xs
xsm
sm
md
lg

ภาคประชาสังคมกับอนาคตประเทศไทย : ความคาดหวังและความท้าทาย / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม 
-----------------------------------------------------------------------------------


ตามที่ผมได้เล่าไปส่วนหนึ่งแล้วในบทความก่อนนี้ว่า ผมได้รับเชิญให้บรรยายเรื่อง “ภาคประชาสังคมกับอนาคตประเทศไทย” จาก“สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม”โดยสรุปก็คือ โลกในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ซึ่งอาจจะนำไปสู่สวรรค์หรือนรกก็ได้ทั้งนั้น ยากที่ใครจะพยากรณ์ได้ถูกต้อง แต่ผมก็ได้สรุปในตอนท้ายว่า สิ่งที่ดีที่สุดถ้าเราอยากจะให้อนาคตเป็นอย่างไร เราจงมาร่วมกันทำให้เป็นดังที่เราอยากจะได้ 

ในการนี้ บทบาทของภาคประชาสังคมกำลังถูกคาดหวังและท้าทายจากสังคมทั่วไปจนถึงองค์กรระดับโลก เช่น องค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้บรรจุความคาดหวังไว้ในเอกสารของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ด้วย

วันนี้ผมขออนุญาตเล่าต่อนะครับ ถือเป็นตอนที่สอง 

ผมเริ่มต้นด้วยการค้นหาความหมายอย่างเป็นทางการของคำว่า “ประชาสังคม (Civil Society)”  โดยค้นจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ผลการค้นหาพบว่ามีอยู่หนึ่งที่ (คือมาตรา 222) แต่ไม่มีคำอธิบายใดๆ เลย

แต่ในเว็บไซต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา มีความว่า “ประชาสังคมเป็นรูปแบบของสังคมที่ให้ความสำคัญต่อกิจกรรมสาธารณะแตกต่างกับกิจกรรมของครอบครัวและกิจกรรมของรัฐดั้งเดิม กิจกรรมประชาสังคมดำเนินการภายใต้กรอบนิติกรรม และมีขอบเขตครอบคลุมประเด็นการมีส่วนร่วมสาธารณะ องค์การ อาสาสมัคร สื่อสารมวลชน องค์การวิชาชีพ สหภาพแรงงาน ฯลฯ”

ผมค้นคว้าเพิ่มเติมอีกหลายความเห็นซึ่งทำให้เราเข้าใจได้ชัดเจนมากขึ้นอีก เช่น “ภาคประชาสังคมมีบทบาทเด่นในการสนับสนุนนวัตกรรม มีความสามารถในการทดลอง เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว (กว่ารัฐบาล) และมีบทบาทเป็นตัวที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

ภาคประชาสังคมหมายถึง “ภาคที่สาม” ที่ไม่ใช่ “ภาครัฐบาล” และ “ภาคธุรกิจ”ไม่ใช่เรื่องครอบครัว และไม่ใช่พรรคการเมืองเพราะพรรคการเมืองต้องการอำนาจรัฐ

ลำพังรัฐบาลอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ประชาธิปไตยทำงานได้การริเริ่มของภาคเอกชนเป็นสิ่งสำคัญด้วย รวมกับบทบาทที่สำคัญของสถาบันต่างๆ ซึ่งรวมกันเรียกว่า “ประชาสังคม”  

จากรายงานเรื่อง “บทบาทในอนาคตของภาคประชาสังคม” โดย World Economic Forum ซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นปี 2013 ได้แสดงเปรียบเทียบถึงกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตถึงปัจจุบัน ผมได้สรุปไว้ในภาพข้างล่างครับ
 

