xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายวิชาการวิจัยและข้อมูลสารเสพติดใต้ “หนุน” ปลดกัญชาและกระท่อมออกจากสารเสพติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายวิชาการวิจัยและข้อมูลสารเสพติดใต้ ร่วมสนับสนุนปลดล็อกกัญชา และกระท่อมออกจากสารเสพติด พร้อมเรียกร้องไม่อนุญาตให้ต่างชาติจดสิทธิบัตรกัญชา

วันนี้ (27 พ.ย.) ที่ห้องประชุมคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ร่วมประชุมเสวนาวิชาการ “พืชยา กัญชา กระท่อม : ปรับเปลี่ยนนโยบายและกฎหมายยาเสพติด เพื่อการเข้าถึงยาของประชาชน” มี ผศ.วิศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดี ม.อ.หาดใหญ่ ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อักษณางค์กรชัย ประธานเครือข่ายวิชาการวิจัยและข้อมูลด้านสารเสพติดในภาคใต้รายงาน มีนักวิชาการ และประชาชนเข้าร่วมประมาณ 100 คน

รศ.ดร.ภญ.จุไรทิพย์ หวังสินทวีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า พืชกระท่อมและกัญชามีสารสำคัญที่สามารถพัฒนาเป็นยาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ องค์ความรู้เกี่ยวกับพืชที่ใช้เป็นยาจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากพืชมีสารประกอบมาก ตัวสารสำคัญที่ออกฤทธิ์เป็นยา การเพาะปลูกและสายพันธุ์ของพืชจึงเป็นปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของสมุนไพร เป็นยาแผนปัจจุบัน จำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจทางการแพทย์และเภสัช
 

 
รศ.สมสมร ชิตตระการ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญพืชกระท่อม คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า พืชกระท่อมเป็นส่วนประกอบอยู่ในตำรายาแพทย์แผนโบราณ เป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของคนไทย ในการบำบัดโรคและดูแลรักษาคนเจ็บไข้ ด้วยภูมิปัญญาไทยและการแพทย์แผนไทย พืชกระท่อมเป็นพืชที่มีการศึกษาวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต่างประเทศมีการจดสิทธิบัตรที่จะพัฒนาพืชกระท่อมเป็นยารักษาโรค จากการศึกษาวิจัยพบว่า มิตราภัยนีนซึ่งเป็นสารสำคัญในใบกระท่อมมีฤทธิ์ระงับปวดดีกว่ามอร์ฟีน

รศ.ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.กล่าวว่า จากการทดลองด้านการบำบัดอาการถอนสุราในสัตว์ทดลอง พบว่า สารสกัดอัลคาลอยด์จากใบกระท่อม ช่วยลดอาการถอนยาจากการติดแอลกอฮอล์ได้เทียบเคียงได้กับการใช้ยามาตรฐาน ฟลูออกซีดิน
 

 
ส.ท.สงคราม บัวอง กำนัน ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวยืนยันว่า ชุมชนมีแนวทางในการควบคุมการใช้พืชกระท่อม หาก สนช.และรัฐบาลเปิดใจปลดล็อก ตนและชาวบ้านได้ขับเคลื่อนโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนารูปแบบการควบคุมพืชกระท่อม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในประเทศไทย โดยใช้พื้นที่ ต.น้ำพุ เป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี 2559 ผลการวิจัยก่อให้เกิดรูปธรรมการควบคุมพืชกระท่อม การมีส่วนร่วมของชุมชนทั้ง 6 หมู่บ้าน เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาปลดล็อกพืชกระท่อมให้แก่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.แก้ไขยาเสพติด

“นโยบายกัญชาทางการแพทย์ ประเทศพึ่งพาตนเองได้ และเอื้อให้ผู้ป่วยมะเร็ง และโรคต่างๆ สามารถพาสารสกัดกัญชาได้อย่างพอเพียง โดยประเทศไทยไม่ควรให้มีการนำเข้าสารสกัดกัญชา และผลผลิตภัณฑ์จากกัญชาจากต่างประเทศ และไม่อนุญาตให้ต่างประเทศจดสิทธิบัตรกัญชา เนื่องจากนโยบายกัญชาทางการแพทย์ถือเป็นนโยบายที่เป็นวาระแห่งชาติ รัฐควรมีการจัดตั้งองค์กรที่มีความสามารถในการรองรับที่จะเกิดขึ้นกับกัญชาในอนาคต”
 
กำลังโหลดความคิดเห็น