xs
xsm
sm
md
lg

“แผ่นดินด้ามขวาน” ยาวที่สุดของแหลมมลายูใต้ปีก “มหาอำนาจ-ทุนโลกบาล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
โดย...ศูนย์ข่าวภาคใต้
 
 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ดิจิทัลกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย 4.0” ภาพจาก MGR Online
 
…ดิจิทัลจะเป็นตัวเร่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยไทยแลนด์ 4.0 ผมยกขึ้นมาเป็น Theme ที่จะนำพาในการจะขับเคลื่อนไปด้วยกัน ซึ่งจริงๆ แล้วก็มาจากที่ใช้คำว่า ปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ยุคที่ 4 ผมก็นำมาปรับเข้ามาใส่ตรงนี้ ซึ่งไทยแลนด์ 4.0 นั้นไม่ใช่เศรษฐกิจอย่างเดียว เป็นเรื่องของคน เป็นเรื่องของดิจิทัล เป็นเรื่องต่างๆ เหล่านี้ด้วย จะต้องมาด้วยกันทั้งหมด ผมเลยใช้คำว่าไทยแลนด์ 4.0 คนเป็นปัจจัยสำคัญ บวกกับเครื่องมือ เทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ ในการที่จะไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจในยุคที่ 4…”
 
ปาฐกถาพิเศษของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. หัวข้อ “ดิจิทัลกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย 4.0” ในโอกาสเป็นประธานเปิดงาน Thailand Digital Big Bang 2017 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี 21 กันยายน 2560 (http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/6882)
 

 
จากความระหว่างบรรทัดของเนื้อหาที่ถ่ายทอดคำปาฐกถาที่ยกมาช่วงหนึ่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อถอดรหัสนัยเชื่อว่าน่าจะตอบโจทย์ของการตั้งหัวข้อของงานเขียนชิ้นนี้ได้ครอบคลุมและกระจ่างคือ “แผ่นดินด้ามขวาน” ยาวที่สุดของแหลมมลายูใต้ปีก “มหาอำนาจ-ทุนโลกบาล”
 
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุไว้ชัดเจนว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้ “นโยบายไทยแลนด์ 4.0” หรือใช้เทคโนโลยีใน “ยุคดิจิทัล” ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ โดยเฉพาะให้น้ำหนักไปกับ “เศรษฐกิจในยุคที่ 4” อย่างมีนัยสำคัญ แม้จะเป็นการหว่านโปรยวาทกรรม อันหมายว่าประเทศไทยเราเปลี่ยนผ่านกระบวนการพัฒนามาแล้วถึง 3 ยุค ได้แก่ ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม และยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ เวลานี้กำลังโลดแล่นอยู่ในยุคที่ 4 คือ ยุคดิจิทัล ซึ่งจะนำพาการพัฒนาอะไรต่อมิอะไรไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วแบบสุดๆ รวดเร็วชนิดเท่าที่เคยมีมาบนโลกใบนี้
 

 
เพื่อให้เข้าใจไทยแลนด์ 4.0 หรือประเทศไทยในยุคดิจิทัลได้ดี ขอหยิบยกการให้นิยามของ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ผู้ก่อตั้งสื่อเครือผู้จัดการ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยผงาดและได้รับการยอมรับในระดับเอเชีย ในฐานะนักประวัติศาสตร์ที่เฝ้าอ่านปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปทั้งของไทยและของโลก
 
สนธิ เคยกล่าวไว้ในหลายกาละและเทศะถึง “หัวใจ” สำคัญของยุคดิจิทัลว่า เป็นการรวมเป็นเนื้อเดียวกันอย่างแนบเนียนของ 1.การก้าวข้ามทางวัฒนธรรม(Cross Cultural) ทำให้เกิดการผสมผสานอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน 2.ความหลากหลาย(Diversity) ที่เกิดจากการก้าวข้ามและเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาให้ก้าวข้ามสู่ทุกภาคส่วนของสังคมโลก 3.การสร้างเครือข่าย(Networking) เพื่อสร้างประโยชน์และหาประโยชน์ และ 4.การพึ่งพากันและกัน(Independence) ทำให้ทั้ง 3 ประการแรกเกิดการเชื่อมโยงกัน
 
