xs
xsm
sm
md
lg

ไฟใต้ในกระแสสะพัดข้อกล่าวหาใช้งบ 4,500 บาท/เดือนโยกไปให้ “ผู้ใหญ่” และใช้ “ซื้อสื่อ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้  /  โดย…ไชยยงค์ มณีพิลึก
 

 
ยิ่งใกล้เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ สถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย ในสายตาฝ่ายของความมั่นคง โดยเฉพาะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยิ่งต้องมีการระมัดระวังและต้องป้องกันเหตุร้ายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นที่เข้าใจกันดีว่าเป็น “วงจร” ที่ ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ จะก่อเหตุรุนแรงในห้วงของ “วันสัญลักษณ์” ต่างๆ ทั้งของ “ฝ่ายเรา” และ “ฝ่ายเขา”
 
โดยเฉพาะต้องการใช้ห้วงเวลา “ปีใหม่” และ “สงกรานต์” ซึ่งถือเป็นวันสัญลักษณ์ของ รัฐไทย อันจะมีความ “พลุกพล่าน” ของผู้คนจำนวนมาก หากสามารถก่อเหตุได้ก็จะปฏิบัติการทันที นอกจากจะเป็นการสร้างความสูญเสียแล้ว ยังถือเป็นการ “ทำลายฐานเศรษฐกิจและการลงทุน” ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งต้องถือเป็น “ธง” ของ ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ นั่นเอง
 
สิ่งที่บอกเหตุถึงความเคลื่อนไหวและความพยายามของบีอาร์เอ็นฯ คือการ “โจรกรรมรถจักรยานยนต์” ในพื้นที่ จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส ที่เกิดขึ้นแบบถี่ๆ หรือเฉลี่ยสัปดาห์ละ 5-6 คันอย่างต่อเนื่องช่วงเวลาหนึ่งแล้ว และส่วนใหญ่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถติดตามเองรถจักรยานยนต์เหล่านี้กลับคืนมาได้
 
ประกอบกับมี “ข่าวลึก” แต่ “ไม่ลับ” ที่สายข่าวในพื้นที่จับกระแสได้คือ คำสั่งจาก “แกนนำ” ที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านได้สั่งการตรงมายัง “อาร์เคเค” ให้ฉกฉวย “ช่องว่าง” ที่เจ้าหน้าที่พลั้งเผลอ หรือประมาท หรือดูแลพื้นที่ไม่ทั่วถึงทำการให้ก่อเหตุทั้งในรูปแบบของ “จยย.บอมบ์” และการ “ลอบสังหารเจ้าหน้าที่รัฐ” ที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอ ซึ่งคงจะไม่พ้น “กองกำลังท้องถิ่น” เช่น อาสาสมัครรักษาดินแดน ชรบ. ผรส. และโดยเฉพาะ “สายข่าว” ของเจ้าหน้าที่ที่มีขีดความสามารถที่ด้อยกว่ากำลังฝ่ายตำรวจและทหาร
 
สิ่งบอกเหตุที่สำคัญอีกประการคือ การที่กองกำลังทหารสามารถตรวจสอบพบ “ที่พักพิง” ของอาร์เคเคได้ในพื้นที่เทือกเขาตะเว อ.ระแงะ จ.นราธิวาส โดยพบเรือนพักถึง 10 หลัง นั่นคือประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นว่า กองกำลังอาร์เคเคยังเคลื่อนไหวอยู่ทั้งในหมู่บ้าน รวมถึงตามเชิงเขา ชายทุ่งและริมน้ำ ซึ่งเป็นไปตาม “ยุทธวิธี”ของบีอาร์เอ็นฯ
 
