คอลัมน์...“คนทุกข์ลุกสร้างสุข : สมัชชาประชาชนภาคใต้” / โดย…ลม้าย มานะการ
ข้อมูลจากศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2558) พบว่า ในปี 2548 จังหวัดปัตตานี มีพื้นที่นา 323,786 ไร่ เป็นพื้นที่นาร้าง 61,906 ไร่ หรือร้อยละ 19.12 ในขณะที่ในปี 2555 มีพื้นที่นา เนื้อที่เพาะปลูกทั้งหมด 116,210 ไร่ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 114,160 ไร่ มีผลผลิต 49,390 ตัน เฉลี่ย 425 กิโลกรัม/ไร่
ตัวเลขเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า มีการทำนาข้าวน้อยลง เท่ากับมีนาร้างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
จากงานวิจัยเรื่องนาร้างในปัตตานีของ สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล และคณะ (2551) และเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ และคณะ (2556) ระบุว่า ในจังหวัดปัตตานีมีพื้นที่นาร้างจำนวนมาก สาเหตุมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหานาร้าง คือ พืชเศรษฐกิจตัวอื่นให้ผลตอบแทนดีกว่า การอพยพไปทางานต่างถิ่นทั้งในและต่างประเทศ น้ำท่วมขังที่นาที่เกิดจากคันคลองส่งน้ำชลประทาน และพื้นถนนที่ยกสูง การขายที่นาให้นายทุน และทัศนคติของชาวนาที่มีต่อการทำนาแย่ลง
ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของชาวนา ความเป็นครอบครัว ความเอื้ออาทรกันในชุมชน วัฒนธรรมข้าว รวมทั้งผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม และในที่สุดส่งผลให้การพึ่งตนเองได้ของครัวเรือนและชุมชนมีน้อยลง
“สมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี” ส่งต่อรัฐประกาศนโยบายการแก้ปัญหาชาวนา
ด้วยปัญหาข้างต้น คณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากชาวนาจังหวัดปัตตานีทั้ง 12 อำเภอ ในห้วงเวลาเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2561 ซึ่งพบว่า ปัญหาของชาวนาในพื้นที่ ได้แก่ ทัศนคติของชุมชนที่มีต่อการทำนาทำให้มีคนทำนาน้อยลง ต้นทุนการทำนามีสูงจากปัจจัยการผลิต ทั้งค่าไถ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ทำให้มีการทำนาน้อยลงและเกิดปัญหานาร้าง การทำนาที่อาศัยน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งมีความไม่แน่นอน ปัญหาที่เกิดจาการจัดการน้ำและการชลประทานที่ไม่เป็นระบบ และไม่สอดคล้องต่อวิถีการทำนาของพื้นที่ รวมทั้งเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และความวิตกกังวลของชาวนา ไม่สามารถทำนาได้อย่างเต็มที่ จึงเกิดนาร้างจำนวนมาก
จัดตั้งองค์กรชาวนาเพื่อแก้ปัญหาร่วมกับภาคี
ก่อนนี้ในพื้นที่ไม่มีองค์กรกลางของชาวนาในการร่วมแก้ปัญหา หลังจากจัดทำสมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี ในวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตัวแทนกลุ่มชาวนาตระหนักถึงความจำเป็นในการร่วมกันแก้ไขปัญหา จึงก่อตัวเป็นชมรมชาวนาจังหวัดปัตตานี มีสมาชิกรวม 20 คน และระดมความเห็นเพิ่มเติม เพื่อให้มีการแก้ปัญหาการทำนา โดยทำข้อเสนอเพื่อให้มีการปฏิบัติการรูปธรรม และข้อเสนอนโยบายสาธารณะต่อหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข้อเสนอการปฏิบัติการรูปธรรม
1. ชาวนา รวมกันเองในระดับตำบล หรืออำเภอ หรือโซน จัดตั้งกลุ่มกองทุนชาวนาในระดับต่างๆ เพื่อเชื่อมโยง และช่วยเหลือกันในการพัฒนาคุณภาพของการทำนา
2. ชาวนาและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันสร้างอาชีพเสริม เช่น การแปรรูป การปลูกพืชในนาข้าว ก่อนและหลังฤดูการทำนา หรืออาชีพที่ต่อเนื่องอื่นๆ ให้แก่ชาวนา
3. ชาวนาและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เป็นหุ้นส่วนกันในการอุดหนุนปัจจัยการผลิต ได้แก่ พันธุ์ข้าว ปุ๋ย การจัดหารถไถ รถเกี่ยวข้าวให้แก่กลุ่มชาวนา เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำนา และลดต้นทุนการทำนาของชาวนาลง
4. หน่วยงานภาครัฐ สภาเกษตรกร สมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี และองค์กรภาคี ร่วมมือกันในการส่งเสริมการรวมกลุ่ม จัดตั้งศูนย์เรียนรู้และศูนย์ช่วยเหลือชาวนา อย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง
5. หน่วยงานภาครัฐด้านการจัดการน้ำและชลประทาน องค์กรท้องถิ่น และชุมชน ร่วมมือกันปรับปรุง ซ่อมแซม และพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำชลประทาน เพื่อเอื้อต่อการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ
6. ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนจ่ายชดเชย ค่าเสียหายแก่ชาวนา ทั้งเจ้าของที่ดินและคนทำนา เมื่อนาข้าวได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ เพื่อเยียวยาและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น
7. ภาคธุรกิจและภาครัฐ สนับสนุน ส่งเสริมการตลาด โดยการเปิดตลาดข้าวและสินค้าจากข้าว เพื่อระบายข้าวขายให้แก่ผู้บริโภคในราคาที่เป็นธรรมกับทั้งชาวนาและผู้บริโภค
8. ภาควิชาการทั้งในหน่วยงานการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐด้านวิชาการ สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ เพื่อแก้ปัญหาการทำนา และพัฒนาคุณภาพการทำนา
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
1.ต้องยอมรับร่วมกันว่า ปัญหาการทำนาไม่ใช่ปัญหาของชาวนาแต่ลำพัง แต่เป็นปัญหาสังคมที่ต้องแก้ไขและพัฒนาไม่ใช่โดยชาวนาเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน
2.สร้างนโยบายแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการทำนา โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวนา ผู้นำชุมชนท้องถิ่น หน่วยราชการทุกระดับ และภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
3.สร้างกลไกการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนปฏิบัติ สนับสนุนการปฏิบัติการ และติดตามการดำเนินการตามแผนการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการทำนา โดยจัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคีระดับจังหวัด เพื่อกำกับนโยบายในการแก้ปัญหา และพัฒนาด้านการทำนา และจัดตั้งคณะทำงานระดับโซน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในการแก้ปัญหาและพัฒนาการทำนา
4.มีนโยบายในการส่งเสริมการจัดการแหล่งน้ำและการชลประทาน และสนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยงานที่รับผิดชอบ การชลประทานทุกระดับ สามารถดำเนินการด้านชลประทานให้สอดคล้อง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
5.จัดตั้งงบประมาณที่เหมาะสมในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำนา การแก้ปัญหาการทำนาและพัฒนาคุณภาพการทำนา ทั้งต้นน้ำ คือ ช่วงการผลิต กลางน้ำ คือ ช่วงการดูแลรักษาจนถึงการเก็บเกี่ยว และปลายน้ำ เช่น การแปรรูป การบรรจุภัณฑ์ และการตลาด
6.มีนโยบายสนับสนุนทางวิชาการ และนวัตกรรมที่เหมาสมในการพัฒนาคุณภาพการทำนา
7.ประกาศนโยบายการฟื้นฟูนาร้างให้เป็นวาระของจังหวัดปัตตานี และให้เป็นวาระผูกพันและต่อเนื่องในระยะยาว
จากนี้ไปชมรมชาวนาจังหวัดปัตตานี และสมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี จะมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มชาวนา พร้อมจัดสานเสวนาเรื่องนาข้าว และชาวนากับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งร่วมพัฒนานโยบายและแนวปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขและพัฒนาคุณภาพการทำนาจังหวัดปัตตานี