จึงชัดเจนถึงพลังแห่งการขับเคลื่อนการพัฒนาบนแผ่นดินด้ามขวานด้วย “โครงการพัฒนาขนาดใหญ่” มากมายว่า หาใช่เป็นเรื่องผู้กุมบังเหียนรัฐไทยกำหนดแต่ฝ่ายเดียว แต่มีอิทธิพลและผลประโยชน์ “ชาติมหาอำนาจ” และ “กลุ่มทุนโลกบาล” ที่ “ก้าวข้ามทางวัฒนธรรม” เข้ามาผสมโรง เป็นไปอย่างมี “ความหลากหลาย” แถมยังเป็น “การสร้างเครือข่าย” โยงใยสายสัมพันธ์กันลึกซึ้ง ซึ่งนำไปสู่ “การพึ่งพากันและกัน” ในการแสวงหาผลประโยชน์ได้อย่างลึกล้ำ
 

 
ที่ผ่านมา การกำหนดพลวัตการพัฒนาประเทศให้ไปในทิศทางไหน ดูเหมือนคนจำนวนมากเชื่อว่ารัฐไทยเป็นผู้กำหนดเอง โดยผ่านกลไกราชการแล้วนำไปรวบรวมให้ “สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)” จัดทำเป็น “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ฉบับต่างๆ ขึ้นมา ปัจจุบัน อยู่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ซึ่งถ้ามองกระบวนการที่วางไว้ย่อมเห็นเช่นนั้น
 
แต่ในความเป็นจริงไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ และแม้จะมีที่มาทั้งจากการเลือกตั้งหรือทำรัฐประหารเข้ามาก็ตาม ไม่ว่านักการเมืองสวมสูท ผูกไท หรือใส่เสื้อม่อฮ่อม หรือมาเต็มยศด้วยชุดกากี หรือเครื่องแบบลายพราง ต่างล้วนมีเงาทะมึนของกลุ่มผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น
 
แผนพัฒนาฯ ที่ถูกขีดเขียนไว้จึงไม่ต่างอะไรกับแผ่นภาพประดับฝาผนัง ขณะที่กลางห้องเป็นโต๊ะแชร์ใหญ่ให้บรรดาเจ้าสัวนั่งล้อมวงหารือสลับกับเสียงชนแก้วเป็นระยะ 
 
เมื่อใช้แว่นสายตาของนักอ่านปรากฏการณ์มองการพัฒนาภาคใต้จะพบว่า หลายสิบปีมานี้มีทั้งผู้นำชาติมหาอำนาจและนายทุนข้ามชาติ ต่างสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาเหยียบย่ำและเหย้าเยือนไทยแทบไม่ซ้ำหน้า ถ้าผู้นำไม่มาเองก็จะส่งตัวแทนมา หรือไม่ก็สร้างปรากฏการณ์ที่สื่อให้รู้ถึงความต้องการ ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายผลประโยชน์ที่ต้องผูกสัมพันธ์ด้วยคือ...
 
