xs
xsm
sm
md
lg

พระเจ้าแผ่นดินไม่ทิ้ง “เมล็ดมะขามหวาน” แม้เพียงเมล็ดเดียว ทรงนำไป “ปลูกปัญญา” ให้ชาวนาชาวไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์  :  จากนาบอนถึงริมฝั่งเจ้าพระยา
โดย  :  ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที  ผู้ดำเนินรายการสภากาแฟ NEWS 1
 
หลักการห่มดิน เป็นหลักการพื้นฐานที่นำไปแก้ปัญหาได้ทุกสภาพดินในประเทศไทย
 
ปี 2553 ในฐานะสื่อมวลชนที่สนใจปัญหาความยากจนของเกษตรกร ผมเองมีโอกาสเป็นวิทยากรพาเกษตรกรชาวนาภาคกลางไปศึกษาดูงาน
 
ณ “ไร่ชั่งหัวมัน” อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี 
  
เพื่อเป็นกำลังใจให้พวกเขาว่า “อย่าหมดกำลังใจ ขายแผ่นดินกิน” หรือ “อย่าทิ้งแผ่นดินหนี เพื่อไปเป็นคนจนเมือง” และ “ความจนไม่ได้เป็นอุปสรรค หากยังมีปัญญาและความเพียร”
 
เราได้เห็นความขยันของชาวไร่ชาวนา อย่างชาวนาทำนาปีละ 2 หนบ้าง 3 หนบ้าง ก็ยังยากจนข้นแค้น แถมยังมีหนี้สินพอกพูน รายได้จากภาคเกษตรไม่พอกับรายจ่าย ปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อเร่งหาเงิน สุดท้ายเงินหาเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ
 
แต่โฉนดที่ดินกลับไปอยู่ที่นายทุนบ้าง ธ.ก.ส.บ้าง โดยฝากไว้ตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ไปจนถึงรุ่นหลาน จนลืมกันไปแล้วว่าหน้าตาโฉนดที่ดินเป็นอย่างไร
 
จำได้ว่าเราพาเกษตรกรไปครั้งนั้นรวม 80 คน
 

 
กลับจากการดูงานที่ “ไร่ชั่งหัวมัน” มีเกษตรกรหัวไวใจสู้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง 2 คน ซึ่งก็ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย
 
เพราะแม้ว่าจะทำคนเดียว นั่นก็ถือว่าไม่ล้มเหลว
 
เพื่อแสวงหาเกษตรกรต้นแบบให้เกิดขึ้นในหมู่บ้านให้ได้ ความสำเร็จเกิดจากชาวนาคนเดียวที่มองเห็นแรงบันดาลใจจากการศึกษาเรียนรู้ที่นี่
 
จำได้ว่ามาจากเรื่องเล่าเม็ดมะขามหวานที่พ่อปลูก
 
“พี่ศรราม” คนทำไร่ของในหลวงที่ไร่ชั่งหัวมัน เล่าให้ฟังว่า คนท่ายางพอทราบว่าในหลวงมาทำไร่ที่นี่ ต่างก็ดีใจ ทุกคนพอมีเวลาว่างก็จะมาลงแรงช่วยปลูกพืชให้ในหลวง ปลูกนั่นปลูกนี่เต็มไร่
 
ที่นั่นปริมาณน้ำฝนน้อย ความชื้นน้อย ค่อนข้างแห้งแล้งเพราะอับฝน
 
แต่สุดท้ายพืชผักผลไม้ก็กลับงอกงามขึ้นกันมาได้
 

 
“อ.ปัญญา ปุลิเวคินทร์” รุ่นพี่ธรรมศาสตร์ ผอ.แห่งศูนย์ภูมิรักษ์ จ.นครนายก เล่าให้ฟัง ที่ดินในแผ่นดินตรงไหนที่จัดว่าแสนยากลำบาก มีแต่หิน แห้งแล้ง ฝนน้อย ดินแย่ที่สุด ทำการเกษตรอย่างคนธรรมดาเขาทำไม่ได้
 
ที่นั่นแหละในหลวงจะใช้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ทำให้ดู ทำให้เห็น!
 
