xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “สึนามิ” คือจุดเปลี่ยนสังคมไทย เชิญร่วมแลกเปลี่ยน “ประสบภัย ประสบการณ์ ประสานเพื่อน” ในวาระรำลึกภัยพิบัติใหญ่เมื่อ 14 ปีที่แล้ว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์... “คนทุกข์ลุกสร้างสุข : สมัชชาประชาชนภาคใต้”
โดย… ไมตรี  จงไกรจักร  มูลนิธิชุมชนไท
 
ภาพประกอบจากสำนักข่าวชายขอบ
 
หลายคนคงยังจำเหตุการณ์เช้าวันอาทิตย์ที่ 26 ธ.ค.2547 เวลาประมาณ 10.00 น.
 
ภรรยาผมวิ่งมา “มาดูเร็ว น้ำทะเลแห้งหมดแล้ว” คือเธอนั่งสับลูกปลาเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ผมเอาไปให้อาหารปลาในกระชังปลา ผมและหลายคนรวมพ่อผมด้วย เดินตามเธอลงไปชายทะเลระยะทางประมาณ 150 เมตร “แค่น้ำลงมาก ทำเป็นกระต่ายตื่นตูมไปได้” ผมตำหนิเธอนิดหน่อย “ไปเอากล้องถ่ายรูปมาสิ” ผมยังหันไปบอกเธออีกครั้ง เมื่อเธอคล้อยหลังไป
 
ภาพที่เราเห็นเรือจอดอยู่ชายหาดตั้งบนพื้นทรายอย่างรวดเร็ว คือน้ำแห้งลงเร็วมาก “นู้น ดูในทะเล ทางหลังเกาะผ้าสิ คลื่นมาเป็นทิวเลย” ใครคนหนึ่งตะโกนและชี้ให้ดู “นั่นดูเรือปั่นนั่น หายไปในคลื่นแล้ว” ใครอีกคนแสดงความเห็น “ใกล้เข้ามาจะถึงปากร่องแล้ว ดูเรือทัวร์เริ่มออกหนีแล้ว” คลื่นใกล้ฝั่งอนุสรณ์สึนามิมากแล้ว
 
“หนีเร็ว นี่แหละคลื่นยักษ์ถล่มโลก” เสียงพี่โชค พี่ชายผมตะโกน เราจึงเริ่มวิ่งออกจากชายทะเล วิ่งมาถึงบ้าน ขณะนั้นแม่เพิ่งอาบน้ำเสร็จ นุ่งกระโจมอก ทาแป้งหน้าขาว ลูกๆ ผม พู่กัน สีน้ำ กำลังรอนดูการ์ตูนอยู่บนห้องนอนชั้น 2 “น้อยวิ่งไปอุ้มลูก เราไปเอาแม่” ผมตะโกนเสียงแข็ง ภรรยาวิ่งขึ้นชั้นบน ผมวิ่งเข้าไปห้องแม่ “แม่ แม่ คลื่นยักษ์มา วิ่งหนีเร็ว” แม่งงๆ อยู่ “คลื่นยักษ์อะไร” แม่ถาม ผมบอก “แม่เร็วๆ” แกบอก “เดี๋ยวหาสร้อยทองกับเงินที่เก็บไว้ก่อน” จากนั้นเราวิ่งหนีเอาตัวรอดไปบ้านพี่สาว ขึ้นไปชั้น 2 ทันที
 
