xs
xsm
sm
md
lg

BRN ลงทุนต่ำมาก! แค่กระสุน 10 นัดก็เอาชนะ “กองทัพ” ได้ทั้งทางการทหารและการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้  /  โดย…ไชยยงค์ มณีพิลึก
 

 
เป็นไปตามความคาดหมายของผู้ที่เข้าใจและคร่ำหวอดกับสถานการณ์ความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมั่นใจและแจ้งเตือนมาโดยตลอดว่า “บีอาร์เอ็นฯ” จะก่อเหตุความรุนแรงแบบ “ปูพรม” ในห้วงของการส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ ซึ่งถ้าติดตาม “วงจร” การเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนนี้ก็จะพบว่า การก่อเหตุในวัน “สัญลักษณ์รัฐไทย”  ไม่ว่าจะเป็น “ปีใหม่” หรือ “สงกรานต์” หรือ “ชักพระ” หรือ “เข้าพรรษา” หรือ “วิสาขบูชา” หรือ “มาฆบูชา” และอื่นๆ
 
ถือเป็นรูปแบบการก่อการร้ายที่ “ปกติ” ของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ
 
เพราะ “ยุทธศาสตร์” ของบีอาร์เอ็นฯ ที่ถือเป็น “ธงนำ” ในการก่อความรุนแรงคือ การ “ทำลายฐานเศรษฐกิจ” ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การท่องเที่ยวและการลงทุน ดังนั้น การก่อวินาศกรรมที่รูปประติมากรรม “นางเงือกทอง” ณ หาดสมิหลา เขตเทศบาลนครสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา ถือเป็นการทุบทำลายสัญลักษณ์แห่งการท่องเที่ยวนั่นเอง
 
เช่นเดียวกับการก่อวินาศกรรม “เสาไฟฟ้าแรงสูง” ในพื้นที่ อ.บางกล่ำ และ อ.ควนเนียง ของ จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่นอกการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากที่บีอาร์เอ็นฯ ต้องการที่จะทำลายเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวแล้ว ขบวนการนี้ยังต้องการที่จะ “สื่อ” ให้ทั้งฝ่ายประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐรับรู้ว่า พวกเขามีความสามารถในการขยายพื้นที่ของการสร้างความรุนแรงได้ตลอดเวลา ถ้าพวกเขาต้องการ
 
เป็นการสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชน และสร้างภาระของความยุ่งยากให้แก่เจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ในการต้องเฝ้าระวังพื้นที่นอกเขต 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ซึ่งไม่แน่ว่าถ้าพื้นที่การก่อเหตุถูกขยายออกไปเรื่อยๆ เช่น ไปยัง อ.สิงหนคร อ.รัตภูมิ หรืออำเภออื่นๆ ของ จ.สงขลา ด้วยเมื่อไหร่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็จะต้องประกาศพื้นที่ไม่ปลอดภัยเพิ่มเป็น 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ และก็เป็นไปได้ที่บีอาร์เอ็นฯ จะก่อวินาศกรมในพื้นที่ จ.สตูล เพิ่มเข้าไปอีกเพื่อที่จะได้ประกาศเป็นการแบ่งแยกดินแดนใน “5 จังหวัดชายแดนภาคใต้” อย่างเต็มรูปแบบเหมือนที่เคยเป็น
 
ประเด็นสำคัญของการก่อเหตุในพื้นที่ จ.สงขลา โดยเฉพาะการวางระเบิดแสวงเครื่องที่รูปปั้น “นางเงือก” และ “แมว-หนู” บริเวณชายหาดสมิหลาไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการก่อเหตุร้ายด้วยระเบิดแสวงเครื่องเคยเกิดขึ้นในเขต “เทศบาลนครสงขลา” มาแล้ว คงจำกันได้เหตุการณ์ใหญ่ๆ ก็ 2 ครั้ง 2 ครา คือ เมื่อปี 2548 มีการวางระเบิดที่ลานจอดรถโรงแรมกรีนเวิลดิ์ และปี 2551 มีการวางระเบิดสวนอาหาร 5 แห่งในค่ำคืนเดียวกัน และทั้งหมดก็เป็นฝีมือของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ
 
แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ระเบิดที่ อ.ควนเนียง และที่ อ.บางกล่ำ จ.สงขลา ซึ่งเป็นถิ่นฐานของ “ไทยพุทธ” ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า “แนวร่วม” ของบีอาร์เอ็นฯ คงจะไม่มีความสามารถในการก่อเหตุ ดังนั้น การก่อเหตุครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นว่าในพื้นที่ทั้ง 2 อำเภอมี “แนวร่วมบีอาร์เอ็นฯ” เกิดขึ้นและแฝงตัวอยู่แล้ว เพราะถ้าในพื้นที่ไม่มีแล้วคงจะไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติการได้อย่างแน่นอน
 
จากประสบการณ์ของการคลุกคลีอยู่กับงานความมั่นคงมานาน ทำให้ทราบว่าปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นฯ ในแต่ละครั้งมี “ความรอบคอบ” อย่างมาก กล่าวคือ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือนในการตรวจสอบเป้าหมาย รวมถึงรายละเอียดของพื้นที่ เส้นทาง มีการทดลอง หรือจำลองสถานการณ์ จำลองทางหนีทีไล่ ถ้าไม่มั่นใจในความปลอดภัยในการหลบหลีกช่วงหลังการปฏิบัติการแล้ว บีอาร์เอ็นฯ จะไม่ลงมือกระทำอย่างแน่นอน
 
จะสังเกตได้ว่า ช่วงกว่า 14 ปีที่ผ่านมา หลังการก่อเหตุของบีอาร์เอ็นฯ โอกาสที่เจ้าหน้าที่จะติดตามจับกุมได้อย่างทันท่วงที หรือสามารถตั้งจุดสกัดจับคนร้ายไว้ได้มีอยู่น้อยมาก ซึ่งในส่วนที่เจ้าหน้าที่เคยทำได้ผลก็มีแค่การสกัดรถที่ถูกปล้นจาก อ.นาทวี จ.สงขลา ได้ที่เกาะหม้อแกง ในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา หรืออย่างล่าสุดคือ การที่ ตชด.ไล่ตามแนวร่วมจนสามารถปลิดชีพได้ 1 ศพที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อเดือนที่แล้ว แต่ส่วนใหญ่แล้วหรือเกือบทุกเหตุการณ์หลังการก่อเหตุไม่ว่าจะระดับแนวร่วม หรือ “อาร์เคเค” ที่เป็นคนในขบวนการบีอาร์เอ็นฯ จะสามารถหลบหนีไปได้อย่างปลอดภัย และหากจับได้ก็เป็นการติดตามจับกุมของเจ้าหน้าที่ได้ในภายหลัง อันเนื่องจากการมีหลักฐานที่ทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุให้สาวไปถึงตัว
 
ดังนั้น จึงเป็นงานหนักและงานยากมากขึ้นของ จ.สงขลา และของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่จะต้องทำงาน “การข่าว” ให้มากขึ้น และทำในทุกพื้นที่เพื่อการตรวจสอบให้ทราบว่า ณ วันนี้บีอาร์เอ็นฯ ได้ “บ่มเพาะ” บรรดาแนวร่วมไว้ในพื้นที่ใดบ้างของ จ.สงขลา
 
ดังนั้น เรื่องระเบิดที่หาดสมิหลา อ.เมือง และที่ อ.ควนเนียง อ.บางกล่ำ จึงไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง เพราะการเมืองใน จ.สงขลา ไม่มีความขัดแย้งที่ยิ่งใหญ่มากพอ มีเพียงเรื่องการ “ขบเหลี่ยม” และ “ลูบคม” ระหว่างขั้วของ “นิพนธ์ บุญญามณี” กับขั้วของ “เจือ ราชสีห์” ซึ่งเป็นคนใน “พรรคแม่ธรณีบีบมวยผม” ด้วยกันเท่านั้น ซึ่งไม่ถึงกับต้องสังเวยด้วยการทำลายรูปปั้นเงือกทอง บนชายหาดสมิหลาแต่อย่างใด
 
