xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง! พบฝูงนกเงือกกรามช้างกว่า 200 ตัว บินเหนือป่าวังหีบชี้ชัดถึงความอุดมสมบูรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
นครศรีธรรมราช - พบฝูงนกเงือกกรามช้างเกือบ 200 ตัว รวมฝูงบินเหนือป่าวังหีบพื้นที่สร้างเขื่อน เป็นหลักฐานความสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญยืนยันเป็นนกหายาก จำนวนที่พบอาจมากที่สุดในประเทศไทย

วันนี้ (25 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานภาพฝูงนกเงือกกรามช้าง ซึ่งเป็นนกป่าหายากที่สำคัญของประเทศไทย บินแยกฝูงอย่างน้อย 3 ฝูง รวมกว่า 200 ตัว ซึ่งอาจเป็นจำนวนที่มากกว่าป่าเขาใหญ่ด้วยซ้ำ นกเงือกทั้ง 3 ฝูงนี้กำลังบินเหนือผืนป่าวังหีบ ต.นาหลวงเสน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่ก่อสร้างโครงการเขื่อนวังหีบ ภาพนี้ชาววังหีบได้บันทึกไว้ได้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2561 ด้วยโทรศัพท์มือถือ และภาพนี้กำลังกลายเป็นหลักฐานสำคัญของตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่าวังหีบ ที่กำลังถูกหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงความเร่งรีบ รวมทั้งรายงานอีไอเอที่ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่
 

 
นายเทอดไท ขวัญทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำยกโยง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่อยู่ติดกันกับป่าวังหีบ เปิดเผยข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวว่า นกเงือกกรามช้างในประเทศไทยมีไม่มาก มีเฉพาะผืนป่าดงดิบที่สมบูรณ์มากเท่านั้น และยอมรับว่าไม่เคยเห็นนกเงือกที่มีจำนวนมากเทียบเท่าภาพที่บันทึกได้มาก่อน แหล่งที่อยู่อาศัยของนกเงือกกรามช้างในภาคใต้มีไม่กี่แห่งเท่านั้น และเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมากที่พบนกเงือกกรามช้างจำนวนมากขนาดนี้ ถือเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่ทรงคุณค่ายิ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ชาวบ้านและนักวิชาการผู้เข้าศึกษาสภาพธรรมชาติในพื้นที่ป่าวังหีบอย่างจริงจังได้พยายามชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของผืนป่าวังหีบ และระบุถึงข้อผิดพลาดและการบิดเบือนข้อมูลในรายงานอีไอเอ ที่มีข้อมูลย้อนแย้งกับสภาพทางนิเวศวิทยาในพื้นที่ ทั้งยังชี้ให้เห็นกรมชลประทานยังไม่ได้สำรวจพื้นที่อย่างจริงแต่กลับมีการกำหนดโครงการผ่านแผนที่เท่านั้น
 

 
นายแพทย์รังสิต ทองสมัคร นอกจากจะเป็นแพทย์แล้ว นายแพทย์รังสิต ยังเป็นนักถ่ายภาพตัวยงฝีมือชั้นครูถ่ายภาพคนหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งได้ถูก นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เชิญเข้าพบหลังจากที่ นายแพทย์รังสิต ได้แสดงจุดยืนคัดค้านการสร้างเขื่อนในผืนป่าสมบูรณ์แห่งนี้ เปิดเผยข้อมูลการเข้าพบว่า รัฐตั้งธงสร้างเขื่อนนี้แน่นอนโดยใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือการทำงาน มีองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ดีพอ

นายแพทย์รังสิต ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การจัดทำอีไอเอนั้นขาดความหวังดีต่อทรัพยากรธรรมชาติ ทำอย่างเดียวเพื่อให้ผ่านเท่านั้น ที่สำคัญแม้ว่าก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาอย่างจริงจังจนได้ข้อสรุปที่ชัดเจนคือ ไม่เหมาะที่จะสร้างเขื่อนวังหีบ ทั้งที่เป็นฝ่ายรัฐเองข้อมูลกลับถูกยกทิ้ง และยืนยันที่จะสร้าง ทั้งยังเชื่ออีกว่าข้อมูลที่เป็นความจริงจากพื้นที่จะถูกนำออกมาอย่างต่อเนื่อง
 

กำลังโหลดความคิดเห็น