xs
xsm
sm
md
lg

“สวนยางยั่งยืน” คือการประกาศ “อธิปไตยที่แท้จริง” ของเกษตรกรชาวสวนยาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์...“คนทุกข์ลุกสร้างสุข : สมัชชาประชาชนภาคใต้”
โดย...สุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้
 

 
“สวนยางยั่งยืน” คือการเปลี่ยน “สวนยางเชิงเดี่ยว” ให้เป็น “ป่ายาง” ที่มีสมดุลนิเวศ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการจัดการรูปแบบการปลูกยางใหม่ โดยให้มีต้นยางเพียง 40-44 ต้น/ไร่ จากรูปแบบการปลูกยางเดิม 76-80 ต้น/ไร่ มีการทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดการใช้เคมี มีการปลูกพืชร่วมยาง เช่น ผักพื้นบ้าน ผลไม้ พืชสมุนไพร ไผ่ กาแฟ เป็นต้น มีการทำเกษตรผสมผสาน เช่น เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงผึ้ง ทำฟาร์มเห็ด และมีการปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจตามแนวทางธนาคารต้นไม้ เช่น ตะเคียนทอง จำปาทอง ไม้สัก พะยูง ยางนา
 
ผลที่จะได้รับจากการทำสวนยางยั่งยืน ประกอบด้วย 1.ผลผลิตยางจากสวนยางยั่งยืน 40-44 ต้นต่อไร่ เมื่อมีสมดุลนิเวศจะมีผลผลิตที่ใกล้เคียงกับสวนยางเชิงเดี่ยว 70-80 ต้นต่อไร่ 2.ต้นยางจะต้านทานโรค เปอร์เซ็นต์น้ำยางสูงขึ้น เพราะหลักทางวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ ต้นยางพาราต้องอยู่ร่วมกับพืชอื่น จึงจะเติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่เป็นโรค 3.ลดต้นทุนการผลิต ทั้งปุ๋ย แรงงาน และการใช้สารเคมี  4.สร้างรายได้เสริม เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากยางเพียงอย่างเดียว รวมทั้งช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน 5.เป็นยุทธวิธีการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำอย่างยั่งยืนและได้ผลที่สุด เพราะถ้ามีรายได้เสริมเพียงพอยังชีพ สามารถหยุดกรีดยางทั้งประเทศ ทำให้เกษตรกรชี้นำราคายางได้จริง 
 
6.ป่ายางจะมีความชื้นสัมพัทธ์สูง สามารถกรีดยางตอนกลางวันได้ (17.00-18.00 ) ไม่ต้องสุ่มเสี่ยงกรีดยางช่วงกลางคืนที่มีออกซิเจนต่ำ แสงน้อย และอันตรายจากสัตว์มีพิษ 7.รัฐบาลควรทำโครงการนำร่องสวนยางยั่งยืนในพื้นที่สวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ประมาณ 5 ล้านไร่ เพื่อแก้ปัญหาสิทธิในที่ทำกินของเกษตรกรผู้ยากไร้ 300,000 ครัวเรือน โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มทำสวนยางยั่งยืน และขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมายภายใต้กรอบสิทธิชุมชน ซึ่งสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เศรษฐกิจได้ทันที 5 ล้านไร่ โดยที่ไม่ต้องขัดแย้งกับคนจนจากการโค่นต้นยางตามนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล อีกทั้งยังสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้ชุมชนช่วยดูแลป่าไม้ที่เหลือ อันเป็นการเดินตามแนวทางคนอยู่ป่ายัง และสร้างป่าสร้างรายได้
 
8.ป่ายางจะช่วยลดการพังทลายของหน้าดิน ช่วยดูดซับคาร์บอน เป็นการสร้างและรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมทั้งยังช่วยลดไฟป่าในบางพื้นที่ เพราะการทำสวนยางมีการลงทุนสูงจึงต้องมีการเฝ้าระวัง 9.สวนยางยั่งยืนจะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร อนุรักษ์พันธุกรรมพืชพื้นถิ่น และเพิ่มพื้นที่การทำเกษตรกรรมยั่งยืน 10.คุณภาพชีวิตและสุขภาวะชาวสวนยางดีขึ้น เพราะได้บริโภคอาหารปลอดภัยที่ปลูกเอง ลดความเสี่ยงจากการใช้สารเคมี การกรีดยางช่วงกลางวันได้ทำให้สุขภาพของชาวสวนยางดีขึ้น และสามารถรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรม เช่น การไปร่วมงานบุญในช่วงกลางคืนได้ การปลูกต้นไม้ยืนต้นในสวนยางเป็นการออมและเป็นสวัสดิการของชาวสวนยางที่ดีที่สุด และการทำสวนยางยั่งยืนเป็นการพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9
 
