xs
xsm
sm
md
lg

โลกในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นสวรรค์หรือนรก? / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 
คอลัมน์ : โลกที่วับซ้อน  /  โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
 
 
เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วผมได้รับเชิญจากสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม (ก่อตั้งเมื่อปี 2560) ให้บรรยายในหัวข้อ “ภาคประชาสังคมกับอนาคตประเทศไทย”ระหว่างการบรรยายที่ปรึกษาสถาบันฯ (คุณเดช พุ่มคชา นักพัฒนาอาวุโส) ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทำรายงานสรุปสาระที่ผมได้บรรยายเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อไป ผมจึงขอถือโอกาสนี้นำเรื่องดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้เสียเลย

ในฐานะที่เป็นอาจารย์มาทั้งชีวิต ผมจึงต้องเริ่มต้นด้วยโครงสร้างของเนื้อหารวม 8 หัวข้อ และด้วยเหตุที่ในการสื่อสารออนไลน์จะไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหากต้องลงรูปจำนวนมาก ผมจึงถือโอกาสนี้ลงสไลด์ที่ผมใช้บรรยาย เผลอๆ อาจจะ “น่าดู” กว่า “น่าอ่าน” ลองดูนะครับ มี 8 หัวข้อ
 

 
ผมเริ่มต้นด้วยการนำความเห็นของนักอนาคตศึกษาคนหนึ่งคือ Gerd Leonhard ชาวยุโรปซึ่งเขาสนใจเป็นพิเศษในเรื่องการถกเถียงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี มาให้ผู้ฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ด้วยข้อความเชิงคำถามที่ว่า “โลกในอีก 20 ข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงมากกว่าเมื่อ 300 ปีที่แล้ว เพราะอะไร และมันจะเปลี่ยนโลกเราไปสู่สวรรค์หรือนรกกันแน่”

ผู้ฟังมีความเห็นแตกต่างกัน แต่เนื่องจากผมมีเวลาจำกัดจึงนำเสนอด้วยภาพที่สองเลยครับ

 

 
ผมขยายความด้วยการยกตัวอย่างว่า ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีราคาลดลงอย่างรวดเร็วมาก ได้ทำให้เกิดธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ร้านค้าซึ่ง (ต้องเสียค่าเช่าร้านในราคาแพง) ต้องซบเซาจนถึงขั้นเจ๊งกันไปเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันกิจการไปรษณีย์ที่เราเคยคาดกันว่าจะเจ๊งด้วย ก็กลับฟื้นฟูขึ้นมาอีกด้วยการบริการรับส่งสินค้าออนไลน์

ในแง่นี้ก็ถือว่าเทคโนโลยีช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สวรรค์ แต่อีกด้านหนึ่งก็ได้เกิดอภิมหาเศรษฐีใหม่ เช่น อะเมซอน เฟซบุ๊ก และอาลีบาบา เป็นต้น สร้างความเหลื่อมล้ำอีกด้านหนึ่ง หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่นรกในอีกมุมหนึ่ง

จากรายงานขององค์กร Oxfam ในปี 2017 มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกเพียง 8 คนมีทรัพย์สินรวมกันเท่ากับทรัพย์สินของคนจนจำนวนครึ่งโลกหรือ 3.6 พันล้านคนรวมกัน

ในฐานะที่เป็นอาจารย์คณิตศาสตร์ประยุกต์ทางด้านฟิสิกส์ ผมได้เรียนต่อผู้ฟังว่า พื้นฐานของเทคโนโลยีการสื่อสารและคอมพิวเตอร์ (รวมถึงปัญญาประดิษฐ์) กับเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ต่างก็ผลิตมาจากวัตถุชนิดเดียวกันคือสารกึ่งตัวนำที่มาจากวิชา Solid State Physics ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ยุคกลางศตวรรษที่ 20 ได้รับรางวัลโนเบลกันเป็นจำนวนมาก

ผมได้ยกคำพูดของ Steve Jobs (อัจฉริยะอีกคนหนึ่ง) ที่เขาใช้อธิบายให้กับคนที่ไม่คุ้นเคยเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนว่า “คอมพิวเตอร์ก็คือเครื่องยนต์ชนิดใหม่ที่ลูกสูบถูกแทนที่ด้วยอิเล็กตรอนนับพันล้านตัวเคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้แสง” ซึ่งมันเทียบไม่ได้กันเลยกับเครื่องยนต์ที่ทำงานด้วยการเผาไหม้ภายในที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน

ในเรื่องนี้เป็นการลดความเหลื่อมล้ำเพราะได้เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถผลิตไฟฟ้าบนหลังคาบ้านเพื่อใช้เองหรือเพื่อขายสร้างรายได้ด้วย นอกจากนี้ยังลดปัญหาการลดโลกร้อนตามข้อตกลงปารีสได้อย่างเบ็ดเสร็จ

นอกจากนี้เทคโนโลยีการสื่อสารจะเปิดโอกาสให้คนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ง่ายขึ้น ทำให้หลายมหาวิทยาลัยได้เปิดสอนหลักสูตรออนไลน์ (ที่มีคุณภาพ) มหาวิทยาลัยในอนาคตอาจจะต้องปิดตัวลง เพราะคนสามารถศึกษาได้ตนเองและตลอดชีวิต

ในแง่นี้ โลกในอนาคตจะเป็นสวรรค์อย่างแน่นอน และเป็นสวรรค์ของคนส่วนใหญ่ด้วย

ผมได้นำเสนอรูปสไลด์ของคุณ Gerd ที่ว่า ความก้าวหน้าของมนุษย์จะค่อยๆ พัฒนาไปอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป จาก 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7…หรือ “เชิงเส้น” ในขณะที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีหรือปัญญาประดิษฐ์จะเป็นแบบ 1, 2, 4, 8, 16, 32, 64…หรือ “เอกซ์โพเนนเชียล” โดยปัญญาประดิษฐ์จะมีความสามารถเหนือกว่ามนุษย์ในปี 2023 หรืออีก 4 ปีเท่านั้นเอง

 

 
ผมได้อ้างถึงกฎของมัวร์ (Moore’s Law) ที่ว่า “ประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุกๆ 2 ปี”ดังนั้น เมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่ผมใช้เมื่อปี 2513 (ซึ่งเป็นเครื่องแรกของประเทศไทย ราคาซื้อในปี 2506 เท่ากับ 2 ล้านบาทยี่ห้อ IBM 1620 โดยได้รับความอนุเคราะห์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ผมประเมินได้คร่าวๆ ว่า โทรศัพท์มือถือที่พวกเราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ราคาต้องไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์เมื่อ 55 ปีก่อน 

แต่ความก้าวหน้าในทางสังคมมนุษย์เราหาได้ก้าวกระโดดแบบเดียวกับเทคโนโลยีไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเมือง ด้านระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยเรา ยังคง “อืดเหมือนเรือเกลือ”

อย่างไรก็ตาม คุณ Gerd ได้แสดงความเห็นว่า คอมพิวเตอร์ยังไม่สามารถตั้งคำถามเองได้ มนุษย์เป็นผู้ตั้งคำถามขึ้นมาเพื่อให้คอมพิวเตอร์ค้นหาคำตอบซึ่งมันสามารถหาได้อย่างรวดเร็วและไม่ผิดพลาดด้วย เราอย่าสับสนระหว่างเครื่องมือกับวัตถุประสงค์ของการมีคอมพิวเตอร์

 

 

“ปัจจุบันนี้ สิ่งที่อันตรายที่สุดไม่ใช่เรื่องที่เครื่องจักรจะกำจัดเรา แต่มันคือการที่เราจะกลายเป็นเหมือนเครื่องจักรเสียเองมากเกินไป” (ดูภาพประกอบ)

 

 

สิ่งที่น่ากังวลที่สุดก็คือมนุษย์จะกลายไปเหมือนกับปัญญาประดิษฐ์ คือไม่มีจินตนาการ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีจิตสำนึก ไม่มีความเห็นอกเห็นใจและไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น
 

 
ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า นักอนาคตศึกษาที่ผมกล่าวถึงแล้ว (Gerd Leonhard) เชื่อว่า โลกในอนาคตอาจจะเป็นได้ทั้งสวรรค์และนรก พร้อมกับได้ยกคำพูดของนักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง (Alan Curtis Kay) ว่า “หนทางที่ดีที่สุดในการพยากรณ์อนาคตคือการร่วมกันสร้างมันขึ้นมา”

คำพูดหลังสุดนี้คือเป้าหมายของภาคประชาสังคม (Civil Society) ซึ่งผมจะกล่าวถึงในหัวข้อที่สอง สรุปว่าวันนี้ผมเพิ่งเขียนเล่าได้เพียงหัวข้อเดียวเท่านั้น แต่ก็เป็นบทที่มีความสำคัญที่สุด จากทั้งหมด 8 หัวข้อ โปรดติดตามและช่วยกันแสดงความคิดเห็นกันต่อไปครับ

 


กำลังโหลดความคิดเห็น