“โครงการพัฒนาขนาดใหญ่” หรือ “เมกะโปรเจกต์”
 
และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ไม่เพียงแต่ไทยเองที่เล็งเห็นโอกาสการยกระดับเศรษฐกิจ แต่ทั่วโลกก็เห็นถึงผลประโยชน์มากมายที่จะเก็บเกี่ยวได้ตามมา โดยเฉพาะเห็นถึง “ความจำเป็น” ที่ต้อง “ปักหมุด” ก่อสร้างโครงการเหล่านั้นไว้บนดินแดนด้ามขวาน 
 

 
แล้วอะไรคือ “ความจำเป็น” ที่จะต้องสร้าง “เมกะโปรเจกต์” ไว้ที่ภาคใต้ของไทย คำตอบล้วนพัวพันกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนอยู่ในระดับโลก และถือเป็นส่วนประกอบสำคัญชนิดที่โลกไม่เคยมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง กระทั่งฝั่งเอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน หรือแม้แต่กลุ่มอาเซียนเพื่อนบ้านเรา
 
ทว่า กับบรรดาผู้นำรัฐบาลและ สศช. รวมถึงนายทุนไทยต่างพร้อมที่จะประสานเสียงว่า ไม่เคยคิดหรือเขียนแผนให้เป็นเช่นนั้น เพียงแต่สิ่งที่วาดฝันไว้ชัดเจนว่าตั้งอยู่บนฐานศักยภาพของพื้นที่ และมีความเพียรพยายามที่จะกำหนดให้ภาคใต้เดินหน้าสู่การเป็นสิ่งนั้น แต่ก็ไม่ยอมที่จะเรียกขานว่า...
 
ความเป็น “ศูนย์กลางลอจิสติกส์โลก” และ “ศูนย์กลางพลังงานโลก” แห่งใหม่
 
ในประเด็นการปลุกปั้นให้เป็น “ศูนย์กลางลอจิสติกส์โลก” เป็นเรื่องที่นานาชาติรับรู้มานานแล้วว่า ภาคใต้ของไทยมีศักยภาพและมีความจำเป็นที่จะต้องรีบเร่งการพัฒนาด้านนี้ เนื่องจากดินแดนด้ามขวานเป็นใจกลางของคาบสมุทรมลายู แม้แผ่นดินเรียวเล็ก แต่ทอดยาวอย่างที่สุด โดยกั้นกลางระหว่าง 2 มหาสมุทร คือ มหาสมุทรอินเดียเบื้องตะวันตก กับมหาสมุทรแปซิฟิกเบื้องตะวันออก 
 
แล้วสิ่งที่ควรได้รับการยกเป็นศูนย์กลางขนส่งข้าม 2 ฟากมหาสุมทรได้นั้น ต้องนับเป็นความต่อเนื่องจากศูนย์กลางลอจิสติกส์โลกเดิมในเอเชียย่านคือ “ท่าเรือน้ำลึกสิงคโปร์” ที่ตั้งอยู่บริเวณ “ช่องแคบมะละกา” ซึ่งในเวลานี้ไม่สามารถรองรับปริมาณการขนส่งทางทะเลที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นแบบทบเท่าทวีคูณ
 
โลกได้เล็งหาที่ใหม่ที่ช่วยผ่อนภาระความเป็นศูนย์กลางลอจิสติกส์เก่าที่ช่องแคบมะละกา ซึ่งก็พบว่าตลอดแนวยาวของแผ่นดินภาคใต้ไทยเหมาะสุดจะทำโครงการที่อาจจะเรียกขานได้ว่าเป็น “อภิมหาเมกะโปรเจกต์” ใน 2 รูปแบบคือ
 
1.ทำ “คลองไทย (Thai Canal)” โดยให้ขุดคลองเชื่อม 2 มหาสมุรขึ้นมาใหม่ในลักษณะเดียวกับที่เคยเดินขึ้นบนโลกมาแล้ว 2 แห่งคือ “คลองสุเอซ” ที่คาบเกี่ยวระหว่างยุโรปกับตะวันออกกลาง กับ “คลองปานามา” ระหว่างอเมริกาเหนือกับอเมริกาใต้ และ
 
2.หากขุดคลองไม่ได้ก็ให้ทำ “สะพานเศรษฐกิจ (Landbridge)” เชื่อมระหว่าง 2 ฟากมหาสมุทร ซึ่งในทางยุทธศาสตร์การพัฒนา 2 อภิมหาเมกะโปรเจกต์นี้แทบจะไม่แตกต่างกัน และสามารถทดแทนกันได้ชนิดที่สร้างสิ่งใดแล้ว อีกสิ่งหนึ่งก็ไม่จำเป็นต้องสร้าง
 
แน่นอนว่าไม่ว่าอำนาจรัฐไทยจะยอมให้ขุดคลองไทย หรือให้สร้างแลนด์บริดจ์ขึ้นมาแทน การตัดสินใจจะทำอะไรใน 2 อภิมหาเมกะโปรเจกต์นี้ล้วนแล้วแต่จะต้องผลักดันให้เกิดเมกะโปรเจกต์อื่นๆ ทั้งที่เป็นส่วนประกอบสำคัญและจำเป็นตามมา ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึก ถนนมอเตอร์เวย์ เส้นทางรถไฟ และระบอบท่อน้ำมัน-ท่อก๊าซ หรือเป็นโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ต้องมีเคียงคู่เพื่อทำหน้าที่สนับสนุน เช่น โรงกลั่นน้ำมัน คลังน้ำมัน โรงแยกก๊าซ คลังก๊าซ โรงไฟฟ้าก๊าซ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าขยะ โรงถลุงเหล็ก นิคมอุตสาหกรรม ทั้งที่รองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป รวมถึงการสร้างและขยายสนามบิน เป็นต้น
 

 
แต่ดูเหมือนกลุ่มทุนเอกชนและกระทั่งกลุ่มทุนรัฐเอง มักจะชักใยให้ผู้กุมอำนาจในทุกรัฐบาลโอนเอนไปทางที่จะไม่สร้างคลองไทย เพราะต้องใช้งบประมาณสูงลิบลิ่ว จนเอื้อให้แก่ชาติมหาอำนาจและทุนโลกบาลเข้าครอบงำ หรือไม่อาจถึงขั้นฮุบเอาโครงการไปไว้ในมือได้ แถมฝ่ายความมั่นคงก็ไม่สนับสนุน เนื่องจากกลัวจะเสียแผ่นดินให้ต่างชาติ แม้จะเป็นไปในรูปแบบของการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต หรือการถูกบังคับเช่าเป็นระยะเวลานานๆ ก็ตาม
 
แต่กลับโน้มน้าวให้ผู้กุมบังเหียนรัฐไทยสร้างสะพานเศรษฐกิจขึ้นมาแทนที่เสียมากกว่า ซึ่งก็ดูได้จากการปรากฏความเคลื่อนไหวประเด็นแลนด์บริดจ์มีมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คลองไทยแม้มีความพยายามจะขับเคลื่อนอย่างแข็งขันของบางกลุ่ม แต่ดูเหมือนสังคมจะไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่
 
ดังนี้แล้วจึงอย่าได้แปลกใจว่า ที่ผ่านมาทำไมสังคมไทยจึงเห็นอาการเร่งรีบผลักดันให้เกิด “แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง” เป็นเส้นแรกที่ภาคใต้ตอนบน ซึ่งเวลานี้ก็มี “ท่าเรือน้ำลึกระนอง” เกิดขึ้นแล้ว แต่ต่อมาถูกโยกย้ายเลื่อนลงมาไว้ที่ภาคใต้ตอนกลางเป็น “แลนด์บริดจ์นครศรีธรรมราช-กระบี่”  เวลานี้ก็มีทั้ง “ทางหลวงแผ่นดินสาย 44” หรือ “ถนนเซาเทิร์นฯ” ทำหน้าที่เป็นมอเตอร์เวย์ มี “โรงแยกก๊าซขนอม” แล้วตามด้วย “โรงไฟฟ้าขนอม” ที่ผลิตจากก๊าซเกิดขึ้นแล้วถึง 4 ยูนิต แถม “นิคมอุตสาหกรรมบ้านนาเดิม” เป็นต้น
 
