คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู / โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ผมเคยได้รับหนังสือวิชาการผลงานวิจัยชื่อ “การเมืองภาคพลเมือง บทวิเคราะห์แนวคิดและปฏิบัติการท้าทายอำนาจการเมืองในระบบตัวแทน” จาก อ.ณรงค์ บุญสวยขวัญ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช จัดพิมพ์โดยสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี ๒๕๕๒ โดยมี อ.ณรงค์ เพชรประเสริฐ เป็นบรรณาธิการ ทั้งคนเขียนและบรรณาธิการชื่อเหมือนกันและเป็นคนล่มน้ำปากพนังด้วยกัน
เนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชนไทยในยุคปัจจุบัน ที่กำลังเคลื่อนเปลี่ยนจากการเมืองแบบตัวแทนหรือการเมืองของนักเลือกตั้ง ไปเป็นการเมืองแบบมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะที่สังคมเคลื่อนเปลี่ยนจากสังคมดั้งเดิมที่อาศัยวัฒนธรรมชุมชนในการขับเคลื่อนสังคม ไปสู่สังคมแบบปัจเจกบุคคลตามลัทธิบริโภคนิยมทุนนิยม ที่สร้างวัฒนธรรมแบบอุตสาหกรรมและพึ่งพาเทคโนโลยี มากกว่าวัฒนธรรมชุมชนแบบที่ผ่านมา
งานชิ้นนี้มีประเด็นหลักอยู่ที่ ผู้ศึกษาหรือผู้เขียนต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า การเมืองภาคพลเมือง สามารถเกิดขึ้นได้โดยพลเมืองธรรมดา อ.ณรงค์พยายามนำเอาแนวคิดของบุคคลต่างๆ มาชี้ให้เห็นว่า การเมืองภาคพลเมือง หรือการเมืองภาคประชาชน มีความแตกต่างจากการเมืองเดิมอย่างไร โดยสรุปว่าการเมืองเดิมเป็นการเมืองของการใช้อำนาจของกลุ่มคนที่มีอำนาจ ขณะที่การเมืองภาคพลเมืองเป็นการเมืองที่ภาคประชาชนมีมีบทบาทกระทำการทางการเมืองคือ กระทำการแสดงพลังหรืออำนาจจากประชาชนนั่นเอง
การเมืองภาคประชาชนจึงก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ หรือพลังจากภาคประชาชน กับพลังอำนาจจากกลุ่มพลังอำนาจอื่นๆ ไม่ว่าอำนาจรัฐ อำนาจทุน หรืออำนาจอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน(ณรงค์ เพชรประเสริฐ. ๒๕๕๒ : (๑)-(๒))
ปรากฏการณ์เชิงอำนาจที่ อ.ณรงค์ได้หยิบยกมาอธิบาย เป็นความจริงจากพื้นที่นครศรีธรรมราชบ้านเกิด โดยสรุปว่า “เป็นพลังทางการเมืองของภาคพลเมือง ที่เกิดจากปฏิบัติการทางวัฒนธรรมชุมชน เกิดจากจิตสำนึกชุมชนเพื่อพลิกฟื้นสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ชุมชนต่างๆ มีลักษณะพึ่งตนเอง มีความเป็นปึกแผ่น เป็นสังคมที่มีน้ำใจ มีมิตรไมตรี มีความเป็นเอกลักษณ์ มีจิตวิญญาณของชุมชน เป็นพลังขับเคลื่อน (ณรงค์ เพชรประเสริฐ. ๒๕๕๒ : (๒))
