คอลัมน์ : ดูรูปสวยแถมด้วยเกร็ดความรู้ / โดย...สกนธ์ รัตนโกศล
“ดาหลา” หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า “Torch ginger”
ชื่อพื้นเมืองที่คนทั่วไป หรือชาวกรุงเทพฯ เรียกคือ “กาหลา” หรือ “ดาหลา” ชาวนครศรีธรรมราชเรียกว่า“กะลา”
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Etlingera elatior [Jack] R. M. Smith. เป็นพืชในวงศ์ ZINGIBERACEAE เช่นเดียวกับขิงและข่า มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนทั่วไป
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นไม้ล้มลุก (ExH) สูงประมาณ 5 เมตร มีลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าหัว ลำต้นเหนือพื้นดินเป็นกาบหุ้มรอบกันแน่น ทรงกระบอก แข็ง
“ใบ” เป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม ใบกว้าง 20 ซม. ยาวประมาณ 50 ซม. สีเขียวเข้มและมัน
“ดอก” มีหลากสี เช่น สีแดง สีชมพู สีขาว และสีชมพูอ่อน (โอโรส) ออกเป็นช่อเดี่ยวที่ปลายก้าน ซึ่งแทงขึ้นมาจากเหง้าใต้ดิน ก้านช่อดอกเป็นปล้องยาวประมาณ 1.5 เมตร กลีบดอกหนาเรียบเป็นมัน ซ้อนกันหลายชั้น กลีบนอกใหญ่ กลีบในเล็ก และลดขนาดลงเรื่อยๆ จนถึงวงชั้นใน ปลายกลีบแบะออกมีจะงอยแหลม
“ผล” รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 ซม. มีขนนุ่ม
สรรพคุณทางยา ประกอบด้วย “ดอกดาหลา” มีรสเผ็ดร้อน ช่วยในการขับลม และแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ อีกทั้งยังใช้แก้โรคลมพิษ และโรคผิวหนัง
จากการศึกษาทางด้านสารเคมีของดาหลาพบสารสำคัญในกลุ่ม phenolics และ flavonoids ทั้งในส่วนของใบ ดอก และเหง้า ซึ่งล้วนแต่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่โดดเด่น โดยพบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย (จากน้ำมันหอมระเหยและใบ) ฤทธิ์ต้านความเป็นพิษต่อตับ (จากช่อดอก) ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase (จากใบ) และฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง (จากเหง้า)
แต่ทั้งหมดก็ยังเป็นเพียงการศึกษาในระดับเซลล์ หลอดทดลอง และสัตว์ทดลองเท่านั้น อีกทั้งการรับประทานในรูปแบบของอาหารก็ยังมีความปลอดภัยสูง ก็เพราะการศึกษาความเป็นพิษนั้น ยังไม่มีการรายงานถึงความเป็นพิษของพืชชนิดนี้
ด้านประโยชน์ มีดังนี้ ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะดาหลา ออกดอกตลอดทั้งปี มีรูปทรงและสีสันที่สวยงาม บวกกับความทนทานดอกดาหลาจึงถูกนำมาเป็นไม้ตัดดอกสำหรับจำหน่าย
“ดอกดาหลา” สามารถนำมาทำเป็นอาหารได้หลากหลาย ใช้ผสมในข้าวยำที่เป็นอาหารเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นของชาวปักษ์ใต้ อีกทั้งต้มจิ้มน้ำพริก ทำแกงส้ม แกงเผ็ด แกงจืด แกงกะทิ ใส่ในไข่เจียวก็อร่อย
อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี ด้วยการนำดอกดาหลาไปแปรรูปเป็นน้ำสมุนไพร ไวน์สมุนไพร น้ำส้ม น้ำยาทำความสะอาด หรือแม้แต่นำไปทำเป็นน้ำหมักชีวภาพ
แต่ก็มี ข้อควรระวัง ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในการรับประทานดาหลา สำหรับผู้ที่มีประวัติการแพ้ขิง ข่า ไพล หรือพืชในวงศ์ ZINGIBERACEAE ควรเพิ่มความระมัดระวัง เนื่องจากเป็นพืชวงศ์เดียวกัน อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้นะขอรับ
บรรณานุกรม
- https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/.../ดาหลา-ความงามที่กินได้/
- https://prayod.com/ดาหลา/