ทว่า ท้ายที่สุดสะพานเศรษฐกิจก็ถูกเลื่อนลงมาจบที่ภาคใต้ตอนล่าง แล้วเป็นความเคลื่อนไหวที่เป็นข่าวใหญ่โตต่อเนื่องมานานจนถึงทุกวันนี้คือ “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” เวลานี้มี “โรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย” มี “โรงไฟฟ้าจะนะ” ผลิตจากก๊าซแล้ว 2 ยูนิต และที่กำลังเร่งให้ตามมาอีกคือ ท่าเรือน้ำลึกหัว-ท้าย 2 ฟากทะเล ได้แก่ “ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” ฝั่งอ่าวไทย กับ “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ฝั่งอันดามัน พ่วงระบบโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อด้วย “เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าอุตสาหกรรม” ตามด้วย “ถนนมอเตอร์เวย์” ต่อด้วย “ท่อน้ำมัน-ท่อก๊าซ” แล้วสมทบด้วย “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” พร้อมๆ กับ “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” และยังอยากให้ตามด้วย “โรงไฟฟ้าถ่านหินปานาเราะ” รวมทั้ง “นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล” เป็นต้น
 

 
ส่วนประเด็นการปลุกปั้นภาคใต้ให้เป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” เป็นความต่อเนื่องมาจากเมื่อราวทศวรรษที่ 2520 หรือประมาณ 40 ปีที่แล้วที่ได้ตั้ง “ศูนย์กลางพลังงานไทย” หรือเรียกให้เข้าใจง่ายคือ “แบตเตอรี่ไทย” ด้วยการทำ “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Seaboard : ESB)” ขึ้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยเอา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เป็นแหล่งผลิตพลังงานป้อนให้คนไทยได้ใช้ภายในประเทศอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
 
เมื่อเน้นเรื่องการสร้างแหล่งพลังงาน จึงต้องมุ่งตั้ง “โรงแยกก๊าซ” และ “โรงกลั่นน้ำมัน” ตามมา เพื่อรองรับการแปรรูปวัตถุดิบจากแท่นขุดเจาะก๊าซและน้ำมันจากกลางทะเลอ่าวไทย บางส่วนได้จากบนบกในประเทศ อีกส่วนหนึ่งต่อท่อนำเข้ามาจากพม่า และก็มีที่นำเข้ามาทางเรือจากตะวันออกกลาง ก่อนที่จะตามด้วย “นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่โต แล้วนำไปสู่ “นิคมอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค”  ซึ่งกระจัดกระจายอย่างมากมายมโหราฬครอบคลุมไปทั้งภาคตะวันออก ล้นทะลักเข้าสู่บางส่วนของกรุงเทพฯ และปริมณฑล แถมต่อเนื่องไปจนถึงภาคกลาง ซึ่งก็มีนายทุนญี่ปุ่นร้องไห้เป็นข่าวโด่งดังเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์
 
ภายหลังจากเกิดโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดไม่นาน รัฐและทุนไทยก็ร่วมกันขับดันให้เกิดโครงการในยุทธศาสตร์ลักษณะเดียวกันขึ้นที่ภาคใต้ นั่นก็คือ “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้(Southern Seaboard : ESB)” ด้วยการตั้งต้นที่โครงสร้างพื้นฐานหลักคือ การทำแลนด์บริดจ์เชื่อม 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน และต้องการให้เป็น “ยุทธศาสตร์แลนด์บริดจ์กินรวบภายในประเทศ” อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะมีบทเรียนจากแลนด์บริดจ์อีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องเชื่อมข้ามไปยังฝั่งทะเลพม่าที่เบื้องตะวันตก ขณะที่เบื้องตะวันออกก็ต้องเชื่อมไปจนสุดทะเลของเวียดนาม
 