อีกทั้งหากจะมองให้เป็นความขัดแย้งในเรื่องธุรกิจแล้ว ยิ่งเป็นเรื่องตลกกันไปใหญ่ ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน เพราะกว่า 4 ปีที่ “รัฐบาล คสช.” เข้ามาบริหารประเทศได้ทำการ “โหลดเตี้ย” ให้คนที่อยู่ในวงการค้าขาย ธุรกิจการท่องเที่ยว หมายรวมทั้งคนหาบไข่ปิ้งและขอทานมี “ความทุกข์ยาก” อย่างที่เท่าเทียมกัน ดังนั้น จึงไม่มีใครคิดสร้างสถานการณ์ด้วยการวางระเบิดรูปปั้นนางเงือก เพื่อทำให้การค้าขายหรือธุรกิจท่องเที่ยวย่ำแย่ยิ่งขึ้นไปอีกเป็นแน่
 
และยิ่งชัดยิ่งขึ้นที่หลังการลอบวางระเบิดกลางดึกใน 3 อำเภอของ จ.สงขลา แบบชนิดที่เจ้าหน้าที่ยังงงๆ กันทุกหน่วย เพราะหลังเกิดเหตุมีความพยายามหาหลักฐาน หาพยาน เพื่อหา “ผู้ต้องสงสัย” ให้มาเป็น “ผู้ต้องหา” ให้ได้เพื่อ “เอาใจนาย” นั้น เวลานี้ก็ยังหาไม่ได้แม้แต่คนเดียว แต่กลับเกิดเหตุ “ระเบิดเถิดเทิง” ขึ้นในหลายอำเภอของ จ.นราธิวาส รวมทั้งที่ จ.ยะลา และ จ.ปัตตานี ตามมาติดๆ ทั้งยิงถล่ม ทั้งวางและขว้างระเบิด ทั้งเผาทำลายสถานที่ ซึ่งนอกเจ้าหน้าที่ และประชาชนจะบาดเจ็บกว่า 10 รายแล้ว ล่าสุด “หญิงไทยพุทธ” ใน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ยังตกเป็นเหยื่อสถานการณ์อีก อันเกิดจากฝีมือของแนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็นฯ นั่นเอง
 
หรือใครจะเถียงว่า เรื่องทั้งหมดไม่ใช่ฝีมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีชื่อเรียกว่า บีอาร์เอ็นฯ แต่เป็นเรื่องของ “ขัดแย้งทางการเมือง” หรือเป็นเรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน” ก็ว่ามา แต่ต้องหาเหตุผลที่ฟังได้ เชื่อได้ ไม่ใช่พูดแบบพล่อยๆ แบบที่ควันระเบิดไม่ทันจางก็ “เสนอหน้า” ออกมา “ฟันธง” ว่า เป็นเรื่องของการเมืองอย่างที่ “คนบนหอคอยงาช้าง” ชอบกระทำกันนักแล
 
แน่นอนการเกิดเหตุการณ์ขึ้นในพื้นที่ 4 จังหวัดของแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อเทศกาลท่องเที่ยวช่วงส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ โดยมีผลกระทบต่อธุรกิจการค้าขายและการท่องเที่ยวมากบ้าง น้อยบ้าง อันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งสร้าง “ความทุกข์” ให้แก่ประชาชนในเทศกาลเปลี่ยนศักราชมากกว่าที่จะมี “ความสุข” เพราะทุกการเดินทาง ทุกความเคลื่อนไหว ใครๆ ก็อาจจะตกเป็นเป้าปฏิบัติการของแนวร่วมได้ ซึ่งอาจจะบาดเจ็บ หรือถึงขั้นเสียชีวิตโดยที่ไม่คาดคิดก็เป็นได้ทั้งนั้น
 
สิ่งนี้จึงต้องนับเป็น “งานยาก” และ “งานหนัก” ของ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 ที่จะต้องปรับกลยุทธ์ ปรับวิธีการสร้างความเข้าใจกับกำลังพลในแต่ละหน่วยในพื้นที่ให้มีความพร้อมมากกว่าเดิม โดยเฉพาะความพร้อมในการป้องกันเหตุ และต้องรวมถึงการทำลายแผนของบีอาร์เอ็นฯ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและกำลังพลให้เกิดขึ้นต่อไป
 
ถ้าสังเกตให้ดีจะพบเห็นว่า วิธีการเก่าๆ ที่บีอาร์เอ็นฯ เคยใช้ได้ผล เช่น การปลดอาวุธเอาจาก “กองกำลังท้องถิ่น” ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) หรือชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) เวลานี้ได้ถูกนำกลับมาใช้แล้วอีกครั้ง โดยพาะในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีอาวุธของฝ่ายรัฐเองจำนวนหนึ่งถูกเปลี่ยนมือให้ไปอยู่ในมือของแนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็นฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 
ทั้งนี้ วิธีการของแนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแต่สังเกตการปฏิบัติหน้าที่ของกองกำลังท้องถิ่นจนเข้าใจได้ว่า เมื่อถึงเวลาเข้าเวรพวกกองกำลังท้องถิ่นก็จะขับรถมายังสถานที่ทีละคน เช่นเดียวกัน หลังจากออกเวรแต่ละคนก็จะสะพายปืนและขับรถ จยย.กลับบ้านแบบบ้านใครบ้านมัน แนวร่วมก็ติดตาม หรือซุ่มรอเพื่อจับตัว หรือประกบยิงแล้วชิงปืนจาก อส.บ้าง ชรบ.บ้าง ชคต.บ้างไปได้แบบง่ายๆ ซึ่งหากเป็นกองกำลังท้องถิ่นที่เป็น “มุสลิม” พวกเขามักละเว้นไม่ทำร้าย แต่หากเป็น “ไทยพุทธ” อาจจะถึงขั้นยิงทิ้งเอาเลยด้วย
 
ว่ากันว่าตลอดปี 2561 นี้อาจจะเป็นปีที่อาวุธของเจ้าหน้าที่ถูกเปลี่ยนมือไปอยู่ในความครอบครองของคนในบีอาร์เอ็นฯ จำนวนมากที่สุดแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักร่วมกันว่า กองกำลังท้องถิ่นในส่วนที่เป็น “ชุดรักษาความปลอดภัยหหมู่บ้าน (ชรบ.)” หรือ “ชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.)” ซึ่งมักจะมีที่มาจากการเลือกเฟ้นคนของ “ผู้นำท้องที่” ส่วนมากมักจะเป็นลูกหลาน หรือไม่ก็เป็นลูกน้อง เป็นคนใกล้ชิดบ้าง กระบวนการได้มาซึ่ง ชรบ.และ ชคต.เหล่านี้ผู้หลักผู้ใหญ่ต้องให้ความใส่ใจได้แล้วว่า พวกเขาเป็น “คนของฝ่ายเรา” จริงหรือ อีกทั้ง “เงินจำนวนน้อยนิด” ที่เป็นค่าตอบแทนแต่ละเดือนถึงมือพวกเขาจริงหรือไม่ เพราะเมื่อพวกเขาเป็นแค่คนที่เสียสละเวลามาทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทน หรือมีเพียงน้อยนิด แล้วพวกเขาจะมีจิตใจในการที่จะต่อสู้กับแนวร่วมบีอาร์เอ็นฯ ได้อย่างไร
 
ดังนั้น เพื่อรักษาชีวิตไว้ พวกเขาจึงยินยอมที่จะ “ส่งอาวุธ” ให้แก่แนวร่วมเพื่อความปลอดภัยของพวกเขา การกระทำเช่นกัน จะมองว่าพวกเขากระทำผิดมหันต์ได้หรือไม่
 
เชื่อเถอะครับ ถ้าหากทั้ง ชรบ. ทั้ง ชคต. ทั้ง อส.ยังคงมีพฤติกรรมในการเดินทางไปเข้าเวรและออกเวรอย่างที่เห็น รวมทั้งการใช้คนโดยที่ไม่เคยคิดคำนึงถึงค่าตอบแทนที่คุ้มค่า สิ่งที่ต้องเกิดตามมาและต่อเนื่องไปคือ การสูญเสียอาวุธและอาจรวมถึงชีวิตของกองกำลังท้องถิ่นให้แก่แนวร่วมบีอาร์เอ็นฯ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
 
มีอีกประเด็นที่ต้องนับว่าสำคัญมาก และถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เห็นแบบ “ซ้ำซาก” มาแล้วด้วย อันเป็นผลจาก “นโยบาย” ให้ฝ่ายทหาร ตำรวจ และกองกำลังท้องถิ่นออกลาดตระเวนนอกฐาน หวังสยบและลดพื้นที่เคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม แต่กลับส่งผลให้อาร์เคเคของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ใช้วิธีการโต้กลับด้วยการ “ยิงถล่มฐาน” ซึ่งอาจใช้กระสุนปืนแค่ประมาณ 10 นัด หรือเครื่องยิงระเบิดแค่ 1 ลูก ก็ยังผลแล้ว นั่นคือส่งผลให้กองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐที่ออกลาดตระเวนต้องรีบหวนกลับฐานทันที สุดท้ายฝ่ายบีอาร์เอ็นฯ ก็ยังเคลื่อนไหวได้เหมือนเดิม
 
