ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ประชาชน 2 จังหวัดใต้ที่ได้รับผลกระทบจาก 3 เขื่อนใหญ่ที่นครฯ-พัทลุง ผนึกกำลังบุกทำเนียบและ ก.เกษตรฯ จี้ “บิ๊กตู่” หยุดเดินหน้าก่อสร้างโครงการ ชี้มีการศึกษาทางวิชาการระบุชัดมีทางเลือกอื่นที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
เช้าวันนี้ (17 ธ.ค.) ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ คลองสังข์ เหมืองตะกั่ว ในพื้นที่ 2 จังหวัดของภาคใต้คือ นครศรีธรรมราชและพัทลุง ได้ร่วมตัวกันเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปยื่นหนังสือให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ทำเนียบรัฐบาล และยื่นให้กับนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้ระงับ 3 โครงการขนาดใหญ่ดังกล่าว
พร้อมกันนี้ได้มีตัวแทนชาวบ้านอ่านแถลงการณ์คัดค้านเขื่อนภาคใต้ 3 เขื่อนดังกล่าว โดยมีเนื้อหาระบุว่า เรื่อง “ขอยกเลิกโครงการก่อสร้างเขื่อนวังหีบ คลองสังข์ และเหมืองตะกั่ว” จากกการที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะดำเนินการก่อสร้างสร้างเขื่อน 3 โครงการ ดังนี้ 1. โครงการวังหีบ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช 2. โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และ 3. โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง
การเดินทางมายื่นหนังสือวันนี้ (17 ธ.ค.) ผ่านนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการสำนักงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ดังกล่าว ไม่เห็นด้วยกับโครงการและที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ การรับฟังความคิดเห็น ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการเลย
ชาวบ้านเห็นว่า การดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บทั้ง 3 โครงการมีวัตถุประสงค์โครงการที่ไม่สอดคลองกับความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม และไม่มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ รวมไปถึงการก่อสร้างดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ ทำลายวิถีชีวิตชุมชนดั่งเดิม โดยเฉพาะในพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองสังข์ที่ชาวบ้านเคยเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำกะทูน อ่างเก็บน้ำดินแดน และต้องอพยพย้ายมาที่คลองสังข์
สืบเนื่องจากที่มีชาวบ้านมายื่นหนังสือกับ รมช.เกษตรและสหกรณ์ (นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร) และได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานฯ ดำเนินการมีส่วนร่วม และในคณะทำงานฯ มีตัวแทนชาวบ้านร่วมด้วย เพื่อที่จะได้สำรวจพื้นที่ หาทางเลือก และให้เกิดการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง ซึ่งชาวบ้านเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว แต่ต่อมาได้เปลี่ยนผู้รับผิดชอบไป จึงไม่มีความต่อเนื่อง แต่อย่างไรชาวบ้านมองว่า กระบวนการมีส่วนร่วมมีความสำคัญอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาชาวบ้านทั้ง 3 พื้นที่ได้มีการยื่นหนังสือคัดค้านไปยังนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หวังเพื่อให้มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐกับตัวชุมชน ลดความขัดแย้ง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริงในพื้นที่ มีการร่วมกันหาทางออก ข้อเสนอของชาวบ้านเห็นว่า การจัดการน้ำในพื้นที่ไม่จำเป็นจะต้องสร้างอ่างเก็บน้ำที่ส่งผลกระทบมากเป็นวงกว้าง เปลี่ยนเป็นการจัดการน้ำขนาดเล็ก อาทิเช่น การทำฝายมีชีวิต น่าจะเป็นรูปแบบการจัดการน้ำที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่มากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับข้อสรุปของคณะทำงานที่แต่งตั้งโดย รมช.เกษตรและสหกรณ์เสนอ
สิ่งที่ชาวบ้านคัดค้าน มีดังนี้ 1) การดำเนินที่ผ่านมาไม่มีส่วนร่วม เช่น กรณีเขื่อนวังหีบ มีการเสนอให้จัดหาน้ำ ตั้งแต่ปี 2523 เพื่อนำน้ำมาใช้ในการทำนา แต่ปัจจุบันไม่มีนาแล้ว กรณีเขื่อนคลองสังข์ ปี พ.ศ. 2519 มีชาวบ้านถวายฎีกา ขอพระราชทานอยากได้น้ำทำนา และเลี้ยงสัตว์ แต่เหตุการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนหมดแล้ว ส่วนเขื่อนเหมืองตะกั่ว มีประธานสภาจังหวัดนำเสนอ ปี 2533
2) พื้นที่วังหีบและเหมืองตะกั่ว บริเวณที่จะดำเนินการโครงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และมีน้ำตกสวยงาม ซึ่งถือว่าชุมชนมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่สมบูรณ์อยู่แล้ว ส่วนที่คลองสังข์ มีพื้นที่โพรงน้ำใต้ดิน ยังไม่มีการสำรวจให้ชัดเจนว่าเมื่อมีโครงการมีผลต่อโพรงน้ำใต้ดินอย่างไร
3) ในขั้นตอนการมีส่วนร่วม ในช่วงที่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้ได้รับกระทบ ไม่มีโอกาสเข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นและไม่ได้แสดงความคิดเห็นเท่าที่ควรจะเป็น แต่ไปเอากลุ่มนอกพื้นที่ หรือกลุ่มอื่นๆ มาแทน
4) กระทบต่อชุมชน เป็นที่ทราบว่าชุมชนไม่อยากจะย้ายไปไหนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม เพราะไม่มีพื้นที่ทำกินอื่นที่จะอุดมสมบูรณ์เหมือนที่อยู่ปัจจุบัน
เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาดังกล่าว และให้เกิดการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมยั่งยืนและคืนความสุขให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง ชุมชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทั้ง 3 โครงการอันประกอบไปด้วย ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำวังหีบ คลองสังข์ เหมืองตะกั่ว มีข้อเรียกร้อง ดังนี้
1. ให้ยกเลิกโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 3 โครงการ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น และ 2. ให้คณะทำงานบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่อำเภอทุ่งสงและลุ่มน้ำวังหีบ และคณะศึกษาข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ภายใต้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร) ซึ่งเป็นคณะทำงานที่มีตัวแทนของชาวบ้านผู้มีส่วนได้และผู้ได้รับผลกระทบในพื้นร่วมอยู่ด้วย กลับมาดำเนินงานต่อให้แล้วเสร็จ เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านและคณะทำงาน ได้ร่วมกันศึกษาข้อเท็จจริงในพื้นที่และทางวิชาการ รวมไปถึงการศึกษาถึงแนวทางเลือกอื่นที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของชาวบ้าน