xs
xsm
sm
md
lg

หาชมยาก! ชวนร่วมสัมผัสความงามของ “เรือพระ” ในงานประเพณีลากพระเมืองตรัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 
โดย.. เมธี เมืองแก้ว

งานประเพณีลากพระ งานชักพระ หรืองานแห่พระ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นภาคใต้ ที่พุทธศาสนิกชนอนุรักษ์ และสืบทอดมายาวนานแล้ว โดยเฉพาะใน จ.ตรังนั้น ในปีหนึ่งๆ จะจัดขึ้นถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกจะจัดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งจะเป็นการ “ลากพระบก” นิยมจัดกันตามชุมชนตรังนา หรือบริเวณท้องทุ่งกว้างๆ ใกล้วัด เช่น วัดพระงาม วัดควนขัน และวัดทุ่งหินผุด ในเขต อ.เมืองตรัง

ทั้งนี้ จะมีการตกแต่งเรือพระให้สวยงามเพื่อประกวดกัน แล้วชักลากจากหมู่บ้านหรือวัด ที่เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน แล้วมาชุมนุมกันในท้องทุ่งในช่วงสาย หลังจากนั้นก็จะเข้าไปในวัดทำบุญกัน ส่วนช่วงบ่ายชาวบ้านจะเล่นจับคู่วัดเพื่อแย่งพระกัน โดยวัดที่ชนะก็จะได้พระไป เมื่อถึงปีถัดไปก็จะจัดเรือพระนำมามาชุมนุม และแย่งพระกันใหม่
 

 
การชักพระเดือน 5 หรือลากพระบกในปัจจุบัน ที่ยังคงมีปฏิบัติสืบทอดกันอยู่ในทุกๆ ปี คือชุมชนวัดควนขัน แต่ไม่มีวัดอื่นๆ มาเข้าร่วมแย่งพระกันเหมือนสมัยก่อน มีเพียงการตกแต่งเรือพระให้สวยงาม แล้วชาวบ้านพร้อมใจกันชักลากเรือพระเข้าวัดอย่างสนุกสนานเท่านั้น

สำหรับประเพณีลากพระครั้งที่ 2 ของ จ.ตรัง จะจัดขึ้นหลังวันออกพรรษา 1 วัน หรือหลังวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งมีการเล่ากันเป็นเชิงพุทธตำนานว่า เนื่องจากวันนี้จะเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงเสด็จกลับสู่มนุษย์โลกทางบันไดทิพย์ ดังนั้น พุทธศาสนิกชนจึงนำเอาพระพุทธรูปมาแห่แหนสมมติแทนพระพุทธองค์ จนสืบทอดมาเป็นประเพณีลากพระในท้องถิ่นทางภาคใต้
 

 
สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับการลากพระ และเสียไปไม่ได้ก็คือการทำต้ม หรือการนำข้าวเหนียวที่ผัดด้วยกะทิ มาห่อด้วยใบพ้อ ซึ่งเป็นใบไม้ที่มีเฉพาะทางภาคใต้ จากนั้นจะทำเป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วนึ่งให้สุก ก่อนนำมาผูกรวมเป็นพวงๆ ละ 3-5 ลูก เพื่อเอามาไว้ใส่บาตร ใช้ประดับเรือพระ หรือเป็นอาหารระหว่างการละเล่นในประเพณีลากพระ จนเป็นที่มาของคำโบราณที่พูดติดปากว่า “เข้าหน้าตอก ออกหน้าต้ม” ซึ่งมีความหมายคือ ในเวลาเข้าพรรษา ชาวพุทธจะถวายตอก ส่วนในเวลาออกพรรษา ชาวพุทธจะถวายต้ม

ทั้งนี้ จะมีการอาราธณาพระพุทธรูป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ หรือปางอุ้มบาตร ขึ้นมาประดิษฐานบนบุษบกหรือเรือพระ ที่แต่ละวัดก็จะหาช่างฝีมือที่มีความชำนาญ ช่วยกันตกแต่งให้สวยงามเพื่อนำเข้าร่วมประกวดแข่งขัน นอกจากนั้น ยังมีพุทธบริษัทในละแวกวัดที่จะช่วยกัน ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ โดยบางวัดอาจใช้เวลาตกแต่งนานเป็นแรมเดือน และใช้งบประมาณนับหมื่นนับแสนบาทเลยทีเดียว
 