 
ในอดีต ภาครัฐบาล (ซึ่งแสวงหาอำนาจ) ภาคธุรกิจ (ซึ่งแสวงหากำไร) และภาคประชาสังคม (ซึ่งไม่แสวงหาอำนาจไม่แสวงหากำไร และไม่ใช่เรื่องของครอบครัว) มักจะทำงานใน “โลกของตนเอง”  โดยในภาคประชาสังคมมักจะมีเอ็นจีโอแสดงบทบาทเด่น กระบวนทัศน์ดังกล่าวได้ล้าสมัยไปแล้ว (ซ้ายมือของภาพ) ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็น “กระบวนทัศน์ใหม่” องค์กรภาคประชาสังคมมีความหลากหลายมากขึ้นทั้งในทีมงานและเครือข่าย บทบาทเดิมๆ ที่แยกกันชัดเจนได้เจือจางลง (ขวามือของภาพ) 

ผมได้ยกตัวอย่างภาคประชาสังคมที่น่าสนใจในประเทศไทย เช่น “Krabi Goes Green” เพราะมีความหลากหลาย ทั้งนักธุรกิจโรงแรม มีภาครัฐระดับจังหวัด นักวิชาการ ชาวประมงพื้นบ้าน และชาวบ้านได้รวมตัวกันอย่างมีเป้าหมายและมีผลงานปรากฏต่อสาธารณะมาก่อนที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของภาครัฐจะเริ่มขึ้น

ในแง่จำนวนของประชากรที่เคลื่อนไหวในนามของ “ภาคประชาสังคมทั่วโลก” มีผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า หากเรียกประชากรกลุ่มนี้เป็น “ประเทศประชาสังคม” ก็จะมีประชากรรวมกันถึง 350 ล้านคน หรือมากเป็นอันดับสามของโลกรองจากประเทศจีน และอินเดีย (https://www.weforum.org/agenda/2017/12/5-challenges-facing-civil-society-in-the-fourth-industrial-revolution) มากกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเสียอีก

ตามจินตนาการและประสบการณ์ของผมเอง ผมเชื่อว่า “ประเทศประชาสังคม” จะเป็นประเทศที่น่าอยู่มาก และพลเมืองมีคุณภาพสูง เพราะคนในประเทศนี้คิดและทำเพื่อสาธารณะ ไม่หวังกำไร ไม่หวังอำนาจ มีกระบวนการทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วม และไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าหลักการสำคัญของกระบวนการสีเขียว

ความคาดหวังและความท้าทายของภาคประชาสังคม

 
ดังที่ได้กล่าวตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า ภาคประชาสังคมได้ถูกคาดหวังจากองค์การสหประชาชาติต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งมี 17 เป้าหมาย

นักวิเคราะห์บางคนวิจารณ์ว่า “เป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้ว แต่ก้าวสั้นไปหน่อย”เพราะก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นพิธีสารเกียวโต (1977) และเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs 2000-2015) ต่างก็ประสบกับความล้มเหลวเพราะไปมุ่งที่บทบาทของภาครัฐและไม่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม “พลังงานสะอาด” แทนพลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน (หมายเหตุ ที่ถูกต้องควรใช้คำว่า “พลังงานหมุนเวียน” ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า)
 

 
สำหรับความคาดหวังต่อภาคประชาสังคมไทย ผมมีเวลาพูดได้ไม่มากนัก แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ปัญหาการรุกของกลุ่มทุนต่างชาติที่ทาง คสช.ได้เปิดประตูต้อนรับอย่างขาดการควบคุม เช่น การยกเลิกผังเมืองในบางพื้นที่ ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ลดต่ำลง ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ กำลังถูกคาดหวังให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากขึ้น

ในเรื่องความท้าทายเนื่องจากโลกเราเปลี่ยนเร็วมาก ดังนั้น ภาคประชาสังคมกำลังถูกท้าทายในเรื่องของการปรับปรุงตัวเอง ซึ่งจะต้องมีความกระฉับกระเฉงว่องไวให้ทันต่อสถานการณ์ (Be Agile) และต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างเครือข่ายที่หลากหลายด้วย

ผมได้นำเสนอภาพการ์ตูน New Me Upgrade (ยกระดับเป็นฉันคนใหม่) ซึ่งได้ประชดประชันต่อคนที่ชอบอัปเกรดโปรแกรมต่างๆ ลงในคอมพิวเตอร์ของตนเองให้ทันสมัยอยู่เสมอ (รวมทั้งโทรศัพท์มือถือด้วย) แต่มักจะไม่คิดจะยอมปรับปรุงเพื่ออัปเกรดตนเองเลย ผมมีภาพมาให้ดูด้วยครับ
 