หันกลับไปมองน้ำปริ่มชั้น 2 เต็มแล้ว “พ่อ พ่อ พ่อ” ผมตะโกนเรียกสุดเสียง ผมหันกลับมาบอก “พ่อหายไปแล้ว น้ำท่วมโลกแล้ว” ขณะนั้นคลื่นไหลบ่าไปไกลทั่วหมู่บ้าน ซากรถ ซากบ้าน ไหลบ่าชนบ้าน “นั่นๆ มีคนลอยมา โยนเชือกไปหน่อย ช่วยกันลากเข้ามา” ผมจึงตะโกน คนที่อยู่บนบ้าน “ เรายืนรอบๆ ดาดฟ้าชั้น 2 ช่วยกันดูใครลอยมา ช่วยได้ให้ช่วย” จากคน 10 กว่าคนที่วิ่งขึ้นมา ก็มีคนเกาะรั้ว ช่วยขึ้นมาอีกหลายคน ทั้งรู้จักบ้าง ไม่รู้จักบ้าง หลังน้ำลดเราหนีกันไปอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น หน้าอำเภอ วิทยาลัยการอาชีพ และที่ต่างๆ
 
ผมเสียคุณพ่อไปจากเหตุการณ์ครั้งนั้น
 
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเราครั้งสำคัญคือ มีนักพัฒนากลุ่มหนึ่งเข้ามาพบพวกเราในวันที่ 30 ธ.ค.2547 ทำให้รู้จักการจัดระบบชุมชนศูนย์พักชั่วคราว โดยเฉพาะ มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) เพราะเขาเข้ามาถามว่า “จะทำอย่างไรในเหตุการณ์ครั้งนี้” และว่า “ต้องเอาคนมารวมกัน โดยการสร้างส้วม” นั่นคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญ
 
ศูนย์พักชั่วคราวคือจุดเริ่มต้นของการฝึกฝน จนพวกเราเติบโตเข้าร่วมการเปลี่ยนสังคมไทย เราเริ่มทุกอย่างพร้อมกัน มีการกางเต็นท์ โดยมีการออกแบบผังการวางระบบทุกอย่าง เพื่อป้องกันเรื่องปัญหาระบบน้ำเสีย สุขอนามัย แล้วผมก็ไปชวนชาวบ้านที่หน้าอำเภอให้มาอยู่ที่ศูนย์ คนที่เริ่มมาชุดแรกคือ ชุดมอแกลนที่หนีไปอยู่บนเขาศก และมีชาวบ้านชุดของปานหรือซอยตกปูมาเป็นชุดที่ 2 ผมเริ่มไปติดต่อชาวบ้านที่หน้าอำเภออีกรอบ คราวนี้ชาวบ้านเริ่มถามว่า มีที่นอนหรือเปล่า มีห้องน้ำห้องส้วมหรือเปล่า
 
จากการจัดการศูนย์พักชั่วคราวจากเต็นท์ ขยับไปสู่บ้านพักชั่วคราว ต่อไปสู่กลุ่มอาชีพ กลุ่มเรือหัวโทงสึนามิ กลุ่มอาชีพต่างๆ มากมาย กองทุนหมุนเวียน และเกิดแผนฟื้นฟูชุมชนประสบภัยสึนามิ จากอาชีพเราก็ต่อไปด้วยเรื่องบ้านถาวร แต่นั่นก็มีปัญหาตามมาในตอนนั้นหลายเรื่องราว ทั้งกรณีชาวบ้านแหลมป้อมที่ไม่สามารถกลับเข้าไปหาศพญาติตัวเองได้ เพราะมีเอกชนรายใหญ่มาล้อมรั้วพื้นที่อ้างสิทธ็ตามเอกสาร ปิดกั้นอีกหลายพื้นที่ เอกชนต่างเอาเอกสารมาปักหมุดหมาย ไล่ชุมชนประสบภัย รวมทั้งหน่วยงานรัฐบางหน่วยด้วยที่ไม่ยอมให้ชุมชนกลับเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินเดิม
 
ต่อมาการรวมตัวของผู้ประสบภัยก็เกาะเกี่ยวกันเป็น “เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ” เพื่อเรียกร้อง เจรจา ต่อรอง กับรัฐบาลในการแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการของผู้ประสบภัย จนในขณะนั้นรองนายกรัฐมนตรีต้องประกาศผ่านสื่อว่า...
 
