พังงา - เจ้าหน้าที่เร่งปรับปรุงจุดฟักไข่เต่ามะเฟืองให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากขึ้น ขณะที่ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการทางทะเลชี้สาเหตุที่เต่ามะเฟืองพบได้ยาก เนื่องจากสับสนระหว่างแมงกะพรุนกับถุงพลาสติก
จากกรณีที่แม่เต่ามะเฟืองขนาดความยาวกระดอง 130 x 70 เซนติเมตร ขึ้นมาวางไข่ บริเวณหาดคึกคัก ม.4 ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่17 ธันวาคม 2561 จำนวน 93 ฟอง ทำให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว และ ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง รวมถึงเหล่านักอนุรักษ์ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าถือเป็นข่าวดีที่แม่เต่ามะเฟืองยังใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งวางไข่ หลังพบเพียงรายงานการเสียชีวิต แต่ไม่พบรายงานการวางไข่เป็นเวลากว่า 5 ปี ทำให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งต้องทำการเฝ้าระวังและถนอมไข่เต่าเป็นอย่างดีเพื่อให้จำนวนลูกเต่าฟักตัวออกมามากที่สุด ในอีก 60 วัน ข้างหน้า พร้อมใช้ตาข่ายสีเขียวมาปิดไว้โดยรอบเพื่อไม่ให้สิ่งรบกวนเข้ามารื้อ หรือ ขโมยไข่เต่า
ล่าสุด วันนี้ ( 18 ธ.ค.) นายสุริยะ สอนเสริม หัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 16 ตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ได้นำเจ้าหน้าที่เข้าทำการปรับปรุงแก้ไขเขตไข่เต่าเพื่อให้เกิดความใกล้เคียงกับธรรมชาติให้มากขึ้น โดยทำหลังคาด้วยเสาไม้ความสูง 1.5 เมตร กว้า 1 เมตร ก่อนจะมุงด้วยตาข่ายสีเขียวเพื่อกันความร้อนในช่วงเวลาที่แดดร้อนที่สุด และมีช่องให้ลมธรรมชาติผ่านได้ตามปกติ พร้อมทั้งใช้ตาข่ายสีเขียวขึงรอบจุดฟักไข่เต่าอีกชั้น ด้วยความกว้าง 4x4 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปใกล้ และป้องกันไม่ให้สัตว์ตามธรรมชาติเข้าไปภายในบริเวณฟักไข่ ร่วมถึงเจ้าหน้าที่สามารถสังเกตุหลุมฟักไข่ได้ตลอดเวลา
ขณะที่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้โพสข้อความผ่านเฟสบุ๊คชื่อ “Thon Thamrongnawasawat” ว่า เพื่อนธรณ์ครับ ในที่สุด ฝันที่รอคอยก็เป็นจริง คลิปและภาพนี้เป็นหลักฐานที่ดียิ่งว่า #เต่ามะเฟือง เต่าทะเลใหญ่ที่สุดในโลกและหายากที่สุดของไทย เต่าทะเลที่ไม่มีรายงานวางไข่มา 5 ปี กลับมาวางไข่อยู่ที่เขาหลัก พังงา จากข้อมูล ระบุว่าขึ้นมาตั้งแต่เมื่อคืน จนลงกลับทะเลไปเมื่อเช้าวันนี้ ข้อมูลล่าสุดบอกว่ามี 93 ฟอง
เต่ามะเฟืองเมื่อโตเต็มวัย อาจยาวกว่า 2 เมตร น้ำหนัก 300-500 กิโลกรัม เป็นเต่าใหญ่ที่สุดในโลกเต่ามะเฟืองมีขอบเขตการแพร่กระจายทั่วโลก เป็นเต่าทะเลที่พบในน้ำเย็นได้ยังเป็นเต่าที่ว่ายน้ำไปไกลมาก บางตัวมีรายงานว่าไปไกลกว่า 20,000 กิโลเมตร เต่ามะเฟืองกินแมงกะพรุน เป็นสัตว์ทะเลที่ช่วยควบคุมปริมาณของแมงกะพรุนไม่ให้มีมากเกินไปในระยะหลัง เต่ามะเฟืองจำนวนมากตายเพราะขยะพลาสติกในทะเล เนื่องจากเต่าเข้าใจผิด กินถุงก๊อบแก๊บกินขยะพลาสติกเข้าไปเพราะนึกว่าเป็นแมงกะพรุน
