xs
xsm
sm
md
lg

ข้อมูลที่รัฐบาล คสช.ไม่อยากได้ยิน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน  /  โดย...ประสาท มีแต้ม
 .
 
นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อกลางปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ท่านได้กล่าวต่อสาธารณะบ่อยจนนับครั้งไม่ถ้วนว่า “รัฐบาลนี้จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” บางครั้งท่านก็เลือกเอาข้อมูลอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจบางตัวมาอวดประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณี “ไทยแลนด์ 4.0”  ที่จะยกระดับประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง นั่นคือคาดว่ารายได้ของคนไทยจะสูงขึ้นจนหลุดพ้นจาก “กับดัก” ในอนาคตอันใกล้
 
แต่ล่าสุด จากรายงานของเครดิตสวิส (Credit Suiess) ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการลงทุนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เพิ่งออกมาเมื่อเดือนตุลาคมปีนี้ได้ให้ข้อมูลถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศไทย (และทั่วโลก) ที่ผมเชื่อรัฐบาล คสช.ต้องตกใจใน 2 ประเด็น คือ หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำในมูลค่าทรัพย์สินของครอบครัวคนไทยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหมายถึงสภาพแย่ลง หรือหมายถึงว่า มีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากขึ้นกว่าเดิม ในช่วงที่รัฐบาล คสช.ครองอำนาจนี่แหละ และ สองเรื่องรายได้ของคนไทยที่รัฐบาล คสช.ได้คุยโม้ว่าจะทำให้เพิ่มขึ้นแต่กลับพบว่าทรัพย์สินในครัวเรือนของคนไทยในช่วง 2557 ถึง 2561 กลับลดลงถึง 38% ย้ำ 38%

เดี๋ยวผมจะค่อยๆ อธิบายอย่างง่ายๆ ให้เข้าใจกันครับ แต่ก่อนอื่นกรุณาดูผลสรุปในแผ่นภาพ ซึ่งผมได้รวบรวมจากรายงานดังกล่าวในปี 2557 ถึง 2561 โดยที่ข้อมูลในปี 2561 เป็นข้อมูลในรอบ 12 เดือนนับถึงกลางปี 2561 เรียกว่ายังเป็นข้อมูลที่ยังอุ่นๆ อยู่เลย
 

 
เอาประเด็นแรกก่อนครับ เรื่องความเหลื่อมล้ำในทรัพย์สินครัวเรือน

โดยปกติ ในการวัดความเหลื่อมล้ำ หรือความไม่เท่าเทียมกัน นักเศรษฐศาสตร์นิยมใช้ตัวชี้วัดที่เรียกว่า “สัมประสิทธิ์ Gini” ซึ่งคิดโดยนักสถิติชาวอิตาลีในปี 1912 หรือเมื่อร้อยปีเศษมานี้เอง

เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ สมมติว่า ประเทศหนึ่งมีประชากร 100 คน ถ้าทุกคนมีทรัพย์สิน (หรือรายได้) เท่ากัน แสดงว่าประเทศนี้ไม่มีความเหลื่อมล้ำเลยเป็นประเทศในอุดมคติ นั่นคือ ค่าสัมประสิทธิ์ Gini จะเท่ากับศูนย์

ในกรณีที่ทรัพย์สินทั้งประเทศเป็นของคนเพียงคนเดียว อีก 99 คนไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย กรณีนี้ค่าสัมประสิทธิ์ Gini จะเท่ากับหนึ่ง (หรือ 100%) ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุด  

ประเทศใดที่มีค่าสัมประสิทธิ์ต่ำๆ แสดงว่าประเทศนั้นมีการกระจายรายได้หรือทรัพย์สินดี ในทางกลับกัน ถ้าค่าสัมประสิทธิ์มีค่าสูง แสดงว่าประเทศนั้นมีการกระจุกตัวของรายได้อยู่ที่คนหยิบมือเดียว แต่คนส่วนใหญ่ยากจนซึ่งท่านสันตะปาปา Francisถือว่า ความเหลื่อมล้ำคือต้นเหตุแห่งความชั่วร้ายของสังคม (Inequality is the root of social evil.) เรื่องความเหลื่อมล้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ทุกรัฐบาลไม่ควรมองข้าม

