xs
xsm
sm
md
lg

หาดประพาส จ.ระนอง พังยับ ผู้ว่าฯ-กรมทรัพย์ฯ เร่งหามาตรการป้องกันคลื่นซัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ระนอง - ชายหาดประพาส จ.ระนอง ถนนเสียหายหนักหลังถูกคลื่นกัดเซาะ ผวจ.ระนอง และเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งแก้ปัญหาปัญหาเฉพาะหน้า โดยจัดหางบประมาณมาซ่อมแซม

นายจตุพจน์ ปิยัมปุตระ ผวจ.ระนอง กล่าวว่า ขณะนี้หาดประพาสกำลังได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุคลื่นกัดเซาะบริเวณชายหาดในช่วงฤดูมรสุมที่ผ่านมา ตนจึงพร้อมด้วย นายสุรสิทธิ์ หงษ์ทวี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 นายสุกฤดิ กระต่ายจันทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแหลมสน และเจ้าหน้าที่ จึงได้มีการประชุมร่วมกันและลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพความเสียหายของชายหาดประพาส เพื่อหามาตรการในการแก้ไขปัญหา

จากการตรวจสอบพบว่า ชายหาดได้รับความเสียหายหนัก จากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาชายฝั่งอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน เป็นเหตุทำให้ต้นสนขนาดใหญ่โค่นล้มลงมากว่า 30 ต้น และถนนทางเข้าสถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน ถูกน้ำกัดเซาะพังเสียหายกว่า 15 เมตร เบื้องต้น ในระยะสั้นต้องแก้ไขปัญหาถนนที่ถูกกัดเซาะจนได้รับความเสียหาย ซึ่งทางจังหวัดจะเร่งพิจารณางบประมาณมาซ่อมแซม เนื่องจากขณะนี้หมดช่วงฤดูมรสุมแล้ว

ในส่วนระยะยาวจะให้ชายหาดฟื้นตัวทางธรรมชาติ โดยนำหลักวิชาการเข้าไปใช้ โดยใช้เสาไม้ปักลงบนหาดทรายเป็นแนวยาวเพื่อทำที่กักทราย ป้องกันไม่ให้ชายหาดถูกคลื่นกัดเซาะ โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 พร้อมกับเร่งฟื้นฟูธรรมชาติ

ผวจ.ระนอง กล่าวต่อว่า สำหรับต้นสนที่โค่นล้ม 30 กว่าต้น ไม่ใช่ต้นไม้พื้นถิ่นของชายหาด ดังนั้น จะทำการเคลื่อนย้ายออกไป และจะเอาต้นไม้ประจำถิ่นเป็นไม้ยืนต้น และผักบุ้งทะเลกลับเข้ามาฟื้นฟูให้คืนสู่ความเป็นธรรมชาติโดยเร็ว

ขณะที่ นายสุกฤดิ กระต่ายจันทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแหลมสน กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตลอดแนวของพื้นที่หาดประพาส โดยช่วงมรสุมปีนี้ได้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่งอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ทำให้ต้นสนอายุกว่า 100 ปี โค่นล้มเป็นแนวยาวลงมาทับถนน และพาดทับเสาไฟจำนวนมาก เป็นระยะทางยาวกว่า 2 กิโลเมตร

ส่วนถนนทางเข้าสถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน ก็ได้รับความเสียหายซึ่งจากการสำรวจพบว่า ฐานด้านล่างของถนนถูกน้ำกัดเซาะพื้นดินจนเป็นโพรงลึก เจ้าหน้าที่ต้องนำไม้ค้ำยันเอาไว้เพราะถ้าปล่อยไว้คลื่นจะซัดจนทำให้ถนนไม่สามารถสัญจรไปมาไม่ได้อย่างแน่นอน

ซึ่งขณะนั้นในช่วงมรสุม ทาง อบต.กำพวน ได้นำต้นสนที่ล้มมาปักเป็นแนวเพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะจนถึงแนวถนนเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ คลื่นได้กัดเซาะถนนทรุดเป็นระยะทางยาวกว่า 10 เมตร วันนี้จึงได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านการกัดเซาะของน้ำทะเล และผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เพื่อวางแผนสำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น