ถ้ามองผ่านประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ เราจะพบความจริงว่า ก่อนยุคทุนนิยมครอบงำ สังคมมนุษย์แทบทุกเผ่าพันธุ์จะมีลักษณะของวัฒนธรรมชุมชนแบบดังกล่าวข้างต้น เหตุผลเพราะสังคมก่อนยุคทุนนิยมเป็นสังคมเทคโนโลยีต่ำ การแก้ปัญหาต่างๆ ล้วนแต่ต้องอาศัยกำลังคนเป็นด้านหลัก การรวมกลุ่ม การช่วยเหลือเกื้อกูลกันคือวิธีการเอาตัวรอดร่วมกันที่ดีที่สุด
แต่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติทุกเผ่าพันธุ์ก็ได้แสดงให้เห็นว่า หลังยุคทุนนิยมเกิดขึ้น เทคโนโลยีต่างๆพัฒนาก้าวหน้าไปมาก มนุษย์แต่ละคนสามารถบรรลุเป้าหมายของตนเองได้โดยลำพังหรือโดยกลุ่มเล็กๆ ของตน วัฒนธรรมชุมชนในลักษณะร่วมกลุ่มช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็ค่อยๆ ถดถอยลงไปตามลำดับ สังคมทุนนิยมและความทันสมัยได้ก่อให้เกิดลัทธิปัจเจกชนที่เข้มข้นขึ้นตามลำดับ
ยุคก่อนทุนนิยม ครอบครัวเกษตรกรต้องการกำลังเพื่อการผลิตในไร่นา จึงเกิดครอบครัวขยายคนหลายรุ่นอยู่ในครอบครัวเดียวกัน แต่ในสังคมทุนนิยมชีวิตการงานของผู้คนติดอยู่กับสถานประกอบการ โรงงาน ชุมชนและตลาด สมาชิกครอบครัวแยกย้ายไปตามแหล่งอาชีพของตน ความสัมพันธ์เชิงครอบครัว ชุมชนจะถดถอยลง เงื่อนไขของการเกาะเกี่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชนจะขาดหายไป
ความเป็นจริงในสังคมไทยในปัจจุบัน แม้ว่าจะยังมองเห็นวัฒนธรรมชุมชนที่ยังดำรอยู่ และพยายามฟื้นฟูให้กลับมา แต่อีกด้านหนึ่งเราก็เร่งพัฒนาอุตสาหกรรม เทคโนโลยี ศักยภาพของปัจเจกบุคคล คนร่นใหม่ไม่ได้อยู่ในไร่นา วิถีชีวิตส่วนใหญ่ห่างเหินจากวัฒนธรรมชุมชน ส่วนใหญ่ไม่เคยผ่านวิถีชีวิตเกษตรกร ชีวิตในวัยศึกษาก็ห่างไร่นา วัยทำงานก็เช่นกัน ส่วนใหญ่ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมทุนนิยม
คำถามสำคัญก็คือว่า “จะต้องข้ามพ้นความเป็นชุมชนชนบท วัฒนธรรมชุมชนจะต้องข้ามพ้นประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม แต่ต้องมองให้เห็นการเกิดชุมชนใหม่ และวัฒนธรรมใหม่ยุคทุนนิยมเคียงคู่กันไปกับวัฒนธรรมดีงามแบบดั้งเดิม”
อ.ณรงค์มีข้อสรุปว่า “การเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้นเองได้โดยพลเมืองธรรมดาในชนบท ไม่ใช่โดยผู้มีอำนาจ โดยนักการเมือง พร้อมยกตัวอย่างรูปธรรมของการเมืองภาคพลเมืองในลุ่มน้ำปากพนังมาแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัด
คำถามสำคัญคือ “อำนาจพลเมือง” จะถูกสร้างสมมาด้วยวิธีใดบ้าง วัฒนธรรมชุมชนชนบทจะคงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ ด้วยเงื่อนไขอะไร วัฒนธรรมชุมชนอุตสาหกรรมจะสร้างพลังให้แก่การเมืองภาคพลเมืองได้หรือไม่ อย่างไร (ณรงค์ เพชรประเสริฐ. ๒๕๕๒ : (๒)-(๖))
(อ่านต่อตอนหน้า)