มีการเปรียบเปรยกันว่า บีอาร์เอ็นฯ ช่างลงทุนน้อยมาก “เสียกระสุนปืน 10 นัด” หรือ “เครื่องยิงระเบิด 1 ลูก” ก็สามารถเอาชนะใน “ด้านการทหาร” ต่อฝ่ายรัฐได้แล้ว
 
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อฝ่ายกองกำลังรัฐที่ถูกโจมตีฐานกลางดึก รุ่งขึ้นวันใหม่ก็จะต้อง “เอาคืน” ทันทีด้วยการเปิดปฏิบัติการ “ตรวจค้น” และ “จับกุม” เพื่อให้ได้ตัว “ผู้ต้องสงสัย” ตามหลักการ เพราะเชื่อว่าเมื่ออาร์เคเคสามารถโจมตีฐานได้ก็ต้องมีแนวร่วมฝังตัวอยู่ในหมู่บ้าน เมื่อมีคนในหมู่บ้านหรือตำบลจำนวนหนึ่งถูกนำไป “ซักถาม” หรือ “ตั้งข้อหาไว้ก่อน” นั่นจึงกลับกลายเป็นเรื่องที่ฝ่ายรัฐได้พ่ายแพ้ทาง “ด้านการเมือง” ให้แก่บีอาร์เอ็นฯ ไปในอีกทางหนึ่ง
 
สรุปสั้นๆ แบบให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ บีอาร์เอ็นฯ ใช้แผนเสียกระสุนปืนแค่ 10 นัด แต่สามารถเอาชนะทางการทหารได้ในช่วงเวลากลางคืน จากนั้นพอกลางวันไม่ต้องทำอะไรต่อเลย แต่ความโกรธจากการถูกโจมตีฐานของเจ้าหน้าที่ก็ได้ทำให้บีอาร์เอ็นฯ ได้ชัยชนะในทางการเมืองเพิ่ม
 
นี่ต่างหากที่เป็นโจทย์ใหญ่และสำคัญมากที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” จะต้องเร่งหาทางแก้ให้ตกเร็ววัน
 
มีสิ่งที่ต้องระวังห้วงเปลี่ยนศักราชตอนนี้คือ มีข่าวจาก “ฝ่ายเยาวชน” ของบีอาร์เอ็นฯ เล็ดลอดออกมาว่า ยังมีแผนก่อเหตุความรุนแรงต่อเนื่องอีกในหลายพื้นที่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของแนวร่วมที่ส่งไปแฝงตัวอยู่อย่างกระจัดกระจาย
 
ดังนั้น ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนก็จงรู้จักระมัดระวังตัวเอง รู้วิธีการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของตนเองเป็นดีที่สุด
 
มีผู้ตั้งสมมติฐานว่า การปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นฯ ช่วงนี้เป็นผลสืบเนื่องจากสูญเสียประโยชน์จากการที่แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งให้มีปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดและสินค้าเถื่อนตามแนวชายแดนอย่างได้ผล ซึ่งทำให้ “มวลชน” ที่อยู่ในวังวนของการค้ายาเสพติดและสินค้าเถื่อนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ที่สำคัญทำให้ “รายรับ” ของบีอาร์เอ็นฯ ได้กระทบกระเทือนไปด้วย จึงเกิดปฏิบัติการตอบโต้แบบปูพรมทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
หากเป็นเรื่องจริง ปฏิบัติการนี้ก็ควรดำเนินต่อไป พร้อมๆ กับสิ่งที่ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ต้องเร่งลดเหตุร้ายจากฝีมือบีอาร์เอ็นฯ ให้ได้โดยเร็ว และต้องไม่ปล่อยให้ลุกลามไปยังนอกพื้นที่อีก เพราะนั่นคือ “หายนะ” ทั้งด้านความมั่นคง และเศรษฐกิจของประเทศ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น