xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปูม “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะหาดใหญ่” โครงการนำร่องมาตรฐาน EU ไฉนมาถึงไทย กลายเป็นต้นแบบความล้มเหลว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผู้ได้รับความเดือดร้อนเผยจนขณะนี้ยังไม่มีคำตอบว่าปัญหาสารก่อมะเร็งเกินค่ามาตรฐานถึง 50 เท่า จากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะต้นแบบ ที่เทศบาลนครหาดใหญ่กับบริษัทเครือ กฟผ.ดำเนินการนั้นได้รับการแก้ไขหรือยัง เผยร้องเรียนตั้งแต่ปี 59 รัฐยังไม่ส่งคนมาตรวจ อ้างไม่มีงบประมาณ โวเทคโนโลยีเผาไหม้ขั้นสูง มาตรฐานยุโรป เอาเข้าจริงกลับไม่สมราคาคุย เหตุเพราะออกแบบผิดพลาด

วันนี้ (6 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูฝนมีฝนตกต่อเนื่องเป็นประจำเกือบจะทุกวัน

ทำให้บริเวณโรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่ ริมถนนสายสนามบินฯ ม.3 ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เริ่มส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงอีกครั้ง หลังจากถูกร้องเรียนจากประชาชนมานับตั้งแต่เปิดดำเนินการ
 

 
โรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่ เป็นโครงการนำร่องที่ คสช.ใช้เป็นต้นแบบในการจัดการปัญหาขยะตกค้าง มีเป้าหมายจะสร้างโรงไฟฟ้าแบบนี้ไม่ต่ำกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ พร้อมศูนย์คัดแยกขยะเพื่อผลิตเป็นก้อนเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าขยะที่มีปริมาณขยะไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายที่ทำไว้กับ กฟภ.

โดยโรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่ พื้นที่ 135 ไร่ รองรับขยะทั้งจากเทศบาลนครหาดใหญ่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้เคียง 180-200 ตันต่อวัน มีขีดความสามารถรองรับขยะมูลฝอยชุมชนได้ไม่น้อยกว่า 250 ตันต่อวัน

เทศบาลนครหาดใหญ่ ได้ทำสัญญากับบริษัท จีเดค จำกัด เมื่อ 25 มิ.ย.53 ให้บริษัทเป็นผู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าและบริหารจัดการเป็นเวลา 25 ปี เมื่อครบกำหนดจะส่งมอบเตาเผาให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเทศบาลนครหาดใหญ่จัดหาเอกชนรายอื่นมาดำเนินการต่อไป
 

 
คล้อยหลังจากที่บริษัทจีเดคฯ เซ็นสัญญากับเทศบาลนครหาดใหญ่ ไปเพียง 6 เดือน 27 ธ.ค.53 บมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง (IEC) บริษัทในเครือ กฟผ.ได้เข้าซื้อหุ้นจากจีเดค 50 เปอร์เซ็นต์ มูลค่า 147 ล้านบาท ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่ ทำรายได้ในช่วงเริ่มต้น 25 ล้านบาทต่อเดือน

เช่นเดียวกับ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มาเป็นประธานเปิดโรงไฟฟ้าแห่งนี้เมื่อ 13 พ.ย.57 ก็มั่นใจว่าโรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่ จะเป็นต้นแบบการผลิตไฟฟ้าควบคู่ไปกับการจัดการปัญหาขยะได้อย่างลุล่วง เพราะการควบคุมดูแลทั้งหมดใช้มาตรฐานยุโรป

ทั้งนี้ เทคโนโลยีที่ใช้ในการเผาไหม้ใช้ระบบแก๊สซิฟิเคชัน (Gasification) ซึ่งทันสมัยที่สุด โดยการให้ความร้อนแก่วัตถุที่ติดไฟได้ภายใต้สภาวะควบคุมออกซิเจน ความชื้น ความดัน และอุณหภูมิ ทำให้วัตถุนั้นระเหิดเปลี่ยนจากของแข็งเป็นก๊าซเชื้อเพลิง มีคุณสมบัติเหมือนก๊าซธรรมชาติ การเผาไหม้ประสิทธิภาพสูงนี้จะไม่มีมลพิษต่อชุมชน
 

