คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู / โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ทุกครั้งที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในพื้นที่ที่มีพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองเก่าๆ ยึดครองผูกขาดพื้นที่ คู่ต่อสู้หน้าใหม่และหน้าเก่ามักจะชูประเด็น “เปลี่ยน” เป็นแนวทางในการปลุกกระแสให้ผู้ไปใช้สิทธิ หรือทำหน้าที่เลือกตั้งเลือกคนใหม่ กลุ่มใหม่ พรรคใหม่เข้าไปทำหน้าที่แทนคนเก่าพรรคเก่า
แต่ก็น้อยครั้งมากที่จะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งการเมืองท้องถิ่น และการเมืองระดับชาติ ที่ผูกพันอยู่กับสายตระกูลในระดับท้องถิ่น และผูกพันกับพรรคการเมือง และนักการเมืองผู้มากบารมีในระดับชาติ
ครั้งนี้ก็เช่นกัน พรรคการเมืองเกิดใหม่ยังไม่ถึงปีอย่าง “พรรคพลังประชารัฐ” ใช้แนวทางปลุกกระแส “เปลี่ยน” เป็นแนวทางในการรณรงค์หาเสียงในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะนครศรีธรรมราช และสงขลาที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดของภาคใต้ และที่ผ่านมา อยู่ในการครอบครองของ “พรรคประชาธิปัตย์” เต็มพื้นที่
แต่จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน ปัจจัยไม่ได้อยู่ที่สโลแกนจากคู่ต่อสู้ของ ปชป.ว่า “เปลี่ยน” แต่น่าจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยดังตัวอย่างต่อไปนี้
ปัจจัยแรก “เปลี่ยนเพราะอะไร”
เหตุผลของฝ่ายที่ต้องการให้เปลี่ยน คือ คนเก่า พรรคเก่าไม่มีผลงาน ไม่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาของประชาชนในทุกปัญหา โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตร การจัดสรรทรัพยากรงบประมาณ การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ปัญหาสาธารณภัย และอื่นๆ
หากินกับบุญเก่าและชื่อเสียงบารมีของอดีตหัวหน้าพรรคบางคนตามกระแส “ชวนฟีเวอร์” แต่ผู้ที่เคยชื่นชมและยังชื่นชมคนเก่า พรรคเก่าแก่ ก็ยังมองไม่เห็นจุดบอดหรือจุดอ่อนที่ว่า ด้วยความรัก ความศรัทธาและความหลงใหลเลื่อมใสในการเมืองแบบ “แม่ยกลิเก” จึงยังคงเลือกคนเดิมพรรคเดิม แม้ว่าคะแนนนิยมจะลดลงกว่าเดิม แต่ก็ยังคงชนะพรรคอื่นคนอื่นอยู่ดี
ปัจจัยที่สอง “เปลี่ยนไปเลือกใคร”
จุดเปลี่ยนจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากผู้เลือกไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่าคู่แข่งของ ปชป. จึงต้องโดดเด่นกว่า ดีกว่า ทั้งตัวบุคคลและชื่อชั้นของพรรคที่สังกัด แต่เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้วทั้งตัวบุคคลและชื่อชั้นของพรรคคู่แข่ง ก็ไม่มีใครโดดเด่นกว่าพอที่จะให้ประชาชนเปลี่ยนใจมาเลือกคนใหม่ พรรคใหม่
โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่ยังอยู่ใน “วัยทารกทางการเมือง” ถ้าเปรียบเทียบกับ ปชป.ที่มีอายุเก่าแก่เกือบศตวรรษแล้ว โอกาสอาจจะมีบ้างในบางเขตเลือกตั้งของบางคนที่มีความโดดเด่นส่วนตัว แต่บารมีของพรรคไม่เอื้อให้แบบ ปชป.
ปัจจัยที่สาม “เปลี่ยนเพื่ออะไร”
คำถามสำคัญอีกคำถามหนึ่งของการเปลี่ยน คือ เปลี่ยนเพื่ออะไร? คำตอบที่น่าจะเป็นคือ “เปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า”หรือ “เปลี่ยนเพื่ออนาคตของลูกหลาน” ตามที่พรรคพลังประชารัฐว่า หรือ “เปลี่ยนเพื่อสอนบทเรียนให้แก่นักการเมืองตระกูลห้อยโหน” ทั้งหลาย
แต่ปัญหาว่าเปลี่ยนแล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่าตัวเลือกใหม่จะดีกว่า ซึ่งคนส่วนใหญ่จะพิจารณาเลือกจากปรากฏการณ์และประสบการณ์ร่วมทางสังคม เลือกตามกระแสของคนอื่น คำบอกเล่าจากร้านน้ำชา ในงานศพ การชักนำของหัวคะแนน พรรคการเมืองเก่าแก่จึงย่อม “ได้เปรียบ” พรรคการเมืองเกิดใหม่เป็นธรรมดา
ดังนั้น เมื่อประเมินจากสถานการณ์และปรากฏการณ์เฉพาะหน้าในขณะนี้ ส.ส.เขตส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในภาคใต้น่าจะยังเป็น “คนเก่าของพรรคเก่าแก่” หรือ “คนเก่าในสังกัดพรรคใหม่” ในภาคอื่นที่ถูกกระแส “พลังดูดแห่งชาติ” บางคนของบางพรรคไปสู่พรรคการเมืองเกิดใหม่ ที่ใช้ข้อต่อรองกับนักการเมืองรุ่นลายครามที่มีชนักปักหลัง
ส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อพรรค อาจจะเปลี่ยนจากพรรคเดิมๆ ไปยังพรรคใหม่บางพรรคบ้าง ตามกติกาของการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญใหม่ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง
แต่ที่ไม่น่าจะเปลี่ยนเลย หรือเปลี่ยนน้อยมากคือ “พฤติกรรม” หรือ “สันดาน” ของนักการเมือง ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่หวังแค่ชัยชนะในสนามเลือกตั้ง และทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง เพื่อไปต่อรองตำแหน่งทางการเมืองในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล
ส่วนผลประโยชน์และชะตากรรมของพี่น้องประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง ที่พวกเขาอ้างในสนามเลือกตั้ง ก็ยังคงเป็นเรื่องรองๆ ลงไป สังเกตได้จากการไม่ค่อยมีพรรคการเมืองใด หรือนักการเมืองคนใดนำเสนอให้ประชาชนพิจารณา ยังคง “ไม่เปลี่ยนแปลง” เหมือนกว่ากึ่งศตวรรษที่ผ่านมาไม่ผิดเพี้ยนแต่ประการใด.