ปริมาณเต่ามะเฟืองในโลกลดลงอย่างรวดเร็ว บางพื้นที่เคยมีเต่ามาวางไข่มากมาย ปัจจุบันเหลือน้อยมากเต่ามะเฟืองเป็น 1 ในว่าที่สัตว์สงวนของไทย ที่ยังคงจ่อคิวรอการแก้ไขกฎหมายสัตว์สงวนสัตว์คุ้มครอง เพื่อให้สามารถประกาศสัตว์สงวนเพิ่มเติมได้และในบรรดาว่าที่สัตว์สงวนทั้งสี่ เต่ามะเฟืองคือสัตว์ที่หายากที่สุด สัตว์ที่แทบจะหมดหวังในการเจอ (อีก 3 ชนิดคือวาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ)เดิมทีเต่ามะเฟืองเคยขึ้นมาวางไข่ตามหาดต่างๆ ของพังงา-ภูเก็ต แต่ไม่มีรายงานการวางไข่มาแล้วร่วม 5 ปีมีแต่รายงานเต่ามะเฟืองตาย 2 ครั้ง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเต่ามะเฟืองจึงถือเป็นสัตว์ทะเลหายากที่สุดในไทยชนิดหนึ่ง และเป็นการรอคอยอันยาวนานของคนรักทะเลไทย ว่าสักวันเธอจะกลับมาวางไข่
การรอคอยอันยาวนานก็สิ้นสุดภาพนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่า เธอยังคงใช้ประเทศไทยเป็นแหล่งวางไข่ เพื่อให้กำเนิดลูกหลานเต่ามะเฟืองไทยต่อไปแม่เต่ามะเฟืองวางไข่ 60-100 ฟอง ตัวนี้วาง 93 ฟอง นับว่าเป็นคุณแม่ที่สุขภาพดีมาก ขอบคุณชาวบ้านและผู้ประกอบการที่คึกคักและเขาหลักที่ดูแลเธอเป็นอย่างดี จนเธอวางไข่สำเร็จ
ยังรวมถึงกรมอุทยานที่รณรงค์เรื่องขยะพลาสติกและขยะทะเลในพื้นที่อย่างต่อเนื่องกรมทะเล กรมประมง จังหวัด ท้องถิ่น อาสาสมัคร ภาคเอกชน และทุกคนที่มาช่วยกันไม่แน่ว่าถุงพลาสติก 4-5 ใบที่ไม่ลงทะเลไปเนื่องจากเราช่วยกันวันนั้น ทำให้แม่เต่ามีวันนี้มันตอบไม่ได้เป๊ะๆ หรอกว่าใช่แต่มันบอกตัวเองได้ว่า ที่ชั้นไม่ใช้ถุงพลาสติก ไม่ใช้หลอดพลาสติกหรือแก้วใช้แล้วทิ้ง มันมีความหมายมันเกิดผลในโลกแห่งความจริง...
หาดเขาหลักอยู่นอกเขตอุทยาน แต่เชื่อว่าจะมีการดูแลลูกๆ ของเธอที่อยู่ในหลุมเป็นอย่างดียิ่งเมื่อข่าวกระจายออกไป เชื่อว่ากรมทะเล กรมอุทยาน จังหวัด และพี่ๆ ในพื้นที่ จะช่วยกันมาดูแลอย่างถูกต้องวิธีการดีที่สุดคือรักษาพื้นที่ไว้ไม่ให้มีคนเข้าไป โดยกั้นเชือกอย่างที่เห็นในภาพ และอาจทำรั้ว คอก ฯลฯ เพื่อป้องกันสัตว์ไม่แนะนำให้เก็บไข่เต่าขึ้นมา
เพราะอาจเกิดผลกระทบโดยไม่รู้ตัวแต่ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เพราะดูแลไม่ไหว แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ชีวะ ภูเก็ต อย่างใกล้ชิด (กรมทะเล)เพราะเต่ามะเฟืองต้องการชายหาดเฉพาะ ซึ่งแตกต่างจากเต่าทะเลชนิดอื่น หากมีการย้ายไปในหาดอื่น ควรเป็นหาดที่มีรายงานว่ามีเต่ามะเฟืองเคยมาวางไข่หาดท้ายเหมืองหรือหาดไม้ขาว เคยมีรายงาน และอยู่ในเขตอุทยาน แต่หาดท้ายเหมืองจะอยู่ใกล้กว่าหรือถ้าเป็นหาดเดิมอาจพิจารณาในจุดที่เหมาะสม เช่น น้ำท่วมไม่ถึงเท่าที่ทราบ ตอนนี้เจ้าหน้าที่กรมทะเลกำลังดูแลอย่างใกล้ชิด
สุดท้าย แม่เต่าตัวนี้ เธอคงไม่รู้ว่า เธอสร้างความสุขให้คนรักทะเลไทยขนาดไหนเป็นของขวัญปีใหม่คนไทยที่รอคอยมานาน 5 ปีและเป็นของขวัญที่สุดพรรณา สำหรับผม คนที่เคยเห็นเต่ามะเฟืองวางไข่ เคยเห็นลูกเต่าออกจากไข่ วิ่งลงทะเลจนกลายมาเป็นบทความเมื่อ 20 ปีก่อน จนกลายเป็นหนังสือ #กำเนิดเต่ามะเฟืองเซ็นหนังสือเล่มนั้นไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยเล่ม บอกให้น้องๆ มีความหวังไม่รู้กี่คนต่อกี่คนรณรงค์เรื่องขยะพลาสติก-ขยะทะเล มาไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปีสารภาพว่าผมน้ำตาซึม เมื่อทราบเรื่องนี้ความหวังที่ส่งต่อ การรอคอยอันยาวนาน ถึงวันสิ้นสุดลงดีใจ ดีใจมากๆไชโย้ !!!หมายเหตุ - อีก 60 วันเจอกันนะจ๊ะคุณลูกเต่า