การที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสามารถไล่ล่าและปลิดชีพของอาร์เคเคอย่างทันทีทันควัน หลังการปฏิบัติการในพื้นที่เป้าหมายอย่างที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา และการบุกเข้ายึดค่ายพักอาร์เคเคจนเกิดการปะทะกันขึ้นและฝ่ายตรงข้ามได้รับบาดเจ็บ นั่นถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้เห็นถึงปฏิบัติการ “เชิงรุก” ของเจ้าหน้าที่ในการสร้างความสูญเสียให้กับฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่
 
เช่นเดียวกับการที่เจ้าหน้าที่สามารถค้นพบ “คลังแสง” หรือจุดที่เก็บอาวุธหรือที่ฝังอาวุธของ “แนวร่วม” ได้บ่อยขึ้น แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้รับ “ความเชื่อมั่น” จากมวลชนมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องเดินหน้าให้เป็นผลยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนและสร้างความเข้มแข็งในหมู่ของเจ้าหน้าที่ เพราะการทำลายที่เก็บซ่อนอาวุธของขบวนการได้มากเท่าไหร่ การก่อเหตุย่อมน้อยลงเท่านั้น
 
ดังนั้น “นโยบายเชิงรุก” ต่อพื้นที่เชิงเขาและชายทุ่ง อันถือเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านที่ทั้งแนวร่วมและอาร์เคเคเคลื่อนไหวอยู่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า “ท่านผู้นำ คสช.” หรือ “ท่านผู้นำรัฐบาล” ไม่อยากที่จะฟังคำว่าเวลานี้ยังมีขบวนการบีอาร์เอ็นฯ เคลื่อนไหวปฏิบัติการอยู่ก็ตาม หรือกระทั่งตัวแม่ทัพเองไม่อยากที่จะเอื้อนเอ่ยคำว่า บีอาร์เอ็นฯ คือผู้ก่อเหตุก็ไม่เป็นไร เพียงแต่ในปฏิบัติการ “ดับไฟใต้” ขอให้เป้าหมายอยู่ที่ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ เป็นใช้ได้
 
ในขณะเดียวกัน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังคงต้องสร้างความเข็มแข็งและสร้างระเบียบวินัยให้กับกองกำลังท้องถิ่นให้มากขึ้น เพราะเป้าหมายของอาร์เคเคในห้วง 3 เดือนมานี้คือ “การลอบสังหารกองกำลังท้องถิ่น” พร้อม“ฉกฉวยเอาอาวุธติดมือกลับไปด้วย” เพื่อไปเสริมกำลังของฝ่ายตนเองด้วย ล่าสุดที่เห็นชัดเจนคือการตอดเข้าไปฉกฉวยเอาอาวุธปืน 2 กระบอกจากยามรักษาการที่ ต.ภูเขาทอง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เป็นฝีมือของแนวร่วมในพื้นที่มีการเตรียมการไว้เป็นอย่างดี
 
เวลานี้มีสิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังทำไม่ได้ผลคือ ยังค้นหาไม่พบ “สถานที่รักษาพยาบาลคนเจ็บ” ที่เกิดจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างกรณีการปะทะกันแล้วอาร์เคเคบาดเจ็บและหลบหนีไปได้ที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา รวมถึงที่เทือกเขาตะเว อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เป็นต้น หรือหากมองย้อนไปในระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่สามารถพบแหล่งที่ใช้ในการรักษาพยาบาลคนเจ็บของกองกำลังฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะในกรณีที่อาร์เคเคได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องมี “แหล่งให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น” ก่อนที่จะส่งข้ามแดนไปรักษาต่อที่ฝั่งประเทศมาเลเซีย
 
รวมทั้งอีกประเด็นสำคัญคือ “การเรียกเก็บเงินจากเครือข่าย” ของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีการจัดเก็บจาก “หลากหลายองค์กร” ในพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ มีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายในการทำการจรยุทธ์ได้อย่างสมบูรณ์แบบในช่วง 14 ปีมานี้ แต่การเข้าถึงเพื่อ “ทำลายท่อน้ำเลี้ยง” ของบีอาร์เอ็นฯ กลับยังไม่บังเกิดผลอะไรให้เห็นอย่างเป็นที่ประจักษ์
 