นอกจากนี้ ที่เซาเทิร์นซีบอร์ดบนแผ่นดินด้ามขวานยังมียังแผนขยับขยายให้โครงการใหญ่ขึ้นเป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” หรือจะเรียก “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” ก็ยิ่งตรงประเด็น
 
เนื่องจากแหล่งน้ำมันดิบของโลกอยู่ที่ตะวันออกกลาง ขณะที่แหล่งที่ต้องการใช้น้ำมันสุกในปริมาณสูงมากของโลกขับเคลื่อนเลื่อนไหลมาอยู่ที่เอเชีย โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นศูนย์รวมของความต้องการใช้พลังงานมากสุด จากนั้นก็กระจายความต้องการไปยังญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง รวมทั้ง 10 ชาติในอาเซียนด้วย
 
และเช่นเดียวกับประเด็น “ศูนย์กลางลอจิสติกส์โลก” สิงคโปร์ที่เป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” หรือ “ศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก” เดิม เวลานี้เกิดวิกฤตทั้งในด้านมลพิษ โดยเฉพาะการแปรรูปและขนส่งพลังงานข้ามโลก เวลานี้ก็ผลิตไม่ทันกับปริมาณความต้องการตลาดย่านเอเชียที่เพิ่มขึ้น
 

 
ดังนั้น การที่ไทยคิดทำแลนด์บริดจ์ในภาคใต้ นั่นนับว่าจะสามารถพ่วงการปลุกปั้นความเป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” แห่งใหม่ ควบคู่ไปกับความเป็น “ศูนย์กลางลอจิสติกส์โลก” แห่งใหม่ดังที่กล่าวไว้แล้วได้ด้วย 
 
โดยสามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมาขึ้นฝั่งที่ จ.สตูล แล้วทำการแปรรูปและส่งน้ำมันสุกไม่ว่าจะเป็นเบนซินหรือดีเซล เป็นต้น ส่งผ่านระบบท่อไปยังฝั่ง จ.สงขลา จากนั้นลำเลียงขึ้นเรือส่งต่อไปขายให้แก่แหล่งความเจริญทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของโลกในประเทศต่างๆ ย่านเอเชียนั่นเอง
 
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นให้ขบคิดต่อได้อีก กล่าวคือ เวลานี้โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดถูกยกระดับให้เป็น “โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor : EEC)” เป็นที่เรียบร้อยโรงเรียนรัฐบาล คสช.ไปแล้ว
 
จากที่ “โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด” เคยมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานเป็นปฐมบท เวลานี้กำลังปรับเปลี่ยนสู่การผลิตอุตสาหกรรมที่ล้วนเป็น “นวัตกรรม” หรือมุ่งให้สร้างเป็นสมาร์ทอุตสาหกรรมเต็มตัวในยุคดิจิทัล ดังนั้น การที่จะผลักดันให้ “โครงการเซาเทิร์นซีบอร์ด” ได้มุ่งเน้นการผลิตอุตสาหกรรมพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซเพื่อเป็นการทดแทนนั้น นั่นจะยิ่งสอดรับต่อยุทธศาสตร์ที่คิดไว้อย่างไม่ขัดเขินใช่หรือไม่ 
 

 
จากทิศทางการพัฒนาภาคใต้ที่ถูกกำหนดจากบรรดาผู้กุมบังเหียนอำนาจรัฐ ที่มีกลุ่มทุนไทยทะมึนอยู่เบื้องหลัง โดยร่วมมือกับกลุ่มทุนโลกบาลข้ามรัฐข้ามชาติ รวมถึงการแผ่รัศมีของเหล่าชาติมหาอำนาจมาครอบงำไว้ด้วย จึงตลอดห้วงเวลาหลายสิบปีมาแล้วเช่นกันได้ปรากฏมี “ภาคประชาสังคม” และ “ภาคประชาชน” รวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างต่อเนื่อง
 
