xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.ตั้งเป้าบำบัดผู้ติดยาเสพติด 5 พันรายใน 3 เดือน ตามนโยบายของ กอ.รมน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ปัตตานี - ศอ.บต.กำหนดเป้าหมายจะช่วยเหลือผู้เสพยาเสพติดทุกระดับด้วยการบำบัดรักษาตามระบบของรัฐบาล.และระบบอื่นๆ ภายใน 3 เดือนแรกให้ได้ 5 พันราย ตามนโยบายป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.

วันนี้ (6 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนโยบายป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะหน่วยงานบูรณาการร่วมเพื่อป้องกันปราบปรามไม่ให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้ใช้ยาเสพติดรายใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีการปฏิบัติร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในสถานศึกษา และหมู่บ้าน ตลอดจนชุมชน ร่วมกันปราบปรามและเน้นการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดจำนวนผู้ค้ารายย่อยในระดับหมู่บ้านเป็นสำคัญ

ด้วยการใช้กฎหมายพิเศษสนับสนุนการปฏิบัติ มีเป้าหมายขั้นต้นร่วมกัน 5,000 ราย และในด้านการบำบัดรักษา จะช่วยเหลือผู้เสพยาเสพติดทุกระดับ ทั้งระดับผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติด และเป็นโรคจิตเภท (ประสาทหลอน) ด้วยการบำบัดรักษาตามระบบของรัฐบาล และระบบอื่นๆ โดยเน้นให้เกิดระบบสมัครใจให้มากที่สุด มีเป้าหมายในระยะ 3 เดือนนี้ไม่น้อยกว่า 5,000 คน และจะดำเนินการให้ได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ในระยะต่อไป
 

 
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เปิดเผยอีกว่า ตามที่ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.ปส.จชต.) ได้มีนโยบายเร่งด่วน ในเรื่องของการดูแลความปลอดภัย ในชุมชนต่างๆ และอีกส่วนหนึ่งคือ การแก้ไขปัญหาเรื่องสังคม คือ “เรื่องยาเสพติด” โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ตั้งใจอยากให้ทุกภาคส่วนได้บูรณาการแก้ปัญหาไปพร้อมกัน

ในส่วน ศอ.บต. ได้สนับสนุนทุกภาคส่วนในเรื่องของปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีย้อนหลังตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันที่ผ่านมานั้น ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดในระดับหนึ่ง และในปีนี้จะมีการปรับแก้ไขโดยจะสนับสนุนแม่ทัพภาคที่ 4 ด้วยขีดความสามารถ โดยยังมีแนวทางใช้รูปแบบเดิม ซึ่งแต่ละปีหน้าที่ของ ศอ.บต. ได้ประสานส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำคนดีสู่สังคม แต่กระบวนการปราบปรามยาเสพติด อาจจะมีในช่วงต้นตามลำดับขั้นตอน แต่ในช่วงท้ายเมื่อผ่านการบำบัดฟื้นฟูเรียบร้อยแล้ว เราจะร่วมกันนำบุคคลเหล่านั้นสู่สังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีความสุข
 

 
โดยในส่วน ศอ.บต. จะทำการสนับสนุนในส่วนของการฝึกอบรมอาชีพ โดยมีเป้าหมายปีละ 1,000 คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อฝึกอาชีพขั้นต้นใช้ระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในปี 2562 นี้ เราได้ประชุมหารือกับทุกภาคส่วน เพื่อนำอาชีพที่ฝึกอบรม จะต้องเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงชีพได้จริงๆ ดังนั้น หลังจากนี้ไป จะเร่งหารือกับทุกภาคส่วนในแต่ละพื้นที่ถึงการรองรับบุคคลเหล่านั้น โดยเฉพาะเรื่องของอาชีพเกษตรกรรม ว่ามีอะไรบ้างที่นอกเหนือจากอาชีพที่เคยฝึกมาเมื่ออดีต หวังเสมอว่าทิศทางจากนี้ไป เราทุกคนจะนำผู้ที่ติดยาเสพติดกลับสู่สังคมได้อย่างภาคภูมิ

ทั้งนี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ ได้เริ่มปราบปรามยาเสพติดตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อ.) ทั้ง 37 อำเภอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการเป็นหลัก และมีเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะร่วมปราบปรามตลอด 24 ชั่วโมง
 
กำลังโหลดความคิดเห็น