เช่นเดียวกับ “องค์กรสตรี” ของบีอาร์เอ็นฯ ที่ทำหน้าที่สำคัญหลายประการเพื่อหนุนเสริมให้แนวร่วมในระดับต่างๆ รวมทั้งอาร์เคเคสามารถ “หลบซ่อน” หรือ “หลบหลีก” ขณะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ ได้ตลอดห้วงกว่า 14 ปีผ่านมา เวลานี้กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 15 แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ยังค้นหาเครือข่ายเหล่านี้ไม่พบ หรือยังเข้าไม่ถึง “ชั้นความลับ” ในเรื่องนี้ เพราะยังไม่เคยมีบัญชีรายชื่อองค์กรสตรีที่เป็นเครือข่ายนี้แต่อย่างใด
 
ดังนั้น 2-3 ประเด็นที่กล่าวมานี้ หากฝ่ายความมั่นคงยังไม่สามารถทำลายให้หมดไปได้ เราจะหวังอะไรที่เป็นความสำเร็จหรือเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจในเชิงลึกของการปฏิบัติงานในสายงานของ “กอ.รมน.” ในด้านอื่นๆ ได้อีกเล่า ที่ผ่านๆ มาจึงมีแต่ผลงานที่เป็นความสำเร็จเพียงผิวเผินเท่านั้นใช่หรือไม่
 
เหล่านี้คือ “โจทย์” ที่ท้าทายความสามารถของทั้ง พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ และต้องรวมเลยไปถึงคณะผู้บริหารของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่ ด้วย
 
นอกจากนี้มีสิ่งที่ต้องตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ด้วยในเรื่องความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่รวมตัวกันจัดเวที “สิทธิทางการเมืองตามกฎหมายกับทางออกสงครามปัตตานี” ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า แท้จริงแล้วองค์กรเหล่านี้เคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ โดยเฉพาะในประเด็นการใช้ “วาทกรรม” ในท่วงทำนองว่า “ต้องกำหนดชะตากรรมตนเอง” หรือ “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง” และกระทั่งใช้คำว่า “สงครามปาตานี” แถมด้วยการใช้ “วันสัญลักษณ์” ต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหว
 
นั่นแสดงให้เห็นว่าช่วง 14 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานความมั่นคงยังไม่สามารถที่ทำความเข้าใจกับองค์กรเหล่านี้ได้ ทั้งที่องค์กรเหล่านี้เล่นบทเสมือนเป็น “เม็ดกรวดในรองเท้า” ที่สร้างความขุ่นข้องให้เกิดขึ้นได้เป็นระยะๆ
 
สำหรับประเด็นนี้ผ่านมาแล้ว “หลายแม่ทัพ” แต่สิ่งที่ยังเห็นประจักษ์ ทั้งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต่างมีข้อมูล รู้รายละเอียดว่ามี “องค์กรภาคประชาสังคม” ในพื้นที่กี่แห่งที่ทำหน้าที่เป็นเหมือน “ปีกทางการเมือง” ให้กับบีอาร์เอ็นฯ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยปรากฏมีมาตรการหยุดยั้งองค์กรเหล่านี้ที่เด่นชัด
 
แต่จะว่าไปแล้วภายใต้แม่ทัพที่ชื่อ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ นอกจากจะ “เอาจริง” กับการแก้ไข “ปัญหายาเสพติด” แบบที่รู้กันว่า แม้จะไม่ประกาศว่าจะ “จับทุกเม็ด” รวมทั้งการ “เอาจริง” กับการ “จับกุมสินค้าหนีภาษี” ที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม หัวหอม หัวกระเทียม น้ำมันเถื่อน บุหรี่และสุรา ฯลฯ ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ทั้งในพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.สตูล อย่างต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ทั้ง 2 เรื่องก็ต้องนับเป็น “ผลงาน” ที่เป็นที่ชื่นชมของประชาชนในพื้นที่
 