ขอหมายเหตุไว้ว่า หากรัฐบาลทำโครงการนำร่องสวนยางยั่งยืนในสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 5 ล้านไร่ก่อนสมดุลนิเวศ จะช่วยลดซัปพลายยางไม่น้อยกว่าปีละ 500,000 ตัน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้ระดับหนึ่ง
 
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สวนยางยั่งยืน เพื่อช่วยแก้ปัญหาราคายางตกต่ำให้เลยจุดคุ้มทุนที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม โดยมี เป้าหมาย มีพื้นที่สวนยางยั่งยืน 7.8 ล้านไร่ภายใน 7 ปี หรือประมาณ 30% ของพื้นที่สวนยางทั้งประเทศ โดยแบ่งเป็นสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 5 ล้านไร่ และสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ 2.8 ล้านไร่
 
ระยะแรก ภายในปี 2561ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สวนยางยั่งยืน ระยะกลาง ปี 2562-2563 รวม 2 ปี ให้รัฐบาลทำโครงการนำร่องสวนยางยั่งยืนในพื้นที่ทับซ้อนป่าไม้ 5 ล้านไร่ เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 3 แสนครัวเรือนให้แล้วเสร็จ และ ระยะยาว ปี 2562-2568 รวม 7 ปี ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพื่อการปลูกแทนแก่เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยเพิ่มเติม 10,000 บาทต่อไร่ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรทำสวนยางยั่งยืน จากเดิมได้รับเงินสนับสนุนการปลูกแทนจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ไร่ละ 16,000 บาท โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรลดการทำสวนยางเชิงเดี่ยวปีละ 400,000 ไร่ เป็นระยะเวลา 7 ปี รวม 2.8 ล้านไร่
 
สำหรับ ผลที่คาดว่าจะได้รับ ได้แก่ 1.ภายใน 2 ปี จะมีสวนยางยั่งยืนของเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 5 ล้านไร่ เป็นการแก้ปัญหาสิทธิในที่ทำกินของเกษตรกรรายย่อย 300,000 ครัวเรือน และประเทศไทยจะมีพื้นที่ป่าไม้เศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 5 ล้านไร่โดยไม่ต้องไปทำร้ายคนจน และผู้ยากไร้  2.ผลผลิตยางของไทย หรือซัปพลายยางจะลดลงจากข้อ 1 จำนวน 500,000 ตันต่อปี ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำเพื่อสู่เป้าหมายเลยจุดคุ้มทุนที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว แลกกับสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายของเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ
 
และ 3.การใช้งบประมาณปีละ 4,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 7 ปีของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ เปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวเป็นการทำสวนยางยั่งยืน จำนวน 2.8 ล้านไร่ ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และแก้ปัญหาวิกฤตยางพาราไทยที่ต้นเหตุ ซึ่งจะได้ผลกว่านโยบายการแทรกแซงราคายางและการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตที่ผ่านมา เพราะมีข้อสรุปแล้วว่า นโยบายดังกล่าวล้มเหลวและเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ยั่งยืน
 
ทั้งนี้ “สวนยางยั่งยืน” คือ การประกาศอธิปไตยของเกษตรกรชาวสวนยาง
 
เพื่อหลุดพ้นจากกับดักกลไกราคาและตลาดที่ไม่เป็นธรรม เพราะถ้าเราสามารถสร้างรายได้อื่นจากสวนยาง เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ในสวนยางเพื่อผลิตอาหารปลอดภัย การปลูกพืชร่วมยาง การทำเกษตรผสมผสาน การออมทรัพย์ด้วยการปลูกต้นไม้ในสวนยาง โดยไม่หวังพึ่งรายได้จากการขายยางเพียงอย่างเดียว จนทำให้เรามีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งเจ้าของสวนยาง และคนกรีดยาง อันเกิดจากการพึ่งพาตนเอง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเกษตรกรชาวสวนยางมีสุขภาวะที่ดี เมื่อราคายางถูกเราก็หยุดกรีดยาง ถึงวันนั้นชาวสวนยางจะเป็นผู้กำหนดราคายางด้วยตนเอง
 
นี่คือ...ทางเลือก ทางรอดของเกษตรกรชาวสวนยางอย่างแท้จริง
 


กำลังโหลดความคิดเห็น