ขอย้อนกลับมาดูตัวเลขในตารางแรกอีกครั้งครับ 

ในปี 2557 ตอนที่ คสช.เข้ามาใหม่ๆ ค่าสัมประสิทธิ์ Gini เท่ากับ 82.5% สูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก แต่ในปี 2561 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 90.2% สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก (หมายเหตุ ผมตามดูทีละประเทศจนครบรวม 166 ประเทศไม่ใช่เป็นที่หนึ่งในบรรดาประเทศที่ถูกเลือกมารายงานในบางสื่อโดยที่ในปี 2561 ประเทศยูเครน มีค่าสัมประสิทธิ์ Gini สูง 95.5% รองลงมาคือ คาซัคสถาน 95.2% ในขณะที่สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาเท่ากับ 74.7% และ 85.2% ตามลำดับ) 

เรื่องที่สอง คนไทยมีสินทรัพย์ครัวเรือนเพิ่มขึ้น หรือลดลงกันแน่

ถ้าเราพิจารณาทางซ้ายมือของตารางที่สอง เราจะพบว่าในปี 2557 เฉลี่ยสินทรัพย์ของคนไทยเท่ากับ 7,487 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปี 2561 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 9,969 หรือเพิ่มขึ้น 33% ข้อมูลที่ถูกนำเสนอดังกล่าว เขาเรียกว่าเป็นค่าเฉลี่ยเลขคณิต (arithmetic mean)  

การหาค่าเฉลี่ยเลขคณิต เป็นการนำรายได้หรือสินทรัพย์ของทุกคนในประเทศมารวมกันแล้วหารด้วยจำนวนคนทั้งหมด เช่น ถ้าประเทศหนึ่งประกอบด้วยคน 11 คน โดยที่แต่ละคนมีรายได้ 1, 2, 2, 3, 3, 3, 3, 4, 5, 8 และ 100 บาท เราจะได้ว่า ค่าเฉลี่ยเลขคณิต หรือมักจะเรียกสั้นๆ ว่า ค่าเฉลี่ย (mean) เท่ากับ 12.2 บาท

จากตัวอย่างที่ยกมาดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางคณิตศาสตร์อะไรมากมายนัก เราก็พอจะทราบได้ว่า ค่าเฉลี่ย 12.2 บาท ไม่ใช่ค่าที่สามารถจะเป็นตัวแทนของข้อมูลชุดนี้ได้ดี เพราะค่าเฉลี่ยมากกว่าค่าของประชากรส่วนใหญ่หลายเท่าตัว ดังนั้น ถ้าข้อมูลที่มีความแตกต่างกันหรือมีความไม่เท่าเทียมกันมากดังตัวอย่าง นักคณิตศาสตร์และนักสถิติจะไม่ใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิตมาเป็นตัวแทน

ถ้าอย่างนั้นจะใช้วิธีการใดในการหาค่าที่จะเป็นตัวแทนของข้อมูลชุดดังกล่าวได้ดีกว่า

นักคณิตศาสตร์มี 2 วิธี คือ การหาค่ามัธยฐาน (median) ซึ่งค่ามัธยฐานเกิดจากการนำข้อมูลมาเรียงจากน้อยไปหามากแล้วเลือกเอาค่าที่อยู่ตรงกลางเป็นค่ามัธยฐาน จากข้อมูลชุดดังกล่าว เราจะได้ว่าค่ามัธยฐานก็คือ 3.0 (ข้อมูลที่ 6) อีกวิธีการหนึ่งคือค่าฐานนิยม (mode) ซึ่งก็คือค่าที่มีจำนวนซ้ำกันมากที่สุด ในที่นี้ก็คือ 3.0 เช่นเดียวกัน