อย่างไรก็ตามเวลานี้มีสิ่งที่ต้องระมัดระวังด้วย กล่าวคือ ณ วันนี้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการแก้ปัญหา “ภัยแทรกซ้อน” กลับถูก “มวลชน” ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับสินค้าหลบเลี่ยงภาษีตามแนวชายแดนรุมกันกล่าวหาว่า มีการปฏิบัติหน้าที่แบบ 2 มาตรฐาน” เช่นบางชุดปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งจับกุมและกวาดล้างสินค้าที่ถูกขึ้นบัญชีให้ไว้ชัดแจ้ง แต่บางชุดกลับปฏิบัติหน้าที่แบบตามใจตนเองคือ เจออะไรที่เป็นสินค้าจากประเทศมาเลเซีย ไม่ว่าจะขนมปังหรืออย่างแค่ข้าวเกรียบก็กวาดจับไปทั้งหมด แบบที่ไม่พยายามแยกแยะว่า กรณีไหนเป็นเรื่องของ “นายทุน” หรือเรื่องของ “คนหาเช้ากินค่ำ” สุดท้ายได้กลายเป็นไป “สร้างเงื่อนไข” เพิ่มขึ้น
 
ประเด็นสุดท้ายที่ขอกล่าวไว้ด้วยคือ จะเรียกว่า “เงินเยียวยา” หรือ “เงินจ้างงาน” หรืออะไรก็ตามเกี่ยวกับเงินจำนวน 4,500 บาท/เดือน” ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ใช้ไปกับ “ผู้ได้รับผลกระทบ” จากสถานการณ์ในรอบ 14 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อถึงเวลาก็ต้องมีการ “เลิกจ้างคนเก่า” แล้วนำเอาอัตราเหล่านั้นไป “จ้างคนใหม่” ซึ่งทุกครั้งที่เปลี่ยนแปลงจะมีความไม่พอใจและเกิดปัญหาตามมาเสมอ
 
ณ เวลานี้ได้เกิดกระแสสะพัดของการกล่าวหาจากผู้ถูกเลิกจ้างอย่างหนาหูว่า มีการ “เบียดบัง” เงินจำนวน 4,500 บาท/เดือนดังกล่าวไปจ่ายให้กับทั้ง “ผู้ใหญ่” แต่ที่รับรู้กับอย่างกว้างขวางและอย่างเป็นที่ประจักษ์ แม้จะมีความพยายามปิดบังกันให้แซดก็คือ การเอาไปใช้ “ซื้อสื่อ” ที่ทำงานอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งเพื่อผลของการประชาสัมพันธ์แต่ “ข่าวบวก” และปิดปากไปในตัวเกี่ยวกับ “ข่าวลบ”
 
ประเด็นนี้ถือว่า “อ่อนไหว” เป็นอย่างยิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจไม่เฉพาะกับผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้น สำหรับประชาชนในพื้นที่และโดยเฉพาะสังคมนอกพื้นที่ก็ต้องให้เกิดความเข้าใจกระจ่างแจงในเรื่องนี้
 
เนื่องเพราะช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาภายใต้การทำงานแบบ “บูรณาการ” กับหน่วยงานต่างๆ ของ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถือว่าเดินมาบนเส้นทางที่ “ถูกต้อง” ของการที่จะดับไฟใต้แล้ว ดังนั้นจึงอย่าให้เกิดการเดินสะดุดขาตนเองจนเสียกระบวนในเรื่องนี้
 
ด้วยความหวังดีและอยากจะเห็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ปรากฏขึ้นบนแผ่นดินปลายด้ามขวาน จึงได้บอกกล่าวในเรื่องราวเหล่านี้!!
 


กำลังโหลดความคิดเห็น