 
แต่หลังเปิดดำเนินการไปไม่นานในเดือน ก.พ.59 ก็มีการร้องเรียนจากประชาชนใกล้โรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่ เรื่องปัญหามลพิษ ทั้งฝุ่นควัน และกลิ่นเหม็น บริษัทรับว่าจะแก้ไขภายใน 3 เดือน

ต่อมา 27 เม.ย.2559 จ.สงขลา ได้นัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 2 ติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหา ซึ่งบริษัทจีเดค รับจะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน หรือภายใน 19 พ.ค.2559

21 พ.ค.59 กรมควบคุมมลพิษเข้าตรวจสอบเพื่อวัดค่ามลพิษต่างๆ จากนั้น 20 ต.ค.59 รายงานผลการวิเคราะห์ตัวอย่างอากาศที่ระบายจากปล่องเตาเผาขยะของโรงไฟฟ้า สรุปว่า มีปริมาณแคดเมียมสูงกว่าค่ามาตรฐานตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสารประกอบไดออกซิน (สารก่อมะเร็ง) มีค่ามากกว่าค่ามาตรฐานเช่นกัน
 

 
15 ธ.ค.59-15 ม.ค.60 บริษัทจีเดค ปิดปรับปรุงโรงงานตามคำสั่งของสำนักงานอุตสาหกรรม จ.สงขลา ต่อมา 15 ม.ค.60 ก็ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินใหม่ แต่ครั้งนี้กรมควบคุมมลพิษ ไม่ได้เข้าตรวจสอบวัดค่ามลพิษต่างๆ โดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณ

จากนั้น 19 เม.ย.และ 12 ก.ย.2560 รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะผู้ได้รับความเดือดร้อน ได้ขอความอนุเคราะห์ศูนย์ดำรงธรรม จ.สงขลา ประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจวัดค่าสารไดออกซินบริเวณปลายปล่องโรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อชุมชนในพื้นที่

7 ก.ค.60 หลังเที่ยงคืน เกิดอุบัติเหตุถุงกรองฝุ่นและมลพิษของโรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่รั่ว ทำให้ฝุ่นผสมน้ำมันจากปล่องโรงงานกระจายตกบริเวณหมู่บ้านอิงกมล และหมู่บ้านเออบานา ทำความเสียหายต่อตัวบ้าน รถยนต์ บุคคล และสัตว์เลี้ยง
 

 
ถัดมา 8 ก.ค.และ 15 ก.ค.60 ศูนย์ดำรงธรรม จ.สงขลา และเทศบาลเมืองควนลัง ได้จัดประชุมชี้แจงการแก้ไขปัญหาจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น

ปัญหาของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะนำร่องเทศบาลนครหาดใหญ่ นโยบายแห่งชาติของ คสช.พบว่า มาจากการออกแบบผิดพลาดของบริษัทที่ต้องเพิ่มเงินลงทุนอีกเกือบ 35 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงเครื่องจักร

แต่เสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่พบว่า นับแต่เริ่มเปิดดำเนินการมาโรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่ ยังคงสร้างผลกระทบต่างๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไขให้ลุล่วง
 

 
รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล อดีตกรรมการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า คสช.ควรใช้กรณีโรงไฟฟ้าขยะหาดใหญ่ นำร่องในการป้องกันแก้ไขผลกระทบที่อาจจะเกิดจากโครงการลักษณะนี้ ที่ คสช.กำลังเดินหน้าผลักดันอีกเกือบ 50 แห่งทั่วประเทศ หากยอมรับความผิดพลาดจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่าดึงดันเดินหน้าโครงการต่อไป

“คือปัญหาค่าไดอ็อกซิน หรือสารก่อมะเร็งที่เกินมาตรฐานไปถึง 50 เท่า ร้องเรียนไปเมื่อปี 59 จนถึงตอนนี้ผมถามไปหลายรอบแล้วแต่ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลว่าเหตุใดกรมควบคุมมลพิษถึงไม่ยอมลงมาตรวจสอบตัวนี้ สิ่งนี้นายกรัฐมนตรีควรรีบดำเนินการโดยด่วนที่สุด” รศ.ดร.เริงชัย กล่าว
 









กำลังโหลดความคิดเห็น