xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านจิตอาสาใช้เวลาว่างหลังออกเรือ ช่วยอนุรักษ์ปลิงทะเลที่เกาะมุกด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ตรัง - ชาวบ้านเกาะมุกด์ อ.กันตัง จ.ตรัง ใช้เวลาว่างหลังออกเรือประมง เป็นจิตอาสาช่วยดูแลปลิงทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง และเป็นห่วงโซ่อาหารที่ยังคงสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (13 พ.ย.) ที่บริเวณท่าเทียบเรือบ้านเกาะมุกด์ หมู่ที่ 2 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง นายแก่น หญ้าปรั่ง อายุ 49 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ กำลังออกสำรวจปริมาณปลิงทะเลชนิดสีขาวภายในคอก จำนวน 2 คอก ซึ่งมีขนาดความกว้าง 5 เมตร ยาว 10 เมตร และสูง 2.50 เมตร ทำด้วยไม้ และมีอวนตาข่ายล้อมรอบ ทั้งนี้ เมื่อปี 2560 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดซื้ออุปกรณ์สำหรับการทำบ้านปลิงขาวมามอบให้ และหาชาวบ้านที่เป็นจิตอาสามาช่วยดูแล เพื่อเพิ่มปริมาณปลิงขาวในทะเลให้อุดมสมบูรณ์ และเป็นห่วงโซ่อาหารที่ยังคงสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่
 

 
สำหรับ นายแก่น หรือบังแก่น ได้รับหน้าที่ดังกล่าวมานานกว่า 1 ปีแล้ว โดยจะใช้เวลาว่างหลังออกเรือประมง และมีน้ำลงต่ำสุดมาดูแลปลิงขาวในคอก ซึ่งเริ่มแรกได้ออกจับปลิงขาวในทะเลหน้าเกาะมุกด์มาปล่อยไว้ในคอก เพื่อให้ผสมพันธุ์และออกไข่ เมื่อน้ำขึ้น ไข่และตัวอ่อนของปลิงทะเลก็จะหลุดลอดออกไปตามช่องต่างๆ เพื่อออกสู่ทะเลตามธรรมชาติ โดยการเลี้ยงไม่ต้องให้อาหาร หรือดูแลใดๆ เนื่องจากเวลาน้ำขึ้น จะมีแพลงก์ตอน และแหล่งอาหารตามธรรมชาติอยู่แล้ว ชาวบ้านสามารถเก็บไปกิน หรือนำไปตากแห้งขายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 5,000-6,000 บาท แต่ตัว นายแก่น หรือบังแก่น นั้น จะไม่กินและไม่ขาย เพื่อต้องการเป็นต้นแบบให้แก่เยาวชน และป้องกันการครหานินทาจากชาวบ้านด้วย

นอกจากนี้ นายแก่น หรือบังแก่น ยังได้ปลุกจิตสำนึกให้ชาวบ้านเกาะมุกด์ ไม่จับปลิงทะเลวัยอ่อนที่ยังไม่ได้ขนาดมากินหรือขาย หากพบผู้ใดฝ่าฝืนก็จะมีบทลงโทษตามกฎของหมู่บ้าน ทำให้ปริมาณปลิงทะเลเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนชาวบ้านจับไปกินเป็นอาหารในครัวเรือนได้ทุกวัน ทั้งผัด แกง ต้ม ยำ และดองเป็นสมุนไพรก็ได้ ซึ่งหากมีงบประมาณลงมาเพิ่ม ก็จะขยายคอกเลี้ยงอีก 1-2 คอก เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชาวประมงพื้นบ้านที่เดินทางมาศึกษาดูงานจากทั่วประเทศ จากที่เมื่อก่อนนี้ ปลิงขายสูญพันธุ์ไปจากชุมชน แต่ตอนนี้ชาวบ้านสามารถจับไปทำอาหารได้ทุกวัน และมีให้เห็นตลอดทั้งปีด้วย
 


กำลังโหลดความคิดเห็น