xs
xsm
sm
md
lg

แผนพัฒนาไฟฟ้าไทย ธงนำคืออะไร? / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน  /  โดย...ประสาท มีแต้ม
 

 
ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือที่เรียกกันว่า “พีดีพี2018” จะเข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ  ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 7 มกราคม 2562 และจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในวันถัดไป โดยแผนดังกล่าวจะมีอายุการใช้งานนานถึง 20 ปี นานกว่าอายุของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ แต่ในความเป็นจริงแล้วแผนพีดีพีทุกฉบับก็มีอายุการใช้งานจริงประมาณเพียง 3-5 ปีเท่านั้น เพราะมีการเปลี่ยนแผนใหม่ตลอดมา
 
ทำไมเราจึงต้องสนใจแผนดังกล่าว

เพราะไฟฟ้านอกจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่มีมูลค่าในปี 2560 ถึง 6.5 แสนล้านบาทแล้ว ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และใช้ลดความเหลื่อมล้ำซึ่งประเทศไทยเรามีมากเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมีแนวโน้มจะแย่ลงๆ กว่าเดิม

หากย้อนหลังไปเพียงประมาณ 10 ปีที่แล้ว การพูดเรื่องการกระจายรายได้หรือการลดความเหลื่อมล้ำด้วยกิจการไฟฟ้าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก เพราะโรงไฟฟ้าต้องมีขนาดใหญ่เพื่อป้อนไฟฟ้าให้แก่ลูกค้านับหลายล้านคน แต่ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีได้เปลี่ยนไปแล้ว เราสามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดที่ไม่ต้องซื้อและอยู่บนหลังคาบ้านเพื่อใช้เอง ส่วนที่เหลือเพื่อขายเป็นรายได้เสริม

หลายคนคงคิดไม่ถึงว่า พลังงานจากแสงแดดจะมีมากเป็นกอบเป็นกำ แต่จากข้อมูลของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2017 พบว่า รัฐนี้สามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ถึง 29,796 ล้านหน่วย  ถ้าคิดเป็นมูลค่าในประเทศไทยก็ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท นี่ยังไม่นับพลังงานลม ซึ่งมีจำนวนพอๆ กันอีกด้วย

ค่าไฟฟ้าจำนวน 1.2 แสนล้านบาทนี้ หรือ 2.4 แสนล้านบาทเมื่อรวมพลังงานลมเข้าไปด้วย ถ้าหักค่าอุปกรณ์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศออกไป ผมคิดว่าเงินจำนวนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งจะหมุนอยู่ในชุมชน นั่นคือเป็นการกระจายรายได้ให้คนจำนวนมาก รวมถึงการจ้างงาน แทนที่จะอยู่ในกระเป๋าของมหาเศรษฐีเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จำนวนไม่กี่คน หรือไหลออกไปต่างประเทศเพราะต้องนำเข้าเชื้อเพลิงทั้งก๊าซฯ และถ่านหิน

ในแผนพีดีพี 2015 ซึ่งกำลังจะถูกยกเลิก ได้มีเป้าหมายว่าจะลดการใช้ก๊าซธรรมชาติจากประมาณร้อยละ 64 (ของการผลิตไฟฟ้า) ให้ลงมาเหลือร้อยละ 37 เมื่อจบแผนในปี 2036 แต่ในแผนใหม่ (พีดีพี 2018) ได้เปลี่ยนไปสู่เป้าหมายที่ให้ใช้ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 53 เรียกว่ากลับไปกลับมา แล้วแต่ “สาย” ไหนขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง

ผมไม่อยากจะลงในรายละเอียดเชิงตัวเลขมากนัก เพราะเป็นเรื่องเชิงเทคนิคมากเกินไป แต่ผมอยากจะนำเสนอภาพรวม หรือ “ธงนำ” ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มาให้คนไทยได้รับรู้ แค่ได้เห็นธงนำแล้วประชาชนจะรู้ว่าประเทศของตนจะไปในทิศทางใด ในอัตราเร็วเท่าใด เมื่อไหร่จะถึงเป้าหมาย และเป้าหมายนั้นเพื่อใคร

แต่เราไม่เห็นภาพดังกล่าวในแผนพีดีพี 2018 ครับ

รัฐแคลิฟอร์เนียได้เคยประกาศว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% เมื่อเทียบกับระดับที่เคยปล่อยในปี 1990 ภายในปี 2030 โดยมี 6 มาตรการสำคัญซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การผลิตไฟฟ้า 50% จากพลังงานหมุนเวียนของไฟฟ้าทั้งหมด

