xs
xsm
sm
md
lg

สาธารณสุขปัตตานีเตือนประชาชนเฝ้าระวังโรคหัด แนะนำบุตรหลานรับวัคซีนตามเกณฑ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

แฟ้มภาพ
 
ปัตตานี - สาธารณสุขปัตตานี เตือนประชาชนเฝ้าระวังป้องกันโรคหัด หลังสถานการณ์โรคหัดระบาดอย่างต่อเนื่อง แนะผู้ปกครองต้องนำบุตรหลานรับวัคซีนตามเกณฑ์ เพื่อการป้องกันโรค

วันนี้ (10 ต.ค.) นพ.ชัยรัตน์ ลำโป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคหัดของประเทศไทย ว่า ในขณะนี้มีการเกิดโรคหัดอย่างต่อเนื่อง และมีการระบาดในพื้นที่ที่ความครอบคลุมของวัคซีนต่ำ พบสัดส่วนการเกิดโรคหัดระบาดสูงในกลุ่มเด็ก จากรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคหัดจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลในช่วงวันที่ 1-29 กันยายน 2561 ทั้งประเทศพบมีผู้ป่วย จำนวน 2,149 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ยะลา ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร เชียงใหม่ และอำนาจเจริญ ตามลำดับ

โดยสถานการณ์ของจังหวัดปัตตานี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคหัดจำนวนทั้งสิ้น 58 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี อำเภอที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุดคือ อำเภอทุ่งยางแดง รองลงมาคือ อำเภอแม่ลาน อำเภอหนองจิก อำเภอยะรัง อำเภอมายอ อำเภอกะพ้อ อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอเมืองปัตตานี อำเภอสายบุรี ตามลำดับ อำเภอที่ไม่มีรายงานพบผู้ป่วย คือ อำเภอไม้แก่น และอำเภอปะนาเระ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ได้ดำเนินการควบคุมป้องกันและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่งสถานการณ์ของจังหวัดปัตตานียังมีแนวโน้มการระบาดสูงขึ้น ประกอบกับพื้นที่รอยต่อของจังหวัดปัตตานีกับจังหวัดยะลามีการระบาดสูง จึงมีความจำเป็นที่พี่น้องประชาชนเฝ้าระวังป้องกันการระบาดของโรคหัด

โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่น พบได้ทุกวัย และพบได้บ่อยในเด็กเล็ก อายุ 1-6 ปี เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งพบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย ติดต่อกันได้ง่ายมากโดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศเมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไปก็ทำให้เป็นโรคได้ ถ้าไม่มีภูมิต้านทาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน นอกจากนี้ โรคหัดยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ส่วนอาการของโรคหัด เริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ และกลัวแสง อาการต่างๆ จะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้น และจะสูงขึ้นเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้นๆ โดยจะขึ้นที่หน้า บริเวณชิดขอบผม แผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายไปทั่วตัว ซึ่งกินเวลาประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง ผื่นระยะแรกมีสีแดงจะมีสีเข้มขึ้นเป็นสีแดงคล้ำหรือน้ำตาลแดง บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุย

การตรวจในระยะ 1-2 วัน ก่อนผื่นขึ้นจะพบจุดขาวๆ เล็กๆ มีขอบสีแดงๆ อยู่ในกระพุ้งแก้ม จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ก่อนที่จะมีผื่นขึ้น อาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยมากโดยเฉพาะในเด็กเล็ก คือ หูส่วนกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง สมองอักเสบ พบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 ราย ซึ่งจะทำให้มีความพิการเหลืออยู่ ถ้าไม่เสียชีวิต (อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา)

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานีเน้นย้ำว่า การป้องกันโรคหัดทำได้โดยการแยกผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคหัดจนถึง 4 วันหลังผื่นขึ้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย และฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขให้วัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2 ปีครึ่ง โดยให้ในรูปของวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) จึงขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครองนำบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์

“และช่วงนี้ขอให้มีการเฝ้าระวังป้องกันโรคหัดตามคำแนะนำเบื้องต้น เน้นย้ำให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานอายุ 0-5 ปี รับวัคซีนตามเกณฑ์ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัดสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี 0-7346-0234 ต่อ 1307 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” นพ.ชัยรัตน์ ลำโป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กล่าว 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น