และสุดท้ายต้นไม้ พืชผัก ธัญญาหาร สมุนไพร ผลไม้ ฟักแฟงแตงกวา ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด มะนาว มะพร้าว ส้มโอ จนไปถึงเผือกและมัน พืชบนดิน พืชเรี่ยดิน พืชหัวใต้ดิน ก็งอกงามขึ้นได้

ในแผ่นดินที่พระเจ้าแผ่นดินเลือกที่จะพิสูจน์ เลือกที่จะเป็นต้นแบบทำให้เห็นว่า...

 
“ความขาดแคลนมิได้เป็นอุปสรรค หากมีปัญญาและความเพียร”  
  
ชาวนามีดินดี มีน้ำท่าสมบูรณ์ ปลูกข้าวหาเงิน แต่ในบ้าน ในที่ดิน ในหัวไร่ปลายนา “ไม่มีพืชที่กินได้”
 
ขายข้าวได้เป็นเงินไปซื้อกินทุกอย่าง ข้าวที่ได้ก็ไม่กิน ไปซื้อข้าวถุงจากห้างร้านค้าใหญ่ในตัวจังหวัดมาหุงกิน ขิงข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ขมิ้นพริก ซื้อจากตลาดในห้างใหญ่กันหมด
 
เพราะอย่างนี้ “ความจน” ถึงมาเยือนอย่างถาวร
 
ภาพถ้วยที่ในหลวงทรงปลูกเมล็ดมะขามหวาน สำนักข่าว Manager online ยังคงเก็บไว้ที่ห้องสมุดข่าวของ NEWS 1
 
กินทิ้ง กินขว้าง เมล็ดพืชผัก มะละกอ มะม่วง ใบกะเพรา พืชผักสารพัด แค่หว่านหรือเสียบปักลงในดิน มันก็จะงอกให้เราได้กิน
 
แต่เกษตรกรที่ถูกสอนจน “เมาเงิน” กลับหลงลืมไม่ทำกัน ทำให้ต้องพากันไปดูว่า พระเจ้าแผ่นดินคิดอะไร
 
เม็ดมะขามหวานเม็ดเดียว ในหลวงก็ไม่ทิ้งขว้าง 
 
ตอนที่ในหลวง ร.9 อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช แม้กระถางที่ปลูกเม็ดมะขามถูกเขียนข้อความติดไว้ว่า
 
“รพ.ศิริราช ทรงปลูกมะขาม วันที่ 25 ธันวาคม 2552”
 
ให้เจ้าหน้าที่ช่วยหาดินใส่กระถาง แล้วในหลวงก็ปลูกเม็ดมะขามเอาไว้ เมื่อโตได้มาประมาณสูงเท่าปากกา ก็ให้เจ้าหน้าที่เอาไปปลูกใน “ไร่ชั่งหัวมัน” ที่ อ.ท่ายาง
 

 
ถึงวันนี้เม็ดมะขามที่พ่อปลูก งอกงามอยู่ตามริมรั้วเต็มไปหมด พี่ศรรามเล่าให้ชาวนาชาวไร่ในวันนั้นฟัง
 
ถ้วยกระถางที่พ่อปลูกเม็ดมะขามหวานใบนี้ช่างมีความหมาย ต้นมะขามไม่ได้งอกงามอย่างเดียว
 
แต่ “กำลังใจ” รวมถึง “ปัญญา” และ “ความละเอียดประณีตของพระเจ้าแผ่นดิน” ได้งอกเป็นต้นกล้าอยู่ในใจให้แก่เกษตรกรหัวไว ผู้ไม่ยอมจำนนกับความยากจนอีกหลายชั่วรุ่นในแผ่นดินนี้
 


กำลังโหลดความคิดเห็น