“สึนามิ ไม่สามารถไล่ชุมชนได้ ขอให้ชุมชนกลับไปอยู่ในที่ดินเดิมก่อน หากจะไล่ก็ค่อยใช้กฎหมายมาไล่ในขั้นตอนต่อไป”
 
จากนโยบายครานั้น ทำให้ชุมชนกลับไปอยู่ในที่ดินเดิมเกือบหมด ปัจจุบันยังคงเหลืออยู่เพียงชุมชนเดียวคือ ชุมชนบางสัก ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เท่านั้น เพราะชุมชนนี้เขาเสียชีวิตไป 59 คน ทั้งที่เขามีกันอยู่แค่ 100 กว่าคนเท่านั้น ทำให้เขาหวาดกลัว เชื่อฟังหน่วยงานที่มาเจรจา จนคนเหล่านี้ไม่สามารถกลับเข้าทำกินในที่ดินเดิมได้จนปัจจุบัน
 
หลังจากนั้นก็ก่อกำเนิด “แผนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติชุมชน”
 
ก่อนหน้าเรากลับเข้าไปอยู่ในชุมชนปี 2549 เรามีปัญหาตามมาคือ รัฐบาลมีแผนที่จะโยกย้ายชุมชนเราออกทั้งหมด เพื่อจัดทำเป็นอนุสรณ์สถานสึนามิ ทั้งชุมชนบ้านน้ำเค็ม แต่เราก็ใช้แผนการพัฒนาชุมชนมาต่อรองกับแผนฟื้นฟู โดยการสนับสนุนการจัดทำแผนของมูลนิธิชุมชนไท จนสามารถต่อรองกลับไปพัฒนาฟื้นฟูได้เหมือนเดิม แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่อง คนน้ำเค็มในช่วงนั้น เราวิ่งหนีแผ่นดินไหวกันได้ทุกวัน ทุกอาทิตย์ หรือทุกเดือน จนไม่พร้อมจะทำมาหากินใดๆ เลย
 
ทำให้คณะกรรมการต้องปรึกษาหารือกันว่า “เราจะอยู่กันอย่างไรให้ไร้กังวล ไม่หวาดผวา แบบอยู่อย่างสุขใจได้บ้าง” คณะกรรมการไม่มีความรู้เลย เราจึงตั้งคำถามเหล่านี้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาสนับสนุน จนเราเริ่มพบทางการจัดทำแผนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติโดยชุมชน เราร่วมมือกับหน่วยงานทั้งหมดกว่า 14 องค์ก่อน
 
“เราเริ่มกัน เรียนรู้ไปพร้อมกัน จะใช้บ้านน้ำเค็มเป็นตัวอย่าง” คือคำมั่นสัญญาขององค์กรต่างๆ ร่วมกับชุมชน
 
นโยบาย “เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นฐาน” ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยใช้เป็นแนวทางส่งเสริมอยู่ปัจจุบัน คือการพัฒนาการเริ่มต้นจากชุมชนเล็กๆ ใน 2 ทางคือ ชุมชนบ้านน้ำเค็ม และชุมชนทับละมุ ที่ ปภ.ไปเริ่มกับองค์กรต่างประเทศ แต่แล้วเราก็สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายได้จากนั้นเป็นต้นมา
 
แต่ยังไม่จบหรอกครับ เพราะในความเป็นจริงเขาทำได้น้อยมาก เพราะระบบงบประมาณภาครัฐยังไม่สามารถทำได้เต็มที่ แต่ชุมชนเสี่ยงภัยสึนามิยังมีอีกกว่า 100 ชุมชน เราจึงร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ในการลงพื้นที่ช่วยเตรียมชุมชนควบคู่กันไป เพราะชุมชนเสี่ยงภัยส่งผลต่อระบบสุขภาพประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
 
