xs
xsm
sm
md
lg

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ จ.สงขลา ขับเคลื่อนนโยบายมาตรการเฝ้าระวังการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่ จ.สงขลา ขับเคลื่อนนโยบายมาตรการเฝ้าระวังการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และการเฝ้าระวังการใช้สารเร่งเนื้อแดงในฟาร์มสุกร เดินหน้าสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

วันนี้ (26 ต.ค.) ที่โรงแรมบุรีศรีภูฯ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงนโยบายมาตรการเฝ้าระวังการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และการเฝ้าระวังการใช้สารเร่งเนื้อแดงในฟาร์มสุกร โดยมี นายสัตวแพทย์กิติกรณ์ เจนไพบูลย์ ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ ร่วมให้การต้อนรับ และมีนายสัตวแพทย์สุขุม สนธิพันธ์ จากสำนักควบคุมและบำบัดโรคสัตว์ ร่วมให้ข้อมูลในมาตรการเฝ้าระวัง และแนวทางการป้องกันโรคอหิวาต์สุกรแอฟริกา และมีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน
 

 
นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ขณะนี้พบการระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศจีนตอนใต้ คือ มณฑลยูนนาน หากมีการระบาดจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร กรมปศุสัตว์ จึงได้เตรียมแผนเผชิญเหตุ โดยมีอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธาน ในการเร่งกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเข้ามาในไทย เนื่องจากโรคนี้สามารถปนเปื้อนมากับนักท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์สุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ที่สำคัญโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ต่างจากเชื้ออหิวาต์ทั่วไปใน 4 เรื่อง คือ ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษา ตัวเชื้อเป็น DNA ไวรัส มีความทนต่อทุกสภาวะเป็นอย่างมาก และสุกรที่ติดเชื้อดังกล่าวแล้วจะเป็นตัวแพร่ตลอดชีวิต

ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้ด่านกักกันสัตว์ ทั้งที่ท่าอากาศยานนานาชาติ และชายแดนทั่วประเทศเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าซากสุกรเข้ามาในประเทศอย่างเข้มงวด และอีกเรื่องที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัยของสินค้าเกษตร ตลอดจนกระบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อผู้บริโภค คือ การใช้สารเร่งเนื้อแดงผสมในอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการตรวจสุ่มตรวจฟาร์มเลี้ยงสุกร เพื่อหาสารเร่งเนื้อแดงในกระบวนการเลี้ยง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค โดยได้ดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ ทำให้ปัจจุบันการใช้สารเร่งเนื้อแดงลดลงอย่างมาก
 

 
ด้าน นายสัตวแพทย์กิติกรณ์ เจนไพบูลย์ ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตสุกรในภาคใต้ แต่ละปีมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก มีการเลี้ยงในภาคเอกชน และเกษตรกรรายย่อย จำนวนกว่า 22,000 ราย อีกทั้งมีการผลิตสุกรในระบบกว่า 1 ล้านตัว โดยแบ่งออกเป็นการผลิตสุกรพื้นเมือง สุกรพ่อพันธุ์ สุกรแม่พันธุ์ และสุกรขุน ในจำนวนนี้ จ.สงขลา มีการผลิตสุกรในระบบทั้งสิ้น 111,774 ตัว และมีผู้เลี้ยงสุกร จำนวน 2,082 ราย การผลิตสุกรในระบบอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ ปลอดภัยได้มาตรฐาน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์จากสุกรที่มีคุณภาพ

ทั้งนี้ กระบวนการทุกขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิตจำเป็นต้องได้มาตรฐาน ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในการบริโภคเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย
 




กำลังโหลดความคิดเห็น