นครศรีธรรมราช - ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาช้างและคชลักษณะช้าง ยันช้างป่านครศรีฯ เข้าข่ายลักษณะช้างมงคล “ตระกูลวิษณุพงศ์” มีลักษณะเป็นช้างมงคลตามตำราโบราณ ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแลรักษา เชื่ออาจมีเชื้อสาย “คุณพระเศวต” ช้างเผือกประจำรัชกาลที่ ๙
จากกรณีที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกพรหมโลก อุทยานแห่งชาติเขาหลวง พยายามป้องกันแนวพื้นที่ระหว่างรอยต่อบริเวณหมู่ที่ 6 บ้านนาเหรง ต.นาเหรง อ.นบพิตำ และบ้านลำนาน หมู่ที่ 1 ต.ทอนหงส์ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช เพื่อป้องกันแนวพื้นที่ไม่ให้ช้างป่างางามตัวนี้เดินเข้าสู่พื้นที่หมู่บ้าน เนื่องจากเกรงว่าอาจจะเป็นอันตรายต่อชาวบ้าน และช้างได้
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ ล่าสุด นายสัตวแพทย์พรภิรมย์ ฟุ้งตระกูล สัตวแพทย์อาสามูลนิธิเพื่อนช้างภาคใต้ ซึ่งเป็นสัตวแพทย์ที่ออกดูแลสุขภาพช้างเลี้ยง และแก้ไขปัญหาช้างป่าใน จ.นครศรีธรรมราช มากว่า 20 ปี เปิดเผยภายหลังได้พิจารณาภาพถ่ายช้างป่าเพศผู้ตัวนี้อย่างละเอียด และแสดงความเห็นอย่างดีใจว่า ช้างตัวนี้มีลักษณะพิเศษ ถือว่ามีความแปลกมาก มีลักษณะเป็นช้างมงคล ตามตำราโบราณถูกแบ่งเป็น 4 ลักษณะสายตระกูล คือ ช้างตระกูลพรหมพงศ์ ตระกูลอิศวรพงศ์ ตระกูลวิษณุพงศ์ และตระกูลอัคนีพงศ์
“ช้างตัวที่พบนี้มีลักษณะสำคัญอยู่ในตระกูลวิษณุพงศ์ กล่าวคือ สีผิวมีสีดำเสมอกันทั้งตัว ไม่มีสีอื่นเจือปน งาขาวสีเช่นเดียวกับสังข์ รูปร่างสูงใหญ่สวยงามสมส่วน เดินสง่างาม สอดคล้องกับช้างป่าตัวที่พบนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่พบช้างมงคลเช่นนี้ ถือเป็นสมบัติของนครศรีธรรมราชโดยแท้ ในทางพันธุกรรมนั้นเรายังเชื่อว่า สายพันธุ์ช้างนครศรีธรรมราช มีความเชื่อมโยงผูกพันกับพระเศวต ช้างสำคัญประจำรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นช้างในถิ่นนครศรีธรรมราช รอยต่อกับ จ.กระบี่ ดังนั้น เชื่อว่า เชื้อสายลักษณะพันธุกรรม ความเป็นมงคลของช้างจะมีความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากพื้นที่ของป่าถิ่นอาศัยไม่ได้ห่างไกลกัน”
นายสัตวแพทย์พรภิรมย์ ฟุ้งตระกูล ยังกล่าวด้วยว่า สมัยโบราณช้างนครศรีธรรมราช ถูกคัดเลือกเป็นช้างศึกจำนวนมาก หลังจากเสร็จภารกิจเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จะปล่อยคืนป่า ลักษณะของช้างจึงมีการถ่ายทอดความเป็นมงคลของช้างที่ยังคงอยู่ถึงปัจจุบันด้วย หลังจากนี้ ต้องเป็นเรื่องที่ชาวนครศรีธรรมราช ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่หากินของช้างต้องช่วยกันดูแลรักษา ร่วมกับกรมอุทยาน ที่จะต้องสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ในนครศรีธรรมราชมีช้างป่าอยู่ราว 3-4 โขลง อาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.พรหมคีรี และ อ.นบพิตำ ต้องสร้างความเข้าใจกันระหว่างคนกับช้างเพื่อไม่ให้เกิดการปะทะกันขึ้น