวตามที่ผู้ประกอบการยื่นขอเป็นเวลา 3 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2562 นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น