แต่เมื่อกลางเดือนกันยายนปี 2561 ผู้ว่าการรัฐ (Gov.Jerry Brown) ได้ลงนามในกฎหมายใหม่ ว่าจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจาก 50% เป็น 60% ของไฟฟ้าที่ขายปลีกทั่วทั้งรัฐ ภายในปี 2030 และจะหยุดการใช้พลังงานฟอสซิลทั้งหมด หรือไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เลย ภายในปี 2045

“มันไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ไม่ใช่จะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่มันเป็นสิ่งที่ต้องทำ แคลิฟอร์เนียมีพันธสัญญาที่จะต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นในการจัดการกับภัยคุกคามของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” ผู้ว่าการรัฐกล่าวหลังพิธีลงนาม 

เรามาดูความก้าวหน้าของเขาครับ ในปี 2017 รัฐแคลิฟอร์เนียสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้แล้วถึง 32% เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ซึ่งได้ 29% คาดว่าในปี 2020 จะได้ถึง 33% (ที่มา California Energy Commission - Tracking Progress) 

นอกจากนี้ ทางรัฐแคลิฟอร์เนียได้ออกเป็นกฎหมายว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020 เป็นต้นไป บ้านใหม่ทุกหลังจะต้องติดโซลาร์เซลล์ มาตรการดังกล่าวจะช่วยเร่งให้ถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น

คราวนี้เรามาดูของประเทศไทยบ้าง ผมได้รวบรวมตัวเลขในปี 2007 กับปี 2017 ดังตารางครับ

เราจะเห็นว่าร้อยละของพลังงานหมุนเวียนของไทย (ไม่รวมพลังงานน้ำ) ได้เพิ่มขึ้นจาก 1.7% เป็น 7.4% สำหรับการใช้ถ่านหินซึ่งจำนวนร้อยละได้ลดลงเล็กน้อย (แต่จำนวนการใช้กลับเพิ่มขึ้น) ทั้งนี้ เป็นเพราะว่า “มีการลวงทางบัญชี”เกิดขึ้น โดยมีการนำเข้าจากโรงไฟฟ้าลิกไนต์หงสา สปป.ลาวด้วย แต่ไม่นำมาคิด

ถ้าเทียบกับปี 2015 พบว่า ประเทศไทยเราใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้นหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ทั้งๆ ที่เราได้ลงนามในข้อตกลงปารีสว่าจะลด ในขณะที่รัฐแคลิฟอร์เนียเขาทำได้ตามสัญญา (ดูตาราง)
 

 
การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้ทำตามสัญญาในข้อตกลงปารีส  ไม่ใช่แค่เรื่องการเสียศักดิ์ศรีหรือขาดความเชื่อมั่นเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการปล่อยให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำภายในประเทศซึ่งเป็นต้นเหตุของความชั่วร้ายทั้งปวงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อไป โรคร้ายของประเทศจึงหมักหมมเพื่อรอการระเบิดอย่างเดียว

สิ่งหนึ่งที่ผู้วางแผนพีดีพีนำมาอ้างเสมอมาก็คือ “ดวงอาทิตย์ไม่ได้ส่องแสงตลอดเวลา และลมก็ไม่ได้พัดอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ระบบไฟฟ้าไม่เสถียร ไม่มั่นคง” จึงจำเป็นต้องจำกัดโควตาให้แก่พลังงานหมุนเวียน

ความคิดดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้พ่อค้าพลังงานฟอสซิลได้ผูกขาดต่อไปเท่านั้นเอง ไม่ได้มีปัญหาในเชิงเทคโนโลยีแต่อย่างใด เป็นแค่ Mindset หรือความเชื่อที่มีผลต่อพฤติกรรมเกี่ยวกับ “Baseload” เท่านั้นเอง

การบรรลุเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน 100% นั้นเป็นไปได้จริงและเป็นไปแล้ว ทั้งจากการศึกษาด้วยแบบจำลองคอมพิวเตอร์ และการปฏิบัติจริงในบางรัฐของประเทศเยอรมนี รวมทั้งรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งผมได้นำหลักฐานมาให้ดูและค้นคว้าต่อ ดังในภาพครับ ท่านที่ไม่สนใจเชิงลึกก็ผ่านไปเลยครับ
 

 
แต่ผู้ทำแผนพีดีพีฉบับใหม่ นอกจากจะไม่มีธงนำเพื่อแก้ปัญหาสำคัญของชาติแล้ว ยังได้ติดกับดักความคิดตัวเองอีกด้วย นอกจากนี้ ยังใช้กับดักที่ไม่มีอยู่จริงนี้ไปอ้างและผูกขาดความเป็นผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย โลกยุคใหม่จะล้าหลังอย่างนี้ไม่ได้ครับ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น