การปรับเปลี่ยนโยบายในระดับจังหวัดและท้องถิ่นก็เป็นอีกช่องทาง ซึ่งเราได้ร่วมกับเครือข่ายขยายประสบการณ์จากการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติสึนามิ สู่การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติอื่นๆ ด้วย การเรียนรู้ กู้ภัย ด้วยหลัก “ประสบภัย ประสบการณ์ ประสานเพื่อน” เราจึงออกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ ภายในประเทศทุกภัยที่เกิดขึ้น อย่างน้ำท่วมภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และกรุงเทพมหานครด้วย
 
แต่ในขณะเดียวกันภัยพิบัติก็เกิดขึ้นหนักๆ ในทั่วโลกพร้อมๆ กัน เหตุการณ์ไหนที่เราไปช่วยได้เราก็ไป ครั้งไหนไปไม่ได้ เช่น เฮติ จีน เราก็รวบรวมความช่วยเหลือส่งผ่านเครือข่ายที่พวกเรารู้จัก แต่เราก็ยังได้ไปช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในที่ต่างๆ ทั่วโลก
 
จากนั้นการนำเสนอของ “เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ” จึงมีต่อเวทีต่างๆ ทั้งในระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระดับโลก คือการลดความเสี่ยงภัยโดยชุมชนเป็นหลัก ซึ่งเป็นข้อตกลงเซ็นได ในคราวประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยการลดความเสี่ยงภัย ปี 2558
 
เมื่อเราเปลี่ยนโยบายในระดับต่างๆ แล้ว การปฏิบัติต่างหากที่เรายังไม่สามารถเปลี่ยนระบบได้ เพราะมีข้อจำกัดของนโยบาย กฎหมาย และงบประมาณที่ไม่สามารถส่งเสริมชุมชนได้อย่างต่อเนื่องจริงจัง ยกเว้นการจัดเวทีอบรมได้เพียงปีละครั้ง หรือ 5 ปีครั้งเดียวเท่านั้น นี่คือข้อจำกัดของระบบการจัดการภัยพิบัติที่ชี้ได้อย่างชัดเจนมากที่สุด
 
การรำลึกสึนามิในวาระครบรอบ 14 ปีที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 23-26 ธ.ค.2561 จะเป็นการยกระดับความร่วมมือกับสื่อมวลชน โดยไทยพีบีเอส มูลนิธิชุมชนไท เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ ประสานหน่วยงานภาคีพัฒนาและสื่อมวลชนที่จะร่วมสรรค์สร้างสังคมไทยให้ปลอดภัย โดยจะใช้พื้นที่อันดามันนำร่อง โดยกิจกรรมที่จะจัดขึ้น เช่น การจัดวิ่ง-ปั่นเพื่ออันดามันปลอดภัย
 
โดยวันที่ 23 ธ.ค.2561 ปั่นระยะทาง 112 กิโลเมตร และวิ่ง 68 กิโลเมตร เพื่อเตรียมการจัดงานระดมทุนใหญ่ในปีหน้าครบรอบ 15 ปี เพื่อระดมสรรพกำลังและจัดตั้งกองทุนอันดามันปลอดภัยต่อไป
 
ส่วนวันที่ 25 ธ.ค.2561 จะเป็นกิจกรรมรวมพลคนอาสาภัยพิบัติ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันเองในหัวข้อ “จากสึนามิ สู่ความปลอดภัยจากภัยพิบัติ” และกิจกรรมอื่นมากมาย
 
แล้ววันที่ 26 ธ.ค.2561 ก็จะเน้นการจัดกิจกรรมรำลึกสึนามิ ด้วยพิธี 3 ศาสนาในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายจะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของภาคีสนับสนุน รวมทั้งจะมีการประกาศปฏิญญาอันดามันปลอดภัยของสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นด้วยในเวลา 15.00 น.
 
เชิญร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยน “ประสบภัย ประสบการณ์ ประสานเพื่อน” ได้ในงานรำลึก 14 ปีสึนามิ ณ อนุสรณ์สถานบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา และร่วมสื่อสารให้สังคมรับทราบไปพร้อมกัน
 


กำลังโหลดความคิดเห็น