ทั้งนี้ ก็เพราะ “ภาคประชาสังคม” และ “ภาคประชาชน”  ไม่เคยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอะไรเลยต่อโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ หรือที่มีบ้างก็เป็นไปแบบไม่ได้รับความเท่าเทียมและเป็นธรรม แต่กลับถูกกดทับทั้งฐานทรัพยากรธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงชุมชน กระทบถึงอาชีพ การดำเนินวิถีชีวิต ไม่เว้นกระทั่งด้านสุขภาพอนามัย
 
จาก 3 ขาหยั่งค้ำยันเศรษฐกิจภาคใต้ที่ตั้งอยู่บนฐาน “เกษตรกรรม” “การประมง” และ “การท่องเที่ยว” ซึ่งอิงแอบอยู่กับวัตถุดิบท้องถิ่น กลับกำลังจะถูกทำให้เปลี่ยนผ่านสู่การตั้ง “ฐานอุตสาหกรรมหนัก” นานาชนิดและหลากหลายประเภท แถมยังเป็นอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากภายนอกเข้ามาแปรรูป เสร็จแล้วก็นำกลับไปย้อนส่งออกสู่ตลาดภายนอกประเทศ
 
ส่วนที่เหลือทิ้งไว้ให้แก่สังคม ชุมชน และคนในพื้นที่เป็นเพียง “เศษเสี้ยวผลประโยชน์” กับสิ่งต่างๆ ที่มากมายไปด้วย “มลพิษ” ซึ่งบ่อนเซาะทำลายทั้งสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และก่อปัญหาอย่างสุขภาพผู้คน 
 

 
ดังนั้น จึงต้องจับตาความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมและประชาชนกันต่อไปว่า ต่อไปจะสามารถสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้หรือไม่ พร้อมๆ กับต้องไม่ละสายตาว่าทั้ง “อภิมหาเมกะโปรเจกต์” และ “เมกะโปรเจกต์” เหล่านี้จะถูกขับเคลื่อนต่อไปได้หรือไม่ และอย่างไร 
 
ความจริงแล้วตลอดหลายสิบปีต่อเนื่องเช่นกัน ควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกถึงการคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ที่ไม่สอดรับต่อฐานทรัพยากรและวิถีชีวิต ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนก็ได้เรียนรู้ที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ด้วยตัวเอง ทั้งการใช้ภูมิปัญญาและองค์ความรู้ที่เป็นที่ยอมรับตามหลักวิชาการ กระทั่งการลงแรงทำงานวิจัยด้วยตนเองก็ปรากฏให้เห็น
 
ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ได้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนศักยภาพและทรัพยากรท้องถิ่น หากจะเป็นอุตสาหกรรมก็เป็นการต่อยอดจากขาหยั่งค้ำยันฐานเศรษฐกิจเดิมคือ “เกษตร” “ประมง” และ “ท่องเที่ยว” แต่แม้จะเสนอแนะหรือกระทั่งร้องขอให้ช่วยพิจารณาทางออกกรณีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ สร้างปัญหาให้ประชาชนและชุมชนอย่างไร แต่ทั้งรัฐบาลปัจจุบันและในอดีตก็ไม่สนใจฟัง หรือยอมที่จะเงี่ยหูฟัง แต่ก็กลับทำเป็นไม่เคยได้ยิน บางครั้งมีท่าทีเหมือนจะอ่อนข้อ ทว่าสุดท้ายกลายเป็นใช้ตำราวิชามารหลากหลายรูปแบบ
 
ทั้งหมดทั้งปวงสามารถนำไปสู่บทสรุปที่ฉายภาพให้เห็นถึงประเด็นที่ว่า...“แผ่นดินด้ามขวาน” ยาวที่สุดของแหลมมลายูใต้ปีก “มหาอำนาจ-ทุนโลกบาล” ได้แจ่มชัดพอควร 
  



กำลังโหลดความคิดเห็น