จากตัวอย่างของข้อมูลชุดนี้ เราจะเห็นว่า ทั้งค่ามัธยฐาน และค่าฐานนิยม มีค่าเท่ากัน และมีค่าใกล้เคียงกับข้อมูลส่วนใหญ่ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยเลขคณิตมีค่าสูงกว่าข้อมูลส่วนใหญ่หลายเท่าตัว จึงไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงของข้อมูลชุดนี้ได้

ความจริงแล้วปัญหาในการหาค่ากลางที่เป็นตัวแทนที่ดีกว่าของข้อมูลแต่ละชุด ในตำราเขามีคำอธิบายที่ชัดเจนแล้วว่าข้อมูลแบบไหนควรจะใช้ตัวชี้วัดแบบใด แต่นักการเมืองมักจะบิดเบือนใช้อย่างผิดๆ เพียงเพื่อให้ตัวเลขออกมาดูดีต่อผลงานของรัฐบาลเท่านั้น โดยไม่สนใจความเป็นจริง 

ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นชัดกว่านี้ ถ้าขาข้างหนึ่งของคนถูกมัดให้แช่ในน้ำที่ร้อนจัด แต่อีกข้างหนึ่งถูกมัดให้แช่ในน้ำที่เย็นจัด เมื่อวัดอุณหภูมิเฉลี่ยของร่างกายออกมาแล้วก็ยังถือว่าปกติ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย นี่แหละคือวิธีคิดของรัฐบาลที่มีเจตนาบิดเบือน

กลับไปดูข้อมูลทางขวามือของตารางที่สองอีกครั้งครับ ในปี 2557 (ซึ่งมีจำนวนประชากรที่เป็นผู้ใหญ่ จำนวน 50.6 ล้านคน) ถ้านำคนทั้งหมดมายืนเรียงจากรายได้ต่ำสุดไปสู่สูงสุด เราพบว่าคนที่อยู่ตรงกลาง (คนที่ 25.3 ล้าน) มีรายได้จำนวน 1,742 ดอลลาร์สหรัฐ (เราเรียกค่านี้ว่า ค่ามัธยฐาน) แต่ในปี 2561 ค่าดังกล่าวลดลงมาเหลือ 1,085 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น หรือลดลง 38% แต่เมื่อใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิตของทรัพย์สินดังกล่าวกลับเพิ่มขึ้น 33%

ในแง่ของการกระจายทรัพย์สิน รายงานขนาด 167 หน้าดังกล่าว ได้รายงานว่าในปี 2561 คนไทยวัยผู้ใหญ่ จำนวน 91.7% ของประเทศ (หรือกว่า 48 ล้านคน) มีสินทรัพย์เฉลี่ยไม่ถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ในขณะที่เมื่อปี 2557 ร้อยละของคนไทยดังกล่าวมี 90.9% หรือจำนวน 45 ล้านคน

พูดอย่างหนึ่งก็คือ รัฐบาล คสช.ได้ทำให้คนไทยโดยเฉลี่ยที่มีทรัพย์สินไม่ถึง 10,000 ดอลลาร์เพิ่มขึ้น จำนวน 3 ล้านคน

นี่คือ ความจริงที่รัฐบาล คสช.ไม่อยากได้ยิน

ในขณะที่มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุด 10 คนแรกของไทยมีทรัพย์สินรวมกันถึง 79,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (https://www.forbes.com/profile/vanich-chaiyawan/?list=thailand-billionaires#57a065048761)

ถ้าหาค่าเฉลี่ยเลขคณิตก็จะได้คนละ 7,910 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อคน โดยคนที่อันดับ 50 มีทรัพย์สิน 600 ล้านดอลลาร์ และถ้าสืบประวัติของแต่ละคนที่ร่ำรวยขึ้นมาได้ จำนวนมากก็เพราะนโยบายของรัฐบาลนั่นแหละที่เอื้อประโยชน์และโอกาสให้ท่านเหล่านั้น

เห็นด้วยกับผมไหมครับว่า นี่คือเรื่องง่ายๆ ที่คนไทยเราได้ถูกนักการเมือง และส่วนราชการบางส่วนหลอกมาตลอด
 


กำลังโหลดความคิดเห็น