 
พลเมืองใน “ประเทศประชาสังคม” จะต้องมีคุณสมบัติ 6 ประการ คือ (1) สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ (2) เรียนรู้ตลอดชีวิต (3) แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ (4) มีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วม (5) คิดอย่างบูรณาการ และ (6) ให้ความสำคัญต่อการสร้างเครือข่าย

ผมได้ยกเรื่องการทำงานของปลาหมึกยักษ์ (octopus) ขึ้นมาเปรียบเทียบกับสังคมมนุษย์ ทำให้ได้แง่คิดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการจัดการตนเอง

ปลาหมึกยักษ์ถือกำเนิดขึ้นประมาณ 300 ล้านปีมาแล้ว (มนุษย์ประมาณ 2 แสนปี) ในขณะที่สัตว์อื่นๆ ได้สูญพันธุ์ไปหลายชนิด ปลาหมึกยักษ์มีสมองส่วนกลางเพียง 10% เท่านั้น ในขณะที่ 60% กระจายอยู่ตามแขนทั้ง 8 ซึ่งแต่ละแขนสามารถ “คิดเองได้” และลงมือปฏิบัติการได้เองโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง และสมองที่เหลืออีก 30% อยู่ที่บริเวณหัว มีตา 2 ดวงสามารถปรับเข้าออกเหมือนกับเลนส์ของกล้องถ่ายรูป ปลาหมึกยักษ์ตัวเมียสามารถเก็บเชื้ออสุจิของตัวผู้ไว้ในร่างกายได้นานเป็นสัปดาห์เพื่อรอให้ไข่สุกซึ่งมนุษย์ไม่สามารถทำได้

นอกจากนี้ ปลาหมึกยักษ์ยังมีระบบการปกป้องตนเองโดยการพ่นสารพิษเพื่อหลบหนี สารพิษบางชนิดอาจทำให้มนุษย์ถึงแก่ความตายได้ (ดูวิดีโอได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=VLkKiVIBxXU)

ปลาหมึกยักษ์ไม่มีหู แต่สามารถเรียนรู้จากดวงตาที่มหัศจรรย์และประสาทสัมผัสจากแขนทั้ง 8 ในแง่ของการกระจายอำนาจ ผมทราบว่าประเทศญี่ปุ่นมีการกระจายอำนาจดีมากทั้งจำนวนทรัพยากรและการตัดสินใจ ให้อำนาจแก่การปกครองท้องถิ่น คล้ายกับปลาหมึกยักษ์ ในขณะที่รัฐไทยเน้นที่การรวมศูนย์

สิ่งที่ผมเรียกร้องในห้องบรรยายก็คือ ภาคประชาสังคมต้องปรับปรุงตนเองดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ภาพสุดท้ายในวันนี้มาจากสไลด์ของ Gerd Leonhard (ผู้สนใจศึกษาและบรรยายเรื่องอนาคต) เขาได้ยกเอาคำพูดของ David Bowie มาสรุปว่า

“อนาคตจะเป็นของผู้ที่สามารถได้ยินว่าอนาคตกำลังมาแล้ว”
 

 
สุดท้าย ผมได้ยกเอาคำพูดของนักวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยาที่ยิ่งใหญ่ของโลก คือ Charles Darwin ที่ว่า“ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุดที่จะเป็นผู้อยู่รอด แต่คือผู้ที่สามารถจัดการกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดเท่านั้น”

นั่นคือเราต้องมีใบหูที่ใหญ่ดังในรูป (แหะๆ) และมีสองหูเพื่อเอาไว้รับฟังเยอะๆ ในขณะที่มีเพียงปากเดียวซึ่งน่าจะหมายถึงให้พูดน้อยกว่าการรับฟังความเห็นของผู้อื่นครับ

 
กำลังโหลดความคิดเห็น