 
ปัจจุบันได้มีการดัดแปลงจากเรือมาเป็นรถหรือล้อเลื่อน เพื่อความสะดวกในการชักลากมาตามถนนหนทาง แล้วนิมนต์พระภิกษุในวัดนั้นๆ ขึ้นนั่งประจำเรือพระ จากนั้นก็จะมีการลากพระเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ชาวพุทธได้ออกมาร่วมกันทำบุญ และถวายต้ม โดยจะมีพุทธศาสนิกชน และศิษย์วัดเดินตามมาด้วย พร้อมกับบรรเลงเครื่องดนตรีประโคมไปตลอดทาง มีทั้งทับ โพน กลอง ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง และฉาบ

สำหรับการตีจะมีเอกลักษณ์แตกต่างไปจากการประโคมอย่างอื่น ซึ่งจะเริ่มด้วยการตีเป็นเสียงที่ว่า “ปะ-ติ-เท่ง-ตุม” 3 ครั้ง แล้วตามด้วย “เท่ง-ตุม, เท่ง-ตุม, เท่ง-เท่ง, ตุม-ตุม, เท่ง-ตุม, เท่ง-ตุม” ทั้งนี้ หากต้องการให้ลากเรือพระเร็วขึ้น ก็จะมีการตีกลองรัวและจังหวะเร็วขึ้น แต่การบรรเลงเครื่องประโคมในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะปรับเปลี่ยนมาเป็นกลองยาว เพราะมีจังหวะที่สนุกสนาน ควบคู่ไปกับการขับร้องบทเพลงที่ครึกครื้น ซึ่งถือว่าการกระทำเช่นนี้จะได้รับบุญมาก โดยชาวพุทธทุกคนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ ทั้งการแขวนต้มบูชาพระ หรือการช่วยกันลากพระ
 

 
ประเพณีลากพระของเมืองตรัง ในสมัยก่อนยังมีบางชุมชนที่จัดลากพระทางน้ำ ตามสายแม่น้ำตรังด้วย ซึ่งเรือพระทางด้านเหนือ จะมีต้นขบวนมาจากวัดประสิทธิชัย (ท่าจีน) และทางด้านใต้ก็จะมีต้นขบวนมาจากวัดโคกยาง วัดคลองลุ และวัดย่านซื่อ อ.กันตัง แล้วลากทวนน้ำขึ้นมารวมกันที่ท่าน้ำวัดหัวไทร ต.ควนธานี ส่วนสายแม่น้ำปะเหลียน ก็จะมีการชุมนุมเรือพระกันที่บ้านปากปรน กิ่งอำเภอหาดสำราญ

นอกจากนั้น ในบางปีก็ยังจัดขึ้นที่บ้านหินคอกควาย ต.บ้านนา และ ต.ท่าพญา อ.ปะเหลียนด้วย แต่ปัจจุบันประเพณีลากพระทางน้ำได้หดหายไปจนเกือบหมดแล้ว ยังคงเหลือเฉพาะลากพระบกในบางพื้นที่ โดยเฉพาะ อ.กันตัง ปะเหลียน ย่านตาขาว ห้วยยอด และ อ.เมืองตรัง
 

 
สำหรับปีนี้จะมีการจัดงานประเพณีลากพระจังหวัดตรัง ครั้งที่ 16 ขึ้น ในช่วงระหว่างวันที่ 25-31 ตุลาคม 2561 ณ สนามกีฬาทุ่งแจ้ง ซึ่งนอกจากจะมีการประกวดเรือพระแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย รวมทั้งการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ตลอดจนการประกวดทางวัฒนธรรมพื้นบ้านของภาคใต้ เช่น การเล่านิทานพื้นบ้าน การแต่งโคลงกลอน การร้องเพลงกล่อมเด็ก การขับบทหนังตะลุง และการแสดงบนเวทีของนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ

นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชน ประชาชน และนักท่องเที่ยว ได้เดินทางมาเที่ยวชมเรือพระที่เข้าร่วมการประกวดถึงปีละ 80 ลำ ซึ่งจะนำมาจอดรวมกันที่บริเวณลานเรือพระ โดยมีการตกแต่งประดับประดาด้วยแสง สีอย่างสวยงามตระการตา โดยเฉพาะในยามค่ำคืน พร้อมกับการร่วมกันทำบุญตักบาตรหน้าเรือพระ ด้วยความอิ่มบุญอิ่มใจ และเพื่อความเป็นสิริมงคล
 






กำลังโหลดความคิดเห็น