นราธิวาส - เครือข่ายผู้หญิง 3 จชต. จับมือภาครัฐ ผู้นำศาสนา จัดกิจกรรมสาธารณะ รณรงค์ “ผู้หญิงส่งเสียงให้ดัง ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้” เนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล
วันนี้ (21 พ.ย.) เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ และชมรมผู้นำมุสลิมะฮ์นราธิวาส จัดกิจกรรมเวทีสาธารณะ “ผู้หญิงส่งเสียงให้ดัง ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้ หน่วยงานภาครัฐ ศาสนา และประชาสังคม ต้องทำงานร่วมกัน” เนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล ประจำปี 2561 ที่โรงแรมอิมพีเรียลนราธิวาส โดยมีกลุ่มสตรี เยาวชน ผู้นำศาสนา หน่วยงานภาครัฐ จำนวน 350 คน จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีกิจกรรมการเดินรณรงค์ “เราไม่ทำร้ายผู้หญิง” ในตลาดเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส เพื่อชักชวนประชาชนเลิกยอมรับวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงในครอบครัว โดยมี นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (พม.) เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ และองค์การอ็อกแฟม เข้าร่วมเดินรณรงค์เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินรณรงค์ “เราไม่ทำร้ายผู้หญิง” ในครั้งนี้ ได้สวมเสื้อ และถือร่มสีส้มเพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านความรุนแรง สอดคล้องกับธีมงานวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากลของสหประชาชาติ ซึ่งใช้สีส้มเป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงความปรารถนาให้ผู้หญิงมีความสุขสดใสมากกว่าเดิม
นางรอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า เครือข่ายผู้หญิงฯ ร่วมกับชมรมผู้นำมุสลิมะฮ์ โดยการสนับสนุนจากคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาเสริมพลังผู้หญิงที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามนราธิวาส เพื่อให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่สตรีที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนตุลาคม 2561 พบว่ามีผู้หญิงที่ประสบปัญหาในครอบครัวเข้ามาฟ้องหย่า หรือขอความเป็นธรรมในเรื่องค่าเลี้ยงดูเป็นจำนวนมากถึง 250 ราย ในจำนวนนี้มีผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกาย จำนวน 72 ราย (29 เปอร์เซ็นต์) สามารถไกล่เกลี่ยยุติปัญหาได้เพียง 65 ราย และไม่สามารถยุติปัญหาได้ 187 ราย มีการส่งต่อเคสเพื่อเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองทางกฎหมายเพียง 6 ราย
นางรอซิดะห์ ปูซู กล่าวอีกว่า สำหรับรูปแบบความรุนแรง มีลักษณะการทอดทิ้ง ไม่ได้รับค่าเลี้ยงดู ถูกทำร้ายร่างกาย และสามีจำนวนมากมีการใช้สารเสพติด จำนวน 88 ราย นอกจากนี้ ในพื้นที่ยังมีเหตุกระทำความรุนแรงต่อเด็กหญิงเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศหลายเรื่อง เช่น การแต่งงานในเด็กที่ จ.นราธิวาส คดีพ่อข่มขืนลูกที่ จ ยะลา และการทำอนาจารต่อเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี ของเจ้าหน้าที่ทหารที่ จ.ปัตตานี ส่วนสาเหตุรากลึกของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว คือวัฒนธรรมความคิดความเชื่อว่า ความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัวของคนในครอบครัว ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องทั้งตามหลักศาสนา และหลักกฎหมาย
นอกจากนี้ ในงานยังมีการกล่าวปาฐกถา ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายซาฟีอีน เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงกับการทำงานเพื่อสังคม และนางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงทิศทางความร่วมมือกับภาคประชาสังคมเพื่อลดความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก การอภิปราย “ความรุนแรงในครอบครัวปัญหาใต้พรม : ชายหญิง ทุกฝ่ายต้องช่วยกันยุติ” ผู้แทนรัฐ นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (พม.) ผู้แทนสตรี นางรอซิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผู้แทนศาสนา นายอับดุลอาซิซ เจ๊ะมามะ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นักวิชาการ ผศ.ดร.กัลยา ดาราหะ อดีตหัวหน้าสาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ผู้แทนผู้ประสบปัญหาความรุนแรง น.ส.วรรณนูร์รัยนา สะมะแอ ดำเนินรายการโดย น.ส.สุนิตา มินซาร์ ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์ จ.นราธิวาส และได้มีการเชิญชวนบริจาค จัดตั้ง “กองทุนยุติความรุนแรงเพื่อเด็กและสตรี” เพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือเด็ก และสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว และการล่วงละเมิดทางเพศ
การจัดกิจกรรมนี้ เป็นความร่วมมือโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายผู้หญิง เพื่อสร้างความร่วมมือกับคณะกรรมการอิสลามจังหวัด และองค์กรภาครัฐ เพื่อลดความรุนแรงต่อสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือโครงการวาว (VAW) สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